หอยหลอด เป็นชื่อสามัญของหอยทะเลกาบคู่หลายชนิดในวงศ์ Solenidae[2] ชนิดที่พบในไทย เช่น S. corneus, S. exiguus, S. malaccensis, S. regularis, S. strictus, S. thailandicus ในสกุล Solen เป็นต้น

หอยหลอด
หอยหลอดชนิด Solen strictus
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: มอลลัสกา
Mollusca
ชั้น: ชั้นไบวาลเวีย
Bivalvia
อันดับ: Adapedonta
Adapedonta
วงศ์ใหญ่: Solenoidea
Solenoidea
วงศ์: หอยหลอด
Solenidae
Lamarck, 1809
สกุล

ถิ่นที่อยู่

แก้

หอยหลอดจะฝังตัวตามแนวดิ่งในตะกอนดินโคลนบริเวณปากแม่น้ำ โดยอาศัยอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลตั้งแต่ 50 เมตรไปจนถึง 3 กิโลเมตรแล้วแต่ชนิด บริเวณที่มีหอยหลอดเป็นจำนวนมากในไทยคือดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากนี้ยังพบตามชายฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันของจังหวัดอื่นด้วย[3] เช่น ชนิด S. corneus, S. regularis, S. strictus และ S. thailandicus พบมากที่จังหวัดตราด จันทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม (ดอนหอยหลอด) และเพชรบุรี; ชนิด S. vagina พบมากที่จังหวัดตรัง ส่วนชนิด S. grandis และ S. exiguus พบที่จังหวัดสตูล แต่มีปริมาณน้อย[4]

ลักษณะ

แก้

เปลือกคล้ายใบมีดโกนบาง มีสีเขียว เขียวอมเหลือง หรือน้ำตาลอมเหลือง ประกบกันเป็นรูปทรงกระบอกแต่ไม่สนิท ยังมีช่องเปิดทั้งด้านหน้าและด้านท้าย มีเอ็นยึดฝาทั้งสองและมีฟัน 2-3 ซี่ มีเท้าเป็นแท่งกลมใหญ่อยู่ที่ส่วนปลายด้านหนึ่ง และมีท่อน้ำเข้าและท่อน้ำออกอยู่ที่ส่วนปลายของอีกด้านหนึ่ง

ขนาดของหอยหลอดแตกต่างกันไปตามชนิด เช่น ชนิด S. grandis มีความยาวสูงสุด 15 เซนติเมตร; ชนิด S. strictus มีความยาวสูงสุด 8 เซนติเมตร แต่มีความกว้างน้อยกว่าชนิด S. corneus ซึ่งมีความยาวสูงสุด 6 เซนติเมตร; ชนิด S. vagina มีความยาวสูงสุด 7 เซนติเมตร; ชนิด S. regularis มีความยาวสูงสุด 5 เซนติเมตร; ชนิด S. thailandicus มีความยาวสูงสุด 4.5 เซนติเมตร และหอยหลอดที่ยังจำแนกอนุกรมวิธานไม่ได้ (Solen sp.) บางชนิดมีความยาวสูงสุด 2.5 เซนติเมตร[4]

การใช้ประโยชน์

แก้

หอยหลอดชนิดที่พบมากและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงในไทยได้แก่ S. regularis, S. strictus และ S. thailandicus เนื้อหอยนำมาประกอบอาหารได้หลายประเภท ทั้งตากแห้ง ทอดกรอบ ต้มยำ ผัดกะเพรา และผัดฉ่า[5] วิธีจับหอยหลอดจะใช้ปูนขาวหยอดลงในรู หอยหลอดจะรู้สึกระคายเคืองและโผล่ขึ้นมาให้จับได้ง่าย ช่วงที่เหมาะสำหรับการจับมากที่สุดคือเดือนมกราคม-พฤษภาคม เพราะตอนกลางวันน้ำจะลดลงมากทำให้สันดอนโผล่พ้นน้ำ

อ้างอิง

แก้
  1. World Register of Marine Species
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 1313.
  3. "แข่งขันเก็บหอยหลอดประจำปี จ.สตูล". ช่อง 7. 8 January 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-15. สืบค้นเมื่อ 10 January 2015.
  4. 4.0 4.1 หอยหลอด หอยถ่าน หอยหิน
  5. "จับจาก"รู" มาสู่เมนูจานเด็ด ชีวิตกลางแจ้งของ"คนหาหอยหลอด"". ผู้จัดการออนไลน์.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้