อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (อังกฤษ: United Nations Convention on the Law Of the Sea; ย่อ: UNCLOS) เป็นความตกลงระหว่างประเทศซึ่งเกิดขึ้นจากการประชุมสหประชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลครั้งที่สาม (UNCLOS III) ซึ่งกินเวลาระหว่างปี 2516 ถึง 2525 กฎหมายทะเลนิยามสิทธิและความรับผิดชอบของชาติในเรื่องการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรของโลก การวางแนวปฏิบัติสำหรับธุรกิจ สิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล อนุสัญญาฯ เข้าแทนที่อนุสัญญาทะเลหลวง ค.ศ. 1958 (1958 Convention on the High Seas) จำนวนสี่ฉบับ UNCLOS มีผลใช้บังคับในปี 2537 หลังกายอานาเป็นประเทศที่ 60 ที่ให้สัตยาบันสนธิสัญญาดังกล่าว ณ เดือนมิถุนายน 2559 มี 167 ประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรป เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ แต่ยังไม่ประจักษ์ชัดว่าอนุสัญญาฯ นี้ประมวลกฎหมายระหว่างประเทศจารีตประเพณีไว้มากเพียงใด

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล
วันลงนาม10 ธันวาคม 2525
ที่ลงนามมอนเตโกเบย์ ประเทศจาไมกา
วันมีผล16 พฤศจิกายน 2537[1]
เงื่อนไขมีภาคีให้สัตยาบันครบ 60 ภาคี
ผู้ลงนาม157[2]
ภาคี168[2][3]
ผู้เก็บรักษาเลขาธิการสหประชาชาติ
ภาษาอาหรับ จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียและสเปน

องค์การที่มีบทบาทในการนำอนุสัญญาฯ ไปปฏิบัติ ได้แก่ องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) ซึ่งเป็นองค์การชำนัญพิเศษ เช่นเดียวกับหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาฯ เช่น คณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ และองค์การพื้นทะเลระหว่างประเทศ (ISA)

ประวัติ แก้

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ครั้งที่ 3 ได้มีขึ้น ณ นครนิวยอร์ก ในเดือนธันวาคม 2516 การประชุมเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2525 ณ กรุงมอนเตโกเบย์ ประเทศจาไมกา โดยประเทศต่าง ๆ สามารถเริ่มลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ได้ตั้งแต่บัดนั้น ทั้งนี้ อนุสัญญาฯ เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 หลังจากที่รัฐภาคีที่ 60 ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ

UNCLOS III แก้

 
ไดอะแกรมแสดงอาณาเขตทางทะเลที่กำหนดตาม UNICLOS III

มีการหยิบยกปัญหาข้ออ้างน่านน้ำอาณาเขตที่มีหลากหลายในสหประชาชาติในปี 2510 และในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลในนิวยอร์ก ที่ประชุมได้ใช้กระบวนการหามติเอกฉันท์มากกว่าเสียงข้างมากเพื่อลดโอกาสที่กลุ่มชาติหนึ่งครอบงำการเจรจา ทำให้การประชุมกินเวลายืดเยื้อจนถึงปี 2525

อนุสัญญาฯ ริเริ่มบทบัญญัติจำนวนหนึ่ง ประเด็นที่สำคัญที่สุดได้แก่การตั้งขีดจำกัด การเดินเรือ สถานภาพกลุ่มเกาะและระบอบเดินเรือผ่าน (transit regime) เขตเศรษฐกิจจำเพาะ เขตอำนาจไหล่ทวีป การทำเหมืองพื้นทะเลลึก ระบอบการแสวงประโยชน์ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการระงับข้อพิพาท

อนุสัญญาฯ กำหนดขีดจำกัดของพื้นที่ต่าง ๆ โดยวัดจากเส้นฐานที่นิยามว่าเป็นเส้นน้ำลง ยกเว้นเมื่อแนวชายฝั่งมีลักษณะเว้าแหว่งมาก มีเกาะเป็นหย่อมหรือไม่เสถียรอย่างสูง อาจใช้เส้นฐานตรงได้ พื้นที่เหล่านี้ประกอบด้วย:

