หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน

หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เป็นหน่วยรบหลักทางภาคพื้นดินของกองทัพอากาศ "มีหน้าที่เตรียมและและดำเนินการใช้กำลังทางภาคพื้นเกี่ยวกับการป้องกันฐานทัพอากาศและที่ตั้งทางทหารอากาศ การต่อสู้อากาศยาน การปฏิบัติการพิเศษ การดุริยางค์ กับมีหน้าที่กำหนดแนวทาง ควบคุม ประเมินผล การฝึกศึกษา และการตรวจตรากิจการในสายวิทยาการด้านอากาศโยธิน ทหารต่อสู้อากาศยาน ทหารพลร่ม การสุนัขทหาร และทหารดุริยางค์ มีผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ"

หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
กองทัพอากาศไทย
ประจำการพ.ศ. 2480–ปัจจุบัน
ประเทศ ไทย
เหล่า กองทัพอากาศ
รูปแบบกองกำลังภาคพื้นดินและกองกำลังพิเศษกองทัพอากาศ
บทบาทการป้องกันฐานทัพอากาศ
การสงครามต่อสู้อากาศยาน
การรักษาความปลอดภัยฐานทัพอากาศและให้การสนับสนุนภาคพื้นดินสำหรับการปฏิบัติงานทางอากาศ
กำลังรบ20,000
กองบัญชาการฐานทัพอากาศดอนเมือง กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์https://sfc.rtaf.mi.th/

โดยเหตุที่กองทัพอากาศมีหน้าที่ในการเตรียมและใช้กำลังทางอากาศเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางการทหารของกองทัพ เพื่อสนับสนุนรัฐบาล ดังนั้นที่ตั้งของหน่วยบินรบและหน่วยบินสนับสนุนกองทัพอากาศหรือกองบินต่าง ๆ ได้กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ในทุกภาคทั่วประเทศไทย อาทิเช่น จังหวัดนครราชสีมา , จังหวัดนครสวรรค์ , จังหวัดสุราษฎร์ธานี , จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น และโดยที่ยุทโธปกรณ์หลักของกองทัพอากาศซึ่งประกอบด้วย เครื่องบิน อาวุธ และเครื่องสนับสนุนต่างๆ เป็นเครื่องมือที่มีอำนาจการทำลายล้างสูงและมีราคาแพง หน่วยบัญชาการอากาศโยธินจึงมีหน้าที่ในการจัดกำลังในการป้องกันและรักษาความปลอดภัยที่ตั้งกองบินทุกกองบินทั่วประเทศให้พ้นจากการคุกคามของผู้ไม่ประสงค์ดีทุกรูปแบบ

อีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญยิ่งของหน่วยบัญชาการอากาศโยธินคือ การฝึกและการประเมินผล บุคลากรเหล่าอากาศโยธิน ในสายงานทุกสายงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กำลังพลมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติภารกิจที่กล่าวมาแล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2567 พลอากาศโท ขจรฤทธิ์ แก้วอำไพ [1] ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน​ โดยมีรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน​ สองรายได้แก่ พลอากาศตรี พันเทพ เนียมพลอย [2] และ พลอากาศตรี จเร แสงธาราทิพย์ [3]

ประวัติ

แก้

 พ.ศ. 2480 ทหารอากาศโยธิน หรือขณะนั้นเรียกว่า '' ทหารราบ'' จัดขึ้นตามอัตราการจัดส่วนราชการของกองทัพอากาศ พ.ศ. 2480 ซึ่งเรียกว่า '' ข้อบังคับทหารว่าด้วยการกำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศเวลาปกติ 80'' ประเภทใช้เมื่อ 6 กันยายน 2480 ในอัตรากองทัพอากาศดังกล่าว กำหนดให้มีหมวดทหารราบขึ้น ซึ่งมีนายทหารสัญญาบัตร, นายทหารประทวน และพลทหารจำนวนหนึ่งขึ้นในกองทัพอากาศ หมวดทหารราบนี้ขึ้นตรงต่อผู้บังคับกองบินน้อย และหมวดทหารราบดังกล่าว ได้มีประจำอยู่ในกองบินน้อยที่ 1, 2, 3, 4,และ 5 หมวดทหารราบทั้ง 5 หน่วยนี้ นับว่าเป็นการเริ่มแรกที่กองทัพอากาศได้มีทหารราบขึ้น (ทั้งนี้หมายความว่า ''ทหารเหล่าอากาศโยธินได้ถือกำเนิดขึ้นแล้วในกองทัพอากาศ'') 

