หม่อมราชวงศ์ทินะประภา อิศรเสนา ณ อยุธยา
หม่อมราชวงศ์ทินะประภา อิศรเสนา (สกุลเดิม ศุขสวัสดิ; 2 มิถุนายน พ.ศ. 2460 – 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555) เป็นธิดาคนโตในร้อยเอก หม่อมเจ้าทินทัต ศุขสวัสดิ และหม่อมผิว ศุขสวัสดิ ณ อยุธยา มีน้องสาว 2 คน คือ
- หม่อมราชวงศ์กานดาศรี ศุขสวัสดิ
- หม่อมราชวงศ์รุจีสมร ศุขสวัสดิ
ทินะประภา อิศรเสนา | |
---|---|
เกิด | 2 มิถุนายน พ.ศ. 2460 |
เสียชีวิต | 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 (95 ปี) |
คู่สมรส | กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา |
บุตร | รองศาสตราจารย์ อนุกัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา คุณหญิงภัทราภา ตัณสถิตย์ |
บิดามารดา | หม่อมเจ้าทินทัต ศุขสวัสดิ์ หม่อมผิว ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา |
หม่อมราชวงศ์ทินะประภา อิศรเสนา รับราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตำแหน่งสุดท้ายคืออาจารย์ใหญ่โรงเรียนการช่างสตรีพระนครใต้ ซึ่งปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตพระนครใต้ ในขณะที่สามีดำรงตำแหน่งเลขาธิการพระราชวัง หม่อมราชวงศ์ทินะประภาได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ไปประจำติดตามแขกบ้านแขกเมืองในหลายโอกาส และเมื่อศาสตราจารย์ กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี หม่อมราชวงศ์ทินะประภาได้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลร้านสมเด็จพระบรมราชินีนาถในงานกาชาดเพื่อหารายได้สำหรับสภากาชาดไทยเป็นเวลานานกว่า 10 ปี
ชีวิตครอบครัว
แก้หม่อมราชวงศ์ทินะประภา สมรสกับศาสตราจารย์ กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการพระราชวัง อดีตองคมนตรี และอดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย มีบุตรและธิดา 2 คนได้แก่
- รองศาสตราจารย์อนุกัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
- คุณหญิงภัทราภา ตัณสถิตย์
หม่อมราชวงศ์ทินะประภา อิศรเสนา ถึงแก่อนิจกรรมเนื่องจากไตวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พร้อมด้วยเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ ศาลา 10 วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และเชิญพวงมาลาหลวง พวงมาลาพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และพวงมาลาประทานของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ วางหน้าโกศศพ และพลอากาศเอกเกษม อยู่สุข เชิญพวงมาลาพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วางหน้าโกศศพ
ต่อมาในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพหม่อมราชวงศ์ทินะประภา อิศรเสนา ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2534 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[1]
- พ.ศ. 2528 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[2]
- พ.ศ. 2521 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายใน)[3]
- พ.ศ. 2512 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[4]
- พ.ศ. 2510 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 4 (ภ.ป.ร.4)[5]
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖, ๒๗ มกราคม ๒๕๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๑๑๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐๗๔, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๘๔ ตอนที่ ๒๓ ง หน้า ๘๙๔, ๗ มีนาคม ๒๕๑๐