อาการพูดน้อย

(เปลี่ยนทางจาก อาการไม่พูด)

ในสาขาจิตวิทยา อาการพูดน้อย (อังกฤษ: alogia จากคำกรีกว่า ἀ- แปลว่า ไร้ และ λόγος แปลว่า การพูด[1] หรือ poverty of speech[2]) เป็นการไม่พูดถึงสิ่งที่ไม่ได้ถามหรือไม่ได้เตือนให้พูด ซึ่งทั่วไปต่างกับการพูดปกติ เป็นอาการที่พบในคนไข้โรคจิตเภทและความผิดปกติทางบุคลิกภาพคือ schizotypal personality disorder อย่างสามัญ โดยจัดเป็นอาการเชิงลบ (negative symptom) ซึ่งอาจทำจิตบำบัดเพื่อรักษาโรคให้ยุ่งยากเพราะสนทนาด้วยลำบาก

การพูดน้อยบ่อยครั้งจัดว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของภาวะเสียการสื่อความ (aphasia) ซึ่งเป็นความพิการทั่วไปของสมรรถภาพทางภาษา ซึ่งมักเกิดกับความพิการทางเชาวน์ปัญญาและภาวะสมองเสื่อมโดยเป็นผลของความเสียหายต่อสมองซีกซ้าย

ลักษณะ แก้

ภาวะนี้มีลักษณะเป็นการพูดน้อย บ่อยครั้งเพราะกระบวนการทางความคิดถูกขัดขวาง ปกติแล้ว การบาดเจ็บที่สมองซีกซ้ายอาจเป็นเหตุให้อาการปรากฏในคนหนึ่ง ๆ เมื่อคุยกัน คนไข้อาการนี้จะตอบน้อยและคำตอบที่ให้จะไร้สิ่งที่พูดเอง และบางครั้ง อาจไม่ตอบคำถามเลย[3] คำตอบที่ให้จะสั้น ๆ โดยทั่วไปเป็นการตอบคำถามหรือตอบสนองต่อการเตือนให้พูด[4]

นอกจากสิ่งที่ไม่พูดแล้ว กิริยาท่าทางที่กล่าวคำตอบก็จะได้รับผลด้วย คนไข้มักตอบไม่ชัด ไม่ออกเสียงพยัญชนะให้ชัดเจนเหมือนปกติ คำพูดไม่กี่คำที่พูดปกติจะค่อย ๆ เบาลงจนเหลือแต่เสียงกระซิบ หรือจบอย่างดื้อ ๆ ในพยางค์ที่สอง งานศึกษาได้แสดงสหสัมพันธ์ระหว่างค่าวัดการไม่พูดกับจำนวนและระยะการหยุดชั่วขณะเมื่อพูดตอบคำถามเป็นลำดับที่นักวิจัยถาม[1][5]

ความไม่สามารถพูดมาจากปัญหาทางใจอันเป็นมูลฐานที่ทำให้คนไข้มีความขัดข้องหาคำที่สมควรในใจ และความขัดข้องทางความคิด งานศึกษาที่สำรวจคนไข้โดยให้ทำงานแบบ category fluency task แสดงว่า คนไข้โรคจิตเภทที่มีอาการนี้ปรากฏว่ามีความจำอาศัยความหมาย (semantic memory) ที่สับสนกว่าคนในกลุ่มควบคุม แม้ทั้งสองกลุ่มจะสร้างคำจำนวนเท่า ๆ กัน แต่คำที่คนไข้โรคจิตเภทสร้างจะไม่เป็นระเบียบ การวิเคราะห์แบบกลุ่ม (cluster analysis) พบว่าคนไข้มีการเกาะเกี่ยวความ (coherence) ที่แปลกประหลาด[6]

