หอยมือเสือ
หอยมือเสือ (อังกฤษ: Giant clam) เป็นสกุลของหอยสองฝาขนาดใหญ่ ในวงศ์หอยมือเสือ (Tridacninae) ใช้ชื่อสกุลว่า Tridacna (/ไทร-แดก-นา/)
หอยมือเสือ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีน - ปัจจุบัน[1] | |
---|---|
หอยมือเสือยักษ์ (Tridacna gigas) เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | มอลลัสกา Mollusca |
ชั้น: | ชั้นไบวาลเวีย Bivalvia |
อันดับ: | Cardiida Cardiida |
วงศ์: | Cardiidae Cardiidae |
วงศ์ย่อย: | หอยมือเสือ Tridacninae Linnaeus, 1758 |
สกุล: | หอยมือเสือ Tridacna Bruguière, 1797 |
ชนิด | |
| |
ชื่อพ้อง[2] | |
|
ลักษณะและพฤติกรรม
แก้หอยมือเสือมีพฤติกรรมต่างจากหอยจำพวกอื่นตรงที่เปลือกด้านบนจะเปิดออกเพื่อรับแสงแดด จะเรียกเป็นด้านหน้าของหอยมือเสือและจะแผ่ส่วนแมนเทิล ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อออกมารับแสง ซึ่งส่วนเนื้อเยื่อจะมีสาหร่ายจำพวกไดโนแฟลกเจลเลต คือ สาหร่ายซูแซนเทลลี จำนวนมากอาศัยอยู่ในแมนเทิลซึ่งการอยู่ร่วมแบบนี้ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ ซึ่งการอยู่แบบพึ่งพาอาศัย การสังเคราะห์แสงของสาหร่ายโดยสาหร่ายจะใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียที่หอยมือเสือปล่อยออกมา หอยมือเสือก็จะได้รับสารอาหารคืนจากที่สาหร่ายผลิตได้บางส่วน ดังนั้นจึงพบเห็นหอยมือเสือจะอาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำใสและมีแสงส่องผ่านไปถึง อีกทั้งการที่หอยมือเสือมีสีสันต่าง ๆ ต่างกันทั้ง สีเขียว, สีน้ำเงิน ก็เป็นผลมาจากสังเคราะห์แสงของสาหร่ายนี้ โดยปกติจะพบหอยมือเสือได้ในระดับความลึกไม่เกิน 20 เมตร ส่วนต่อมาคือ ตรงรอยต่อด้านล่างของฝาหอย เป็นบานพับเปลือก จะมีส่วนที่ลักษณะเป็นช่องสำหรับให้เส้นใยเนื้อเยื่อที่เรียกว่า บิสซัส ยื่นออกมาทำหน้าที่เชื่อมยึดตัวหอยให้เกาะติดกับหินหรือวัสดุใต้น้ำ
โดยกระบวนการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายซูแซนเทลลีที่อยู่ในตัวหอยจะดูดซับเอาสารต่าง ๆ รวมทั้งของเสียสิ่งขับถ่ายจากสัตว์อื่นในระบบนิเวศ มาสังเคราะห์เป็นอาหารและพลังงานที่เป็น จึงทำให้หอยมือเสือเสมือนเป็นโรงงานกำจัดของเสีย อีกทั้งหอยมือเสือมีการกินอาหารแบบกรองกินอาหารที่ลอยมาตามน้ำ ดังนั้น หากมีฝุ่นตะกอนลอยมาตามน้ำ หอยมือเสือก็จะทำหน้าที่ดูดกรองฝุ่นตะกอนเหล่านั้นไว้ จึงทำให้น้ำในบริเวณนั้นจึงใสสะอาด ช่วยให้ระบบนิเวศน์ของทะเลดีตามไปด้วย
หอยมือเสือมีสองเพศในตัวเดียว โดยช่วงแรกยังไม่สามารถระบุเพศได้ จนอายุประมาณ 2 ปีขึ้นไป จะเป็นเพศผู้ มีการสร้างน้ำเชื้อ และเมื่ออายุประมาณ 4 ปีครึ่ง จะเปลี่ยนเป็นเพศเมีย เริ่มสร้างไข่เพื่อสืบพันธุ์ ในเขตร้อนหอยมือเสือสามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งปี ขณะที่ในเขตอบอุ่นหอยจะสืบพันธุ์เฉพาะช่วงฤดูร้อนเท่านั้น[3]
หอยมือเสือ จัดเป็นหอยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อาจมีความยาวเปลือกได้ถึง 100-120 เซนติเมตร น้ำหนักได้กว่า 200 กิโลกรัม และมีอายุยาวได้ถึง 100 ปีหรือมากกว่านั้น[4] ขนาดเล็กสุดยาวเพียง 15 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตน้ำตื้นตามแนวปะการังของน่านน้ำแถบอินโด-แปซิฟิก ในเขตน่านน้ำไทยแหล่งที่พบหอยมือเสือได้มากที่สุด คือ เกาะไข่ ในเขตพื้นที่จังหวัดชุมพร ที่สามารถพบหอยมือเสือได้หลายขนาดและหลากหลายสีในเขตแนวปะการังน้ำตื้นรอบ ๆ เกาะ โดยเป็นหอยมือเสือทั้งจากการเพาะขยายพันธุ์และขยายพันธุ์กำเนิดเองในธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการอนุรักษ์[5]
การจำแนก
แก้แบ่งออกได้เป็น 2 สกุลย่อย[2][6]
สกุลย่อย Tridacna (Tridacna)
- Tridacna derasa (Röding, 1798)
- Tridacna gigas (Linnaeus, 1758)
- Tridacna tevoroa Lucas, Ledua & Braley, 1990
สกุลย่อย Tridacna (Chametrachea)
- Tridacna costata Richter, Roa-Quiaoit, Jantzen, Al-Zibdah, Kochzius, 2008