 
ทหารสังกัดกรมทหารอากาศโยธินรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ในเครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์

           การจัดกำลังของหมวดทหารราบใน พ.ศ. 2480 มีการจัดเหมือนกันทั้งหมดทั้ง 5 กองบินคือ หมวดทหารราบขึ้นตรงต่อผู้บังคับกองบินน้อย ในหมวดทหารราบนั้นประกอบด้วยผู้บังคับหมวด ผู้ช่วยผู้บังคับหมวด ผู้บังคับหมู่ ผู้ช่วยผู้บังคับหมู่ และลูกแถวปีที่ 1 และปีที่ 2 สำหรับผู้บังคับหมวดนั้น ใช้นายทหารสัญญาบัตรนักบิน ประจำหมวดเป็นผู้บังคับหมวดทหารราบ

           พ.ศ. 2481-2482 ได้กำหนดการจัดกำลังของหมวดทหารราบตามข้อบังคับทหาร ว่าด้วยกำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศในเวลาปกติ 81 ได้กำหนดให้มีหมวดทหารราบประจำโรงเรียนการบินขึ้นอีก 1 หมวด พร้อมทั้งมีพลขลุ่ยกลองเพิ่มขึ้นในหมวดทหารราบ ฉะนั้นในปี พ.ศ. 2481-2482 จึงมีหมวดทหารราบประจำกองบินน้อยที่ 1,2,3,4,5 และ โรงเรียนการบิน รวมทั้งสิ้นเป็น 6 หมวดนับว่าทหารราบได้ขยายกิจการเพิ่มขึ้นในกองทัพอากาศอีก 1 หมวด ส่วนการจัดกำลังนั้นยังคงเป็นไปตามแบบเดิมคือไม่มีการเปลี่ยนแปลง

          พ.ศ. 2483-2490 ได้ยกเลิกข้อบังคับทหาร ว่าด้วยกำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศในเวลาปกติ 81 ใช้ข้อบังคับทหารว่าด้วยการกำหนดเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศในเวลาปกติ 83 การจัดกำลังและเจ้าหน้าที่ต่างๆ ในหมวดทหารราบกองบินน้อยที่ 1, 2, 3, 4, 5, และโรงเรียนการบินคงเป็นไปในรูปเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใด

          ในระหว่างมหาสงครามเอเชียบูรพา กองทัพอากาศได้จัดตั้งกองพันทหารราบของกองทัพอากาศสนามขึ้นเป็นพิเศษมีภารกิจเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว โดยมี นาวาอากาศตรี ถนอม ปิณฑะแพทย์ เป็นผู้บังคับกองพันและได้ยุบเลิกไปภายหลังสงคราม

          พ.ศ. 2491-2492 ทางราชการได้ยกเลิกอัตรากองทัพอากาศ 83 และได้ประกาศอัตรากองทัพอากาศ 91 ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม(พิเศษ)ที่ 49/19127 ลง 9 พฤศจิกายน 2491 เรื่อง การจัดส่วนราชการตามอัตรากองทัพอากาศ ได้มีส่วนกำลังรบในกองทัพอากาศเกิดขึ้นอีกส่วนหนึ่งคือ '' กรมอากาศโยธิน'' มีส่วนราชการขึ้นตรง คือ

  • กองทหารสื่อสาร กรมอากาศโยธิน
  • หมวดเสนารักษ์ กรมอากาศโยธิน
  • กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 1 กรมอากาศโยธิน
  • กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 2 กรมอากาศโยธิน
  • กองพันทหารราบ กรมอากาศโยธิน
  • กองศึกษาทหารส่งทางอากาศ กรมอากาศโยธิน

ถึงแม้ว่าอัตรากองทัพอากาศจะได้กำหนดกรมอากาศโยธินไว้ในอัตราแล้วก็จริง ในปี 2491 และปี 2492 ทางราชการก็ยังมิได้บรรจุเจ้าหน้าที่ต่างๆ เข้าปฏิบัติงานในกรมอากาศโยธินแต่อย่างใด ฉะนั้น กรมอากาศโยธิน ใน พ.ศ. 2491 - 2492 ก็มีเพียงแต่โครงร่างเท่านั้น

