หมู่บ้านทะลุฟ้า

หมู่บ้านทะลุฟ้า เป็นค่ายพักแรมของผู้ประท้วงในระหว่างการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 ก่อตั้งโดยกลุ่มเดินทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564[1] ตั้งอยู่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล โดยมีข้อเรียกร้อง ได้แก่ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน, การยกเลิกกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย และการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ซึ่งผู้จัดประกาศว่าจะปักหลักชุมนุมไปอย่างไม่มีกำหนด

มีการจัดให้ลงทะเบียนและคัดกรองโรคโควิด-19 ตามมาตรการของรัฐบาล[1] โดยก่อนหน้านี้กลุ่มพีมูฟและภาคีเซฟบางกลอยปักหลักชุมนุในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว[2] ต่อมามีการจัดสรรพื้นที่ตั้งเป็นเวทีปราศรัย ครัว ที่พักภิกษุสงฆ์ ที่พัก และหน่วยแพทย์[3]

วันที่ 16 มีนาคม ตัวแทนไปยื่นจดหมายถึงสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐและสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเพื่อขอให้จับตาการใช้กำลังและบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลประยุทธ์[4] วันที่ 17 มีนาคม รวมกันจัดกิจกรรมเขียนจดหมายถึงนักกิจกรรมในเรือนจำ[5] กลุ่มยังประกาศให้ผู้ประท้วงที่ไม่มีที่พักเข้าพักได้ฟรี[6]

วันเดียวกัน กลุ่มพีมูฟและภาคีเซฟบางกลอยประกาศเลิกปักหลักชุมนุม โดยอ้างว่าเพื่อรอดูผลงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้ง การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เสียก่อน[7] หลังจากก่อนหน้านี้ เข้าหารือกับร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาขัดแย้งบางกลอย[2] ทำให้เหลือเฉพาะกลุ่มเดินทะลุฟ้า

โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาลระบุว่าผู้ชุมนุมมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แต่ยอมย้ายตู้คอนเทนเนอร์ออกจากพื้นที่เนื่องจากประเมินแล้วไม่มีความเสี่ยงเกิดเหตุรุนแรง[8] ผู้ชุมนุมระบุว่ามีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าสังเกตการณ์[9] และมีการตามไปข่มขู่ถึงเขตวัดโสมนัสราชวรวิหาร ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกับค่ายพัก[10]

เช้าวันที่ 28 มีนาคม ตำรวจเข้าสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน[11] แต่ในช่วงบ่ายได้มีการจัดกิจกรรมทวงคืนหมู่บ้านทะลุฟ้า พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยผู้ชุมนุมในหมู่บ้านทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข[12]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ""หมู่บ้านทะลุฟ้า" ปักหลักข้างทำเนียบ ตั้งจุด "คัดกรอง-ลงทะเบียน" เข้ม". ประชาชาติธุรกิจ. 13 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  2. 2.0 2.1 "'หมู่บ้านทะลุฟ้า' ยืนยันปักหลักค้างคืนข้างทำเนียบรัฐบาล". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  3. "เวทีมา! 'หมู่บ้านทะลุฟ้า' วันนี้มีทุกอย่าง ตั้งแต่ครัว ถึงสำนักสงฆ์ (ภาพชุด)". มติชนออนไลน์. 14 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  4. "ตัวแทนหมู่บ้านทะลุฟ้า ยื่นหนังสือถึง 'สถานทูตอเมริกา-EU' ขอนานาชาติจับตารัฐไทย คุกคาม-ใช้กม.ปิดปาก". มติชนออนไลน์. 16 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  5. "'หมู่บ้านทะลุฟ้า' ย้ายเวทีตั้งแทนที่ภาคีบางกลอย หันหน้าถนนพิษณุโลก ชวนเขียนจม.ถึงเพื่อนในเรือนจำ". มติชนออนไลน์. 17 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  6. "'หมู่บ้านทะลุฟ้า' ชวนคนไม่มีที่พักหลังม็อบ 'รีเด็ม' สนามหลวงนอนฟรีหลังยุติชุมนุม 20 มี.ค." มติชนออนไลน์. 19 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  7. "ท้า 'ประยุทธ์' พูดมาเลย ซัดใครอยู่เบื้องหลังชาวบ้าน พีมูฟ-เซฟบางกลอย ยุติชุมนุม". ข่าวสด. 17 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  8. "ม็อบทะลุฟ้า เจอ 2 ข้อหา ตำรวจอ่อนข้อตั้งหมู่บ้าน รื้อตู้คอนเทนเนอร์". Bangkok Insight. 14 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  9. "ตร. เฝ้า 'หมู่บ้านทะลุฟ้า' สะพานชมัยมรุเชฐ ก่อนกิจกรรมเย็นนี้". มติชนออนไลน์. 17 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  10. "ชาวบ้านทะลุฟ้า เผยชาย 3 คนอ้างเป็น ตร. ตามถ่ายรูปกลางดึกในวัดดัง ขอดูบัตร ปชช. ขู่จับกุม". มติชนออนไลน์. 20 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  11. "คฝ.บุกสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าแต่เช้ามืด จี้เก็บของ 3 นาที มัดมือ 'ยาใจ' รวบตัวกว่าครึ่งร้อย". มติชน. 2021-03-28. สืบค้นเมื่อ 2021-03-28.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "ด่วน ! นัดระดมมวลชนหน้าทำเนียบฯบ่ายสามโมง ทวงคืน "หมู่บ้านทะลุฟ้า" ประณามจับกุมไม่เป็นธรรม". สยามรัฐ. 2021-03-28. สืบค้นเมื่อ 2021-03-28.