อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสวนชุมชน ขนาดประมาณ 28 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณซอยจุฬาลงกรณ์ 5 ระหว่างซอยจุฬาลงกรณ์ 9 กับถนนบรรทัดทอง ในพื้นที่สวนหลวง-สามย่าน เชื่อมต่อกับแนวแกนกลางของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในสวนสาธารณะแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็น ลานกิจกรรมกลางแจ้ง ศูนย์การเรียนรู้ โดยอาคารต่าง ๆ จะปลูกต้นไม้เพื่อเป็นอาคารสีเขียว มีประโยชน์ในการชะลอน้ำ[1] ออกแบบตามแนวคิด "ป่าในเมือง" ออกแบบให้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำของเมือง โดยใช้หลักการสร้างบ่อเก็บน้ำ (retention pond) บ่อพักนํ้าชั่วคราว (detention pond) ขนาดใหญ่บริเวณทางเข้าแต่ละจุดของสวน ซึ่งออกแบบไว้ในรูปแบบบริเวณพื้นที่ต่ำของโครงการ นอกจากนี้มีแนวพื้นที่รับน้ำ (rain garden) และระบบระบายน้ำใต้ดิน มีพื้นที่อเนกประสงค์ และที่จอดรถ 200 คัน[2] มีหลังคาเขียวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย[3] อุทยานเปิดในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบ 100 ปีพอดี
อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | |
---|---|
ด้านหน้าของอุทยาน | |
ประเภท | สวนชุมชน |
ที่ตั้ง | ซอยจุฬาลงกรณ์ 5 ระหว่างซอยจุฬาลงกรณ์ 9 กับถนนบรรทัดทอง |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 13.739274,100.524914 |
พื้นที่ | 28 ไร่ |
เปิดตัว | 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 |
ผู้ออกแบบ | N7A Architects,LANDPROCESS |
ผู้ดำเนินการ | สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
สถานะ | แล้วเสร็จ |
ที่มาของโครงการมาจากดำริของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในผังแม่บทที่วางมานาน ซึ่งกำหนดให้แกนกลางของผังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เชื่อมต่อกับส่วนพาณิชย์เป็นพื้นที่สีเขียว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2555 สำนักงานจัดการทรัพย์สินได้จัดประกวดแบบอุทยานเพื่อเฉลิมฉลองมหาวิทยาลัยครบรอบ 100 ปี จนได้ผู้ชนะการประกวดแบบหลักด้านงานภูมิสถาปัตยกรรม คือ กชกร วรอาคม จากสำนักงานออกแบบบริษัทแลนด์โปรเสส[4] และผู้ออกแบบอาคารจากสำนักงานออกแบบ N7A[5] โดยพื้นที่ของอุทยานเดิมเป็นตึกแถวซึ่งหมดสัญญาเช่ากับทางมหาวิทยาลัย และทางมหาวิทยาลัยไม่ต่อสัญญา[6]
อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับคัดเลือกโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ให้เป็นผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่น (ASA AD Award) ในปี พ.ศ. 2561[7] ถือเป็นครั้งแรกที่รางวัลด้านสถาปัตยกรรมให้รางวัลกับสวนสาธารณะ[8]
พื้นที่ใช้สอย
แก้พื้นที่ของอุทยานประกอบด้วยแนวพื้นที่รับน้ำ พื้นที่ชุมน้ำประดิษฐ์ สวนซึมน้ำ บ่อหน่วงน้ำเพื่อชะลอน้ำฝนก่อนระบายออกสู่สาธารณะ พื้นที่ซึมน้ำแบบแก้มลิง และอาคารอเนกประสงค์ ภายในอุทยานมีถนน 100 ปี จุฬาฯ กว้าง 30 เมตร ยาว 1.35 กิโลเมตร ปลูกต้นไม้สองข้างทางเชื่อมต่อพื้นที่อุทยานจุฬาฯ 100 ปี กับถนนพระรามที่ 1 กับถนนพระรามที่ 4[9]
- พื้นที่กิจกรรมกลางแจ้ง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ พื้นที่ทำกิจกรรมขนาดเล็กไม่เกิน 50 คน มีอยู่ 8 จุดทั่วอุทยานบริเวณด้านหน้า มีลักษณะเป็นเหมือนห้องเรียนกลางแจ้ง มีที่นั่งที่ก่อขึ้นมารูปแบบครึ่งวงกลม เว้นพื้นที่ตรงกลางสำหรับเป็นที่บรรยายหรือทำกิจกรรมแบบกลุ่ม พื้นที่ทำกิจกรรมขนาดกลาง จุคนได้ราว 700–1400 คน ใช้พื้นที่บริเวณสนามหญ้าทั้งหมดสามารถแบ่งออกมาเป็นจุดได้ 4 จุดทั่วสวน และ พื้นที่ทำกิจกรรมขนาดใหญ่ สามารถรองรับคนได้เต็มพื้นที่ราว 9,780 คน และอีกฝากหนึ่งรองรับได้ 2,780 คน แบ่งเป็นสองจุดคือบริเวณสนามหญ้าทั้งหมดของอุทยานฯ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่กว้างสุด สามารถจุคนได้ราว 7,000 คน[10]