ตัวอย่าง แก้

การพูดน้อย คำพูดปกติ

ถ: คุณมีลูกไหม
ต: มี
ถ: มีกี่คน
ต: สองคน
ถ: ลูกอายุเท่าไหร่แล้ว
ต: 6 ขวบและ 16 ปี
ถ: เป็นหญิงหรือชาย
ต: อย่างละคน
ถ: ใครที่มีอายุ 16 ปี
ต: ผู้ชาย
ถ: เขาชื่ออะไร
ต: เอ็ดมอนด์
ถ: แล้วผู้หญิงล่ะ
ต: อะลิซ

ถ: คุณมีลูกไหม
ต: มี ผู้หญิงคนผู้ชายคน
ถ: อายุเท่าไหร่
ต: เอ็ดมอนด์อายุ 16 ปีและอะลิซ 6 ขวบ

เหตุ แก้

การพูดน้อยอาจเกิดจากการทำงานผิดปกติของวงจรประสาท คือ frontostriatal circuit ซึ่งมีผลให้หน่วยเก็บความหมาย (semantic store) เสื่อม เป็นศูนย์ที่อยู่ในสมองกลีบขมับและแปลผลทางความหมายของภาษา ในงานทดลองสร้างคำ คนไข้โรคจิตเภทเรื้อรังกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งสร้างคำน้อยกว่าคนปกติและมีคลังศัพท์ที่จำกัดกว่า ซึ่งเป็นหลักฐานว่าหน่วยเก็บเชิงความหมายมีประสิทธิภาพน้อยลง ส่วนงานอีกงานหนึ่งพบว่า เมื่อต้องระบุชื่อในหมวด ๆ หนึ่ง คนไข้โรคจิตเภทมีปัญหามากแต่จะทำได้ดีขึ้นเมื่อผู้ทำการทดลองใช้สิ่งเร้าอีกอย่างหนึ่งเพื่อช่วยแนะแนวพฤติกรรมแบบไม่รู้ตัว ข้อสรุปนี้เหมือนกับที่ได้จากคนไข้โรคฮันติงตันและโรคพาร์คินสัน ซึ่งก็เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับวงจรประสาท frontostriatal circuit เช่นกัน[7]

การรักษา แก้

งานศึกษาทางการแพทย์ได้สรุปว่า ยาที่ให้เพิ่ม (adjunct) บางอย่างช่วยบรรเทาอาการเชิงลบ (negative symptom) ของโรคจิตเภท โดยหลักคือภาวะพูดน้อย ในงานศึกษาหนึ่ง ยาแก้ซึมเศร้าประเภท tetracyclic antidepressant คือ maprotiline สามารถลดภาวะนี้ได้มากที่สุดโดยลดระดับความรุนแรงได้ถึง 50%[8] ในบรรดาอาการเชิงลบของโรคจิตเภท ภาวะพูดน้อยตอบสนองต่อยาได้ดีเป็นอันดับสอง ส่วนอันดับแรกคือการไม่มีสมาธิ/การใส่ใจไม่เพียงพอ (attention deficiency) ยากระตุ้นระบบประสาทกลางคือ dextroamphetamine เป็นยาอีกอย่างที่ได้ทดลองในคนไข้โรคจิตเภทแล้วพบว่า มีประสิทธิผลลดอาการเชิงลบ แต่วิธีการนี้ไม่ได้พัฒนาต่อเพราะมีผลไม่พึงประสงค์ต่ออาการอื่น ๆ ของโรคจิตเภท เช่น เพิ่มความรุนแรงของอาการเชิงบวก (positive symptom)[9]

ความสัมพันธ์กับโรคจิตเภท แก้

แม้อาการนี้จะพบในโรคต่าง ๆ แต่ก็พบอย่างสามัญโดยเป็นอาการเชิงลบ (negative symptom) ของโรคจิตเภท ซึ่งก่อนนี้เคยพิจารณาว่าเกี่ยวกับโรคสมองกลีบหน้า (frontal lobe disorder หรือ dysexecutive syndrome) ในรูปแบบที่เป็นโรคทางจิตเวช อย่างไรก็ดี งานศึกษาก็ได้แสดงว่า อาการโรคจิตเภทมีสหสัมพันธ์กับโรคสมองกลีบหน้าจริง ๆ[10]