น่านน้ำภายใน
ครอบคลุมน่านน้ำและทางน้ำที่อยู่ชิดเข้ามาฝั่งในแผ่นดินเมื่อเทียบจากเส้นฐาน รัฐชายฝั่งมีอิสระในการออกกฎหมาย วางระเบียบการใช้และใช้ทรัพยากรได้ทั้งหมด เรือต่างชาติไม่มีสิทธิผ่านในน่านน้ำภายใน ส่วนเรือในทะเลหลวงยังคงมีเขตอำนาจภายใต้กฎหมายภายในของรัฐที่เรือนั้นชักธง
น่านน้ำอาณาเขต
วัดออกไป 12 ไมล์ทะเล (22 กิโลเมตร) จากเส้นฐาน รัฐชายฝั่งมีอิสระในการออกกฎหมาย วางระเบียบการใช้และใช้ทรัพยากรได้ทั้งหมด เรือได้รับสิทธิในการเดินเรือผ่านโดยสุจริต (innocent passage) ในน่านน้ำอาณาเขต โดยช่องแคบทางยุทธศาสตร์ต้องอนุญาตให้เรือรบผ่านได้ชั่วคราว (transit passage) คำว่า "การเดินเรือผ่านโดยสุจริต" นี้นิยามว่าเป็นการแล่นผ่านในลักษณะไม่ชักช้าและต่อเนื่อง และต้องไม่รบกวนสันติภาพ ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐชายฝั่ง ส่วนเรือดำน้ำและพาหนะอื่นใต้น้ำต้องเดินบนผิวน้ำพร้อมทั้งชักธงของตน รัฐชายฝั่งสามารถระงับสิทธิการแล่นเรือผ่านโดยสุจริตได้ชั่วคราวหากมีความสำคัญต่อการพิทักษ์ความมั่นคง
น่านน้ำกลุ่มเกาะ
อนุสัญญาฯ มีบทนิยามการวาดเขตแดนของรัฐกลุ่มเกาะ โดยวาดเส้นฐานระหว่างจุดนอกสุดของเกาะของเกาะที่อยู่รอบนอกสุด หากว่าจุดเหล่านี้อยู่ใกล้กันพอสมควร น่านน้ำทั้งหมดภายในเส้นนี้เรียกว่า "น่านน้ำกลุ่มเกาะ" รัฐชายฝั่งและเรือที่แล่นผ่านมีสิทธิเช่นเดียวกับน่านน้ำอาณาเขต ยกเว้นสิทธิการประมงแต่โบราณของรัฐที่อยู่ประชิดกัน
เขตต่อเนื่อง
วัดจากขีดจำกัดเส้นฐานทะเลอาณาเขตถัดไปอีก 12 ไมล์ทะเล รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตย หมายถึง มีอิสระในการบังคับใช้กฎหมายในสี่เรื่อง (ศุลกากร ภาษีอากร การเข้าเมืองและมลภาวะ) ถ้าการละเมิดกฎหมายนั้นเกิดขึ้นหรือกำลังเกิดขึ้นในอาณาเขตหรือน่านน้ำอาณาเขตของรัฐชายฝั่ง ทำให้บริเวณนี้เป็นบริเวณที่มีการไล่ตามติดพัน (hot pursuit)
เขตเศรษฐกิจจำเพาะ
วัดจากเส้นฐานออกไป 200 ไมล์ทะเล (370 กิโลเมตร) จากเส้นฐาน รัฐชายฝั่งมีสิทธิแสวงประโยชน์แต่ผู้เดียวในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด ส่วนต่างชาติมีเสรีภาพในการเดินเรือและเดินอากาศยาน โดยขึ้นอยู่กับระเบียบของรัฐชายฝั่ง นอกจากนี้ รัฐต่างชาติยังอาจวางท่อและสายใต้น้ำได้
ไหล่ทวีป
นิยามว่าเป็นแผ่นดินตามธรรมชาติที่ยื่นออกไปเป็นขอบนอกของทวีป (แต่ไม่เกิน 100 ไมล์ทะเลจากจุดความลึก 2,500 เมตร) หรือระยะ 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานของรัฐชายฝั่ง แล้วแต่ว่าอย่างใดมากกว่า รัฐชายฝั่งมีสิทธิขุดเจาะแร่ธาตุและสิ่งไม่มีชีวิตในดินชั้นล่างของไหล่ทวีปที่อยู่ในเขตของตนแต่ผู้เดียว รัฐชายฝั่งยังมีสิทธิขาดเหนือทรัพยากรมีชีวิตอื่นที่ "ติด" อยู่กับไหล่ทวีป แต่ไม่รวมสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำที่พ้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะไป

บริเวณนอกเหนือจากนี้ล้วนเป็น "ทะเลหลวง" หรือน่านน้ำสากล[4][5]

อ้างอิง แก้

  1. "The United Nations Convention on the Law of the Sea (A historical perspective)". United Nations Division for Ocean Affairs and the Law of the Sea. สืบค้นเมื่อ 30 April 2009.
  2. 2.0 2.1 "United Nations Convention on the Law of the Sea". United Nations Treaty Series. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
  3. "Chronological lists of ratifications of, accessions and successions to the Convention and the related Agreements". United Nations Division for Ocean Affairs and the Law of the Sea. 8 January 2010. สืบค้นเมื่อ 24 February 2010.
  4. "Documents and Publications". International Seabed Authority. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 May 2008.
  5. Jon Copley (Nov 7, 2020). "Deep-sea mining is making the seabed the hottest real estate on Earth". New Scientist.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้