- Tridacna crocea Lamarck, 1819 – พบในน่านน้ำไทย
- Tridacna maxima Röding, 1798( =Tridacna elongata) – พบในน่านน้ำไทย
- Tridacna rosewateri Sirenho & Scarlato, 1991
- Tridacna squamosa Lamarck, 1819 – พบในน่านน้ำไทย
การใช้ประโยชน์
แก้หอยมือเสือ เป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว เนื้อของหอยมือเสือโดยเฉพาะกล้ามเนื้อยึดเปลือก เป็นอาหารซึ่งมีราคาแพง เป็นที่นิยมบริโภคในหลายประเทศ เปลือกใช้ทำเครื่องใช้, เครื่องประดับ รวมทั้งไข่มุก ซึ่งหอยมือเสือก็สามารถให้ได้เหมือนกัน และเป็นไข่มุกที่มีราคาแพงกว่าไข่มุกปกติธรรมดา เนื่องจากมีขนาดใหญ่และหาได้ยากมาก[7] ส่วนหอยมือเสือขนาดเล็กนิยมนำมาเลี้ยงในตู้ปลาทะเลสวยงาม จึงทำให้หอยมือเสือถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์มากจนเกินกำลังธรรมชาติจะทดแทนได้ทันในทุกแหล่งการแพร่กระจายจนกระทั่งอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ หรือบางชนิดถูกทำลายจนหมดไปจากบางแหล่ง จึงเป็นหนึ่งในจำนวนสัตว์น้ำที่ได้รับการขึ้นบัญชีในรายชื่อสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์หรือหายากในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือ CITES และจัดอยู่ในบัญชีสัตว์สงวนและคุ้มครองประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ของกฎหมายไทย ในน่านน้ำไทยพบหอยมือเสืออยู่ทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พบทั้งหมด 5 ชนิด[8] จำนวนประชากรหอยมือเสือในน่านน้ำไทยในปัจจุบันมีเหลืออยู่ไม่มาก เนื่องจากหอยมือเสือมีแหล่งอาศัยอยู่ตามแนวปะการังที่มีระดับน้ำไม่ลึกเพราะต้องอาศัยแสงสว่างในการดำรงชีพเพื่อให้สาหร่ายซึ่งอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อสามารถสังเคราะห์แสงได้จึงทำให้หอยมือเสือถูกจับขึ้นมาได้ง่าย ปัจจุบัน หอยมือเสือทุกชนิดได้มีการเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในประเทศไทย โดยชนิดแรกที่เพาะขยายพันธุ์ได้ คือ หอยมือเสือเล็บยาว (T. squamosa)[9] ส่วนชนิด หอยมือเสือยักษ์ (T. gigas) ที่เป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุดนั้นไม่สามารถเพาะได้เนื่องจากหาพ่อแม่พันธุ์ไม่ได้[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ "The Paleobiology Database". Paleodb.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-08. สืบค้นเมื่อ 2012-05-20.
- ↑ 2.0 2.1 WoRMS. (2009). Tridacna. Accessed through the World Register of Marine Species at http://www.marinespecies.org/aphia.php?p=taxdetails&id=205753 on 2009-01-08.
- ↑ "หอยมือเสือ จากกรมประมง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-11. สืบค้นเมื่อ 2013-10-01.
- ↑ "Giant Clam: Tridacna gigas". National Geographis Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-21. สืบค้นเมื่อ 2007-06-02.
- ↑ "สีสันทะเลชุมพร". วิวไฟเดอร์. 5 May 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-13. สืบค้นเมื่อ 6 May 2014.
- ↑ Schneider, J.A.,and O´Foighil, D. Phylogeny of Giant Clams (Cardiidae: Tridacninae) Based on Partial Mitochondrial 16S rDNA Gene Sequences. Molecular Phylogenetics and Evolution Vol. 13, No. 1, October, pp. 59–66, 1999
- ↑ 7.0 7.1 แฟนพันธุ์แท้, "แฟนพันธุ์แท้แห่งปี 2008 รอบชิงชนะเลิศ" เกมโชว์ทางช่อง 5: วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2552
- ↑ เปิดโผสัตว์ป่ายอดนิยม ' นางอาย ' อันดับหนึ่ง !, คมชัดลึก ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546
- ↑ "หอยมือเสือจากสยามโอเชียลเวิลด์" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-09-11. สืบค้นเมื่อ 2013-10-01.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Tridacna ที่วิกิสปีชีส์