- พื้นที่ชุ่มน้ำประดิษฐ์ (constructed wetland) เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศและนันทนาการ เป็นระบบการหมุนเวียนน้ำในอุทยาน ใช้ระบบชีววิศวกรรมเพื่อการบำบัดน้ำ ออกแบบเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประดิษฐ์ให้กับส่วนต่าง ๆ ของอุทยาน และเป็นพื้นที่ซึมน้ำ-หน่วงน้ำของเมือง
- อาคารอเนกประสงค์ มีลักษณะอาคารที่สอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่ภูมิทัศน์ เป็นสถาปัตยกรรมที่เปรียบเสมือนซุ้มประตู (gateway) จากกระบวนทัศน์ทางธรรมชาติวิทยา เป็นที่หลักเขตให้กับอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ พาดยาวไปสองฝั่งถึงหลังคาเขียว
- สวนซึมน้ำ (porous park) ให้อุทยาน ออกแบบให้มีความลาดเอียง เพื่อเพิ่มความสามารถในการซึมน้ำดัก และกักเก็บน้ำฝนในช่วงหน้าฝน และนำน้ำกลับมาใช้ในช่วงหน้าแล้ง รวมถึงบ่อหน่วงน้ำ ทั้งแบบเปียก (retention pond) และแบบแห้ง (detention pond) เพื่อขังและชะลอน้ำฝน ก่อนระบายออกสู่สาธารณะโดยสามารถหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่ได้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง
รางวัล
แก้- รางวัล Special Recognition for Public Facility ในงาน 13th PropertyGuru Thailand Property Awards 2018[11]
- รางวัลชนะเลิศในสาขาโครงการสร้างเสร็จระดับใหญ่ จาก World Landscape Architecture Awards 2019 (WLA)[12]
- รางวัลการออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2561 โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์[3]
- รางวัลเชิดชูเกียรติ ประเภทการออกแบบทั่วไป จากสมาคมภูมิสถาปนิกอเมริกัน[13]
อ้างอิง
แก้- ↑ จุฬาฯ สร้าง 'อุทยาน 100 ปี' สวนสาธารณะ ปอดแห่งใหม่ของคนกรุงเทพ
- ↑ อุทยานจุฬาฯ 100 ปี
- ↑ 3.0 3.1 ประกาศผลการคัดเลือกผลงานรางวัลการออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2561
- ↑ "อุทยานจุฬาฯ: ของขวัญวันนี้เพื่อ 100 ปีข้างหน้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-19. สืบค้นเมื่อ 2017-08-24.
- ↑ "CHULALONGKORN UNIVERSITY MUSEUM & CENTRAL PARK". n7a.co.th. N7A Architect. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-06. สืบค้นเมื่อ 2021-11-06.
- ↑ ""จุฬาฯ" สร้างอุทยาน 100 ปี ปลูกพื้นที่สีเขียวให้สังคมไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-27.
- ↑ The Association of Siamese Architects. (2018). ASA ARCHITECTURAL DESIGN AWARDS 2018 | The Association of Siamese Architects. [online] Available at: http://asa.or.th/news/asa-architectural-design-awards-2018/ [Accessed 2 May 2018].
- ↑ "น่าฟัง! ดร.กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกหญิงกับการเปลี่ยนเมืองที่กำลังจมเป็นภูมิสถาปัตยกรรมที่พร้อมสู้น้ำท่วมได้". 3 มิถุนายน 2562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-06. สืบค้นเมื่อ 2019-08-06.
- ↑ บรรยากาศในอุทยานจุฬาฯ 100 ปี
- ↑ ""อุทยานจุฬาฯ 100 ปี" พื้นที่สีเขียวใหม่ ใจกลางเมือง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-30. สืบค้นเมื่อ 2017-08-24.
- ↑ “อุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้รับรางวัล PropertyGuru Thailand Property Award 2018 “Special Recognition for Public Facility”
- ↑ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ คว้ารางวัลโครงการสร้างเสร็จระดับใหญ่ในเวทีโลก WLA Awards 2019
- ↑ "Chulalongkorn University Centenary Park". สมาคมภูมิสถาปนิกอเมริกัน. สืบค้นเมื่อ 2019-10-18.