อักษรไคดา (ญี่ปุ่น: カイダー字โรมาจิKaidā ji; โยนางูนิ: カイダーディー) หรือ อักษรไคดะ (ญี่ปุ่น: カイダ字โรมาจิKaida ji; โยนางูนิ: カイダディ) เป็นชุดอักษรภาพที่เคยใช้ในหมู่เกาะยาเอยามะซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น

อักษรไคดา

ชื่อ ไคดา เป็นคำในภาษาโยนางูนิ เนื่องจากมีการศึกษาอักษรภาพชุดดังกล่าวบนเกาะโยนางูนิเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังพบการใช้ชุดอักษรนี้ในบริเวณส่วนอื่นของหมู่เกาะยาเอยามะด้วย โดยเฉพาะบนเกาะทาเกโตมิ[1] ซึ่งถูกใช้เป็นประกาศการเสียภาษีที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บภาษีรัชชูปการ (poll tax) บนหมู่เกาะยาเอยามะที่ขณะนั้นถูกแคว้นซัตสึมะที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะคีวชูปกครองอยู่

ศัพทมูลวิทยา แก้

 
ตัวอย่างอักษรไคดาของซาซาโมริในปี 1893

ซูโด โทชิอิชิ (須藤利一) ตั้งสมมติฐานว่าคำว่า "ไคดา" ของภาษาโยนางูนินี้มาจากคำว่า "คาริยะ" (仮屋) ในภาษาญี่ปุ่นมาตรฐาน ที่แปลว่า "ข้าราชการ" ที่หมายถึงกลุ่มข้าราชการที่มาจากแคว้นซัตสึมะ ซึ่งภาษายาเอยามะได้ยืมไปใช้เรียกขุนนางดังปรากฏในสำเนียงอิชิงะกิปัจจุบันว่า คารยา (Karja) ส่วนในภาษาญี่ปุ่นมาตรฐานจะมีเสียง /j/ ขณะที่ภาษาโยนางูนิกลายเป็นเสียง /d/ และเสียง /r/ จะปรับลงหากมีสระ จากคำว่า "คาริยะ" จึงกลายเป็นคำว่า "ไคดา" จากทฤษฎีนี้จะแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างระบบภาษีกับการใช้ชุดอักษรภาพดังกล่าว[2]

ประวัติ แก้

 
หมู่เกาะยาเอยามะ

หลังจากที่แคว้นซัตสึมะมีชัยเหนืออาณาจักรรีวกีว หลังจากนั้นจึงมีการสำรวจดินแดนโอกินาวะในปี ค.ศ. 1609 และหมู่เกาะยาเอยามะในปี ค.ศ 1611 หลังจากนั้นแคว้นซัตสึมะจึงได้มีการบังคับให้อาณาจักรรีวกีวส่งบรรณาการไปให้แก่แคว้น และเริ่มมีการตั้งภาษีรัชชูปการขึ้นในหมู่เกาะยาเอยามะในปี ค.ศ. 1640 โดยต้องส่งภาษีนั้นไปยังเมืองอิชิงากิ ที่ ๆ จะมีการคำนวณสิ่งของโดยใช้วิธีที่เรียกว่า วาราซัง (ภาษายาเอยามะเรียกว่า บาราซัน) ซึ่งใช้ฟางมัดเป็นปมสำหรับนับหรือคำนวณตัวเลขเช่นเดียวกับกีปูของชาวอินคา ภาษีที่ถูกส่งมาตามจำนวนที่กำหนดไว้ในแต่ละครัวเรือนจะถูกบันทึกไว้บนแผ่นไม้ที่เรียกว่า อิตาฟูดะ หรือ ฮังซัตสึ (板札) ซึ่งจะถูกเขียนด้วยอักษรภาพไคดาเพื่อแจงแก่ชาวบ้านในหมู่เกาะอันห่างไกลที่ยังไม่รู้หนังสือ

