อาวุธเคมีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

สารเคมีพิษถูกใช้เป็นอาวุธมานานหลายพันปี แต่การใช้อาวุธเคมีในวงกว้างเกิดขึ้นครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[1][2] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายขวัญ สร้างความบาดเจ็บและคร่าชีวิตทหารในสนามเพลาะ อาวุธเหล่านี้มีตั้งแต่แก๊สน้ำตาที่ก่อความระคายเคืองไปจนถึงฟอสจีน คลอรีนและแก๊สมัสตาร์ดที่ทำให้เสียชีวิต การสงครามเคมีเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 90,000 รายจากผู้ประสบภัยแก๊สทั้งหมด 1.2 ล้านราย[3] แก๊สต่างจากอาวุธส่วนใหญ่ที่พัฒนาในช่วงนี้เนื่องจากมีการคิดค้นวิธีป้องกันอย่างหน้ากากกันแก๊สในภายหลัง อย่างไรก็ตามแก๊สถูกใช้เป็นอาวุธมากขึ้นในช่วงปลายสงครามแม้ประสิทธิผลโดยรวมจะลดลง บางครั้งการสงครามเคมีนี้แสดงภาพของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็น "สงครามของนักเคมี" และเป็นช่วงเวลาที่อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงเกิดขึ้น[4][5]

ฝรั่งเศสโจมตีสนามเพลาะเยอรมันในแฟลนเดอส์ ประเทศเบลเยียมด้วยแก๊สในปี ค.ศ. 1917

ฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่ใช้แก๊สน้ำตาในรูปแบบระเบิดมือในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914[6] การใช้แก๊สเป็นอาวุธในวงกว้างเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนมกราคม ค.ศ. 1915 เมื่อฝ่ายเยอรมันโจมตีฝ่ายรัสเซียในยุทธการที่โบลิมอฟด้วยกระสุนปืนใหญ่บรรจุไซลิลโบรไมด์ซึ่งเป็นสารก่อระคายเคืองแต่ล้มเหลว[7] คลอรีนเป็นแก๊สพิษร้ายแรงชนิดแรกที่ใช้ในสงคราม โดยในเดือนเมษายน ค.ศ. 1915 กองทัพเยอรมันปล่อยแก๊สคลอรีนถึง 168 ตันในยุทธการที่อีเปอร์ครั้งที่สอง[8] ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1915 ฝ่ายเยอรมันใช้แก๊สคลอรีนในการสู้รบกับทหารรัสเซียที่รักษาป้อมโอโซเวียซก่อนจะล่าถอยในเหตุการณ์การโจมตีของคนตาย[9]

แต่เนื่องจากคลอรีนเป็นแก๊สสีเขียวมีกลิ่นแรงจึงตรวจจับได้ง่าย ต่อมาฝรั่งเศสจึงพัฒนาฟอสจีนซึ่งเป็นแก๊สพิษร้ายแรงไม่มีสี กลิ่นคล้าย "หญ้าตัดใหม่" ขึ้นในปี ค.ศ. 1915[10] เดือนธันวาคม ค.ศ. 1915 กองทัพเยอรมันได้ใช้แก๊สผสมฟอสจีน-คลอรีนในการโจมตีกองทัพบริติชใกล้เมืองอีเปอร์[11] ขณะที่แก๊สมัสตาร์ดซึ่งเป็นสารพุพองถูกใช้เป็นอาวุธครั้งแรกโดยฝ่ายเยอรมันในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1917 หลายสัปดาห์ก่อนยุทธการที่พาสเชนเดล[7][12] หลังจากนั้นแก๊สกลายเป็นอาวุธมาตรฐานที่ใช้สนับสนุนการโจมตี แต่อำนาจทำลายล้างลดลงเนื่องจากมาตรการรับมือที่ดีขึ้น

การใช้แก๊สพิษโดยคู่สงครามหลักทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถือเป็นอาชญากรรมสงครามเนื่องจากละเมิดปฏิญญากรุงเฮกว่าด้วยแก๊สสำลัก ค.ศ. 1899 และอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการสงครามทางบก ค.ศ. 1907 ซึ่งห้ามการใช้ "สารพิษหรืออาวุธมีพิษ" ในสงคราม[13][14] ความน่ากลัวและความรู้สึกต่อต้านจากสาธารณะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการโจมตีด้วยแก๊สน้อยลงในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่กระนั้นแก๊สพิษมีบทบาทสำคัญในฮอโลคอสต์[15]

อ้างอิง แก้

  1. Adrienne Mayor (2003). Greek Fire, Poison Arrows and Scorpion Bombs: Biological and Chemical Warfare in the Ancient World. Overlook Books. ISBN 1-58567-348-X.
  2. Andre Richardt (2012). CBRN Protection: Managing the Threat of Chemical, Biological, Radioactive and Nuclear Weapons. Wiley-VCH. ISBN 978-3-527-32413-2.
  3. Duffy, Michael (22 August 2009). "Weapons of War – Poison Gas". firstworldwar.com. สืบค้นเมื่อ 25 October 2009.
  4. Reddy, Chris (2 April 2007). "The Growing Menace of Chemical War". Woods Hole Oceanographic Institution. สืบค้นเมื่อ 30 July 2007.
  5. Saffo, Paul (2000). "Paul Saffo presentation". Woods Hole Oceanographic Institution. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 September 2007. สืบค้นเมื่อ 30 July 2007.
  6. Feigenbaum, Anna (August 16, 2014). "100 Years of Tear Gas". The Atlantic. สืบค้นเมื่อ January 5, 2023.
  7. 7.0 7.1 Heller, Charles E (September 1984). "Chemical Warfare in World War I: The American Experience, 1917–1918". US Army Command and General Staff College. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  8. General R. Hure, L'Armee d'Afrique 1830–1962, Charles-Lavauzelle, 1972, p. 283.
  9. Allan, Laura. "'The Attack Of The Dead Men' Is One Of The Most Horrifying Battles You've Never Heard Of". Ranker.com.
  10. Nye, Mary Jo (1999). Before big science: the pursuit of modern chemistry and physics, 1800–1940. Harvard University Press. p. 193. ISBN 0-674-06382-1.
  11. Staff (2004). "Choking Agent: CG". CBWInfo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 August 2007. สืบค้นเมื่อ 30 July 2007.
  12. Fries, Amos A. (Amos Alfred); West, Clarence J. (Clarence Jay) (1921). Chemical Warfare. University of California Libraries. New York [etc.] McGraw-Hill Book Company, inc. p. 176.
  13. Telford Taylor (1993). The Anatomy of the Nuremberg Trials: A Personal Memoir. Little, Brown and Company. ISBN 0-316-83400-9.
  14. Thomas Graham; Damien J. Lavera (2003). Cornerstones of Security: Arms Control Treaties in the Nuclear Era. University of Washington Press. pp. 7–9. ISBN 0-295-98296-9.
  15. "Gassing Operations". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 December 2017. สืบค้นเมื่อ 30 November 2017.