          พ.ศ. 2493 ทางราชการกองทัพอากาศได้มีคำสั่งให้บรรจุเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ เข้าปฏิบัติงานในกรมอากาศโยธิน เมื่อ 1 เมษายน 2493 โดยมี พลอากาศตรี หลวงเจริญจรัมพร เป็นผู้รักษาการ สถานที่ตั้งกองบังคับการ ณ อาคารด้านทิศเหนือของกองบินน้อยที่ 6 การบรรจุเจ้าหน้าที่ต่างๆนั้น กรมอากาศโยธินได้รับการโอนกิจการด้านทหารอากาศโยธินจากกองบินน้อยที่ 1 และกองบินน้อยที่ 6 ซึ่งในปีนี้ได้จัดตั้งกองพันทหารราบ และกองพันทหารต่อสู้อากาศยาน หรือเรียกย่อๆว่า อย.พัน.ร.และ อย.ตอ.พัน 1 ตามคำสั่งกองทัพอากาศที่ 386/16795 ลง 17 ตุลาคม 2493 เลิกกิจการ ทหารราบของกองบินน้อยที่ 1 และกองบินน้อยที่ 6 โอนกิจการให้แก่กรมอากาศโยธิน แต่กิจการทหารราบที่กรมอากาศโยธินได้รับโอนจากกองบินน้อยที่ 1 นั้นเรียกชื่อว่ากองพันทหารราบกรมอากาศโยธิน ส่วนที่ได้รับการโอนจากกองบินน้อยที่ 6 นั้นเรียกว่า กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 1 การรับโอนกิจการนี้ได้กระทำสำเร็จเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2493

          พ.ศ. 2494 นับตั้งแต่กรมอากาศโยธินได้นำเนินการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายด้วยดี เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็พยายามปฏิบัติงานกันโดยสุดความสามารถ เพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายตามที่ทางราชการมอบให้ แต่ในปี 2494 นี้ทางราชการได้มี คำสั่งเฉพาะผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ 13234 / 2494 ลง 16 กรกฎาคม 2494 ให้ยุบเลิกกิจการของกรมอากาศโยธิน และคำสั่งเฉพาะผู้บัญชาการทหารอากาศ ลับด่วนที่ 12430 / 2494 ลง 4 กรกฎาคม 2494 ให้กรมอากาศโยธินโอนการบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ต่างๆ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้แก่ส่วนราชการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ คือ .-

  • กองพันทหารราบ กรมอากาศโยธินไปขึ้นกองบินน้อยที่ 1
  • กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 1 กรมอากาศโยธินไปขึ้นกองบินน้อยที่ 6
  • สิ่งของเครื่องใช้ของกองบัลคับการกรมอากาศโยธินให้มอบให้กรมการบำรุงทหารอากาศ
  • ยานพาหนะสำหรับใช้ประจำกองบังคับการ กรมอากาศโยธิน ให้มอบให้แผนกโยธาพาหนะทหารอากาศ
  • อาวุธกระสุน ตลอดจนเครื่องประกอบของอาวุธ ที่กรมอากาศโยธินเก็บรักษาไว้ ให้มอบให้กรมสรรพวุธทหารอากาศ

          ฉะนั้นกรมอากาศโยธินใน พ.ศ. 2494 ได้สลายตัวไปจากกองทัพอากาศ แต่การยุบเลิกกิจการตามคำสั่งฯ ดังกล่าวนั้นเป็นเพียงแต่กิจการ ส่วนอัตรากำหนดเจ้าหน้าที่ของกรมอากาศโยธินตามอัตราการจัดกำลังกองทัพอากาศ พ.ศ. 2491 ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม   โดยมิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดถึงแม้ฉะนั้นทางราชการก็ได้แก้ไขอัตรากองทัพอากาศ 91 (ครั้งที่ 8) ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (พิเศษ) ที่ 63/17935 ลง 26 กันยายน 2494 โดยมีผลบังคับตั้งแต่ กรกฎาคม 2494 ฉะนั้นกรมอากาศโยธินที่ล้มเลิกกิจการไปขึ้นอยู่กับกองบินน้อยที่ 1 และกองบินน้อยที่ 6 จึงมีชื่อเรียกว่า '' กองทหารอากาศโยธิน กองบินน้อยที่ 1 และกองบินน้อยที่ 6'' และต่อจากนั้นบรรดาเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ทุกฝ่ายในกรมอากาศโยธินทางราชการได้มีคำสั่งย้ายเข้าปฏิบัติในส่วนราชการต่างๆ ในกองทัพอากาศตามฐานานุรูป ตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล

          พ.ศ. 2495-2496 ทางราชการได้ประกาศยกเลิกข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วย กำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศในเวลาปกติ พ.ศ. 2491 และได้ประกาศใช้อัตรากองทัพอากาศ 95 ซึ่งเรียกว่า ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยกำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศในเวลาปกติ พ.ศ. 2495 ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (พิเศษ) ที่ 12/2009 ลง 28 มกราคม 2496 การจัดส่วนราชการของกรมอากาศโยธินตามอัตรากองทัพอากาศ 95 นั้น ซึ่งแบ่งเป็นส่วนใหญ่ ๆ คือ.-

  • กองบังคับการ กรมอากาศโยธิน
  • แผนกบริการ กรมอากาศโยธิน
  • แผนกต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน
  • กองพันต่อสู้อากาศยาน ที่ 1, 2 กรมอากาศโยธิน
  • กองพันทหารราบ กรมอากาศโยธิน

 พ.ศ. 2495 ทางราชการได้เล็งเห็นความสำคัญของทหารอากาศโยธิน ซึ่งต้องมีในกองทัพอากาศไทย ฉะนั้นทางราชการจึงได้จัดตั้งกรมอากาศโยธินขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งโดยมี พลอากาศโท บุญชู จันทรุเบกษา เป็นผู้บังคับการกรม การปฏิบัติงานของกรมอากาศโยธิน ใน พ.ศ. 2495-2496 เป็นไปอย่างไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก เพราะยังไม่ได้โอนกิจการคืน ต่อมาได้มีคำสั่งกองทัพอากาศให้บรรจุเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ปฏิบัติงานในกรมอากาศโยธินบางส่วน

          พ.ศ. 2497 การดำเนินการของกรมอากาศโยธินในปีนี้เป็นรากฐานอย่างมั่นคง คือราชการกองทัพอากาศ ได้มีคำสั่งกองทัพอากาศ (พิเศษ) ที่ 94/5591 ลง 5 มีนาคม 2497 ให้จัดตั้งกองบังคับการกรมอากาศโยธิน และโอนการบังคับบัญชาต่าง ๆ คือ

  •  ให้กรมอากาศโยธินตั้งกองบังคับการขึ้น ณ ตึกกองบินพลเรือนชั้นล่าง (กรมจเรทหารอากาศปัจจุบัน) ในการจัดตั้งกองบังคับการกรมขึ้นนี้ ให้บรรจุเจ้าหน้าที่ในอัตราของกองบังคับการได้ตามความจำเป็น
  • สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของกองบังคับการกรมอากาศโยธิน ทางราชการก็ได้สั่งให้กรมการบำรุงทหารอากาศ มอบคืนให้แก่กองบังคับการกรมอากาศโยธิน
  • บรรดาอาวุธ กระสุน ตลอดจน เครื่องประกอบต่าง ๆ ของอาวุธ ให้กรมสรรพาวุธทหารอากาศมอบคืนให้แก่กองบังคับการกรมอากาศโยธิน

          เพื่อให้รัดกุมและเหมาะสมกับสถานการณ์ ทางราชการจึงให้โอนการบังคับบัญชา คือ

  1. กองพันทหารราบ กองบินน้อยที่ 1 และกองพันต่อสู้อากาศยานที่ 1 กองบินน้อยที่ 6 ขาดจากการบังคับบัญชาจากกองบินน้อยที่ 1 และกองบินน้อยที่ 6 ไปขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของผู้บังคับการกรมอากาศโยธิน
  2. ทหารกองประจำการที่เรียกไว้ในอัตรากองบินน้อยที่ 1 และกองบินน้อยที่ 6 เพื่อใช้ในหน้าที่ต่าง ๆ ให้ฝากการบังคับบัญชากับกองพัน?หารราบ และกองพันต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน
  3. การรักษาการณ์ด้านกองบินน้อยที่ 1 และกองบินน้อยที่ 6 ให้กองพันทหารราบ และกองพันต่อสู้อากาศยานที่ 1 กรมอากาศโยธิน เป็นผู้รับผิดชอบ

ในปีนี้ กรมอากาศโยธิน จึงได้ดำเนินการบรรจุเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ เพิ่มเติมเข้าปฏิบัติงานโดยเร่งรีบ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันตามภารกิจ

         พ.ศ. 2498 ได้มีการปรับปรุงอัตรากำลังพลกองทัพอากาศอีกครั้งหนึ่ง ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 14/3963 ลง 22 กุมภาพันธ์ 2498 ให้กำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศในเวลาปกติ พ.ศ. 2498 เฉพาะกรมอากาศโยธินได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น 10 ส่วนคือ

  1. กองบริการ
  2