จากการศึกษาของซูโด โทชิอิชิพบมุขปาฐะของชาวโยนางูนิกล่าวว่า บรรพบุรุษที่นับขึ้นไป 9 รุ่นของตระกูลเคดางูซูกุ (Kedagusuku) ที่ชื่อมาเซะ (Mase) เป็นผู้สอนอักษรภาพไคดาและวาราซังออกสู่สาธารณะ ซึ่งซูโดคาดว่า หากเกิดขึ้นจริงก็น่าจะเกิดขึ้นช่วงหลังศตวรรษที่ 17[2] ส่วนใน ยาเอยามะเรกิชิ (Yaeyama rekishi) ซึ่งเป็นเอกสารช่วงศตวรรษที่ 19 ได้อ้างถึงโอฮามะ เซกิ (Ōhama Seiki) ว่าเป็นบุคคลที่ปรับปรุงอักษรภาพที่ใช้เขียนลงอิตาฟูดะให้สมบูรณ์ยิ่งกว่าก่อน ซึ่งจากอักษรภาพในอิตาฟูดะช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 นั้นยังพบข้อบกพร่องอยู่[3]

อิเกะมะ เรโซ (池間栄三) ว่าทั้งอักษรภาพไคดาและวาราซังมีประสิทธิภาพพอที่จะสามารถใช้เป็นข้อมูลของทางการได้ จนกระทั่งมีการยกเลิกภาษีรัชชูปการในปี ค.ศ. 1903 กอปรกับพระราโชบายของรัฐบาลเมจิที่ส่งเสริมการศึกษาทั่วประเทศเพื่อลดอัตราการไม่รู้หนังสือ การใช้อักษรไคดาจึงยุติลง[4] กระนั้นยังพบการใช้อักษรไคดาในศิลปะพื้นบ้าน เสื้อยืด และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เชิงพาณิชย์บนเกาะโยนางูนิและทาเกโตมิ หากแต่มิได้รับการอนุรักษ์ในเชิงวัฒนธรรมเพื่อรักษาระบบการเขียนนี้อย่างใด

ลักษณะ แก้

อักษรไคดา ประกอบด้วย

  • สินค้าพื้นฐาน ได้แก่ ข้าว, ข้าวฟ่าง, ถั่ว, วัว, แกะ, แพะ, ปลา และสิ่งทอ
  • การนับ ได้แก่ ข้าวหนึ่งถุง (), ข้าวหนึ่งกระบวย (), ข้าวหนึ่งกล่อง () และข้าวครึ่งถุง
  • สัญลักษณ์ที่ใช้แสดงครัวเรือน เรียกว่า ดาฮัง (dāhan)

ส่วนการนับเลขมีลักษณะใกล้เคียงกับเลขซูชูมะ (sūchūma) ของหมู่เกาะโอกินาวะและมิยาโกะ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีรากฐานจากตัวเลขซูโจว[5]

งานวิจัย แก้

บุคคลแรกที่ทำการศึกษาอักษรภาพไคดาคือกิซูเกะ ซาซาโมริ (Gisuke Sasamori) ซึ่งได้ทำการคัดลอกสำเนาอักษรภาพไคดาจากตำราสั้น ๆ จากหลาย ๆ เล่มลงในหนังสือ การสำรวจหมู่เกาะทะเลใต้ (ญี่ปุ่น: 南島探検โรมาจิNantō Tanken) ที่ตีพิมพ์จากบันทึกส่วนตัวของเขาขณะใช้แรงงานหนักบนเกาะโอกินาวะเมื่อปี ค.ศ. 1893 ส่วนยาซูซาดะ ทาชิโระ (Yasusada Tashiro) ได้ทำการสะสมการนับเลขระบบต่าง ๆ ในหมู่เกาะโอกินาวะและมิยาโกะ ก่อนบริจาคให้พิพิธภัณฑ์โตเกียวในปี ค.ศ. 1887 ซึ่งบทความการนับเลขแบบซูชูมะของเบซิล แชมเบอร์เลน (Basil Chamberlain) ชาวสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 1898[6] คาดว่ามีการอ้างอิงมาจากของสะสมของทาชิโระด้วย[5]