งานศึกษาและงานวิเคราะห์ที่ได้ทำแล้วสรุปว่า ต้องมีปัจจัยอย่างน้อยสามอย่างเพื่อครอบคลุมทั้งอาการเชิงบวกและอาการเชิงลบของโรคจิตเภท ปัจจัยทั้งสามคือ อาการโรคจิต (psychotic factor) อาการสับสนวุ่นวาย (disorganization factor) และอาการเชิงลบ (negative symptom factor) งานศึกษาได้แสดงว่า การแสดงอารมณ์ผิดปกติสัมพันธ์อย่างมีกำลังกับพฤติกรรมแปลกประหลากและความผิดปกติทางความคิด (formal thought disorder) ที่เป็นอาการเชิงบวกโดยเป็นส่วนของปัจจัยคือความสับสนวุ่นวาย ส่วนความพิการทางการใส่ใจสัมพันธ์อย่างสำคัญกับอาการโรคจิต ความสับสนวุ่นวาย และอาการเชิงลบ อาการพูดน้อยมีทั้งอาการเชิงบวกและเชิงลบของโรคจิตเภท โดยการมีเรื่องพูดน้อย (poverty of content) เป็นปัจจัยคือความสับสนวุ่นวาย และการพูดน้อย (poverty of speech) ใช้เวลาตอบนาน และความคิดชะงัก เป็นปัจจัยคืออาการเชิงลบ[11]

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "MedTerms medical dictionary, Alogia definition". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-22. สืบค้นเมื่อ 2006-09-30.
  2. American Psychiatric Association (2000). Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fourth Edition: DSM-IV-TR®. American Psychiatric Pub. p. 301. ISBN 978-0-89042-025-6. สืบค้นเมื่อ 2012-04-29.
  3. "Alogia- Definition". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-02.
  4. Alpert, M; Kotsaftis, A; Pouget, ER (1997). "Speech fluency and schizophrenic negative signs". Schizophrenia Bulletin. 23: 171–177.
  5. Alpert, M; Clark, A; Pouget, ER (1994). "The syntactic role of pauses in the speech patients with schizophrenia and alogia". Journal of Abnormal Psychology. 103: 750–757.
  6. Sumiyoshi, C.; Sumiyoshi, T.; Nohara, S.; Yamashita, I.; Matsui, M.; Kurachi, M.; Niwa, S. (Apr 2005). "Disorganization of semantic memory underlies alogia in schizophrenia: an analysis of verbal fluency performance in Japanese subjects". Schizophr Res. 74 (1): 91–100. doi:10.1016/j.schres.2004.05.011. PMID 15694758.
  7. Chen, RY; Chen, EY; Chan, CK; Lam, LC; Lieh-Mak, E (2000). "Verbal fluency in schizophrenia: reduction in semantic store". Australian and New Zealand Journal of Psychiatry. 34: 43–48.
  8. Shafti, S.S.; Rey, S.; Abad, A. (2005). "Drug - Specific Responsiveness of Negative Symptoms". International Journal of Psychosocial Rehabilitation. pp. 10 (1), 43-51. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-12.
  9. Desai, N; Gangadhar, BN; Pradhan, N; Channabasavanna, SM (1984). "Treatment of negative schizophrenia with d-amphetamine". The American Journal of Psychiatry (141): 723–724.
  10. Barch, D.M; Berenbaum, H. (1996). "Language production and thought disorder in schizophrenia". Journal of Abnormal Psychology. 105: 81–88.
  11. Miller, D; Arndt, S; Andreasen, N (2004). "Alogia, attentional impairment, and inappropriate affect: Their status in the dimensions of schizophrenia". Comprehensive Psychiatry. 34: 221–226.