ในปี ค.ศ. 1915 คิอิชิ ยามูโระ (矢袋喜一) นักคณิตศาสตร์ ได้ทำการรวบรวมตัวอย่างอักษรไคดา, วาราซัง และภาษาถิ่นที่ใช้นับตัวเลข ตีพิมพ์ในหนังสือ คณิตศาสตร์รีวกีวโบราณ (琉球古来の数学) ของเขา แม้ว่ายามูโระจะไม่ได้เข้ามายังเกาะโยนางูนิด้วยตนเอง แต่ในงานเขียนของเขาได้ระบุว่าอักษรภาพไคดายังคงถูกใช้จนถึงช่วงปี ค.ศ. 1880 ส่วนทาดาโอะ คาวามูระ (Tadao Kawamura) นักมานุษยวิทยา ที่ทำการศึกษาด้านมานุษยวิทยาบนหมู่เกาะได้ตั้งข้อสังเกตว่า "ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก พวกเขายังใช้ [อักษรไคดา] อยู่" และเขาแสดงให้เห็นว่ามีการใช้อักษรไคดาในการส่งบรรจุหีบห่อ[7] และการศึกษาของซูโด โทชิอิชิ (須藤利一) แสดงให้เห็นการใช้อักษรไคดาสำหรับการทำธุรกรรม และเขาได้นำเสนอด้านนิรุกติศาสตร์ของอักษรภาพนี้ด้วย[2]

อ้างอิง แก้

  1. Uesedo Tōru 上勢頭亨 (August 1976). Taketomi-jima shi minwa min'yō hen 竹富島誌 民話・民俗篇 (ภาษาญี่ปุ่น). ISBN 978-4-588-33433-7.
  2. 2.0 2.1 2.2 Sudō Toshiichi 須藤利一 (April 1982) [1944]. Nantō oboegaki 南島覚書 (ภาษาญี่ปุ่น). ISBN 978-4804205083.
  3. Yaeyama rekishi 八重山歴史 (ภาษาญี่ปุ่น). Yaeyama rekishi henshū iinkai 八重山歴史編集委員会. 1954.
  4. Ikema Eizō 池間栄三 (1972) [1959]. Yonaguni no rekishi 与那国の歴史 (ภาษาญี่ปุ่น). ASIN B000J9EK8K.
  5. 5.0 5.1 Hagio Toshiaki 萩尾俊章 (2009). "Yonaguni no kaidā-ji o meguru ichi kōsatsu" 与那国島のカイダー字をめぐる一考察 [A consideration for the "Kaidaa-Ji" (Kaidaa character) in Yonaguni Island]. ใน Okinawa kenritsu hakubutsukan bijutsukan 沖縄県立博物館・美術館 (Okinawa Prefectural Museum and Art Museum) (บ.ก.). Yonaguni-jima sōgō chōsa hōkokusho 与那国島総合調査報告書 [Survey Reports on Natural History, History and Culture of Yonagunijima Island] (PDF) (ภาษาญี่ปุ่น). pp. 49–64. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-09-16. สืบค้นเมื่อ 2016-12-04.
  6. Basil Hall Chamberlain (1898). "A Quinary System of Notation employed in Luchu on the Wooden Tallies termed Shō-Chū-Ma". The Journal of the Anthropological Institute of Great Britain and Ireland. London. 27: 383–395. eISSN 2397-2564. ISSN 0959-5295.
  7. Kawamura Tadao 河村只雄 (March 1999) [1939]. Nanpō bunka no tankyū 南方文化の探究 (ภาษาญี่ปุ่น). ISBN 978-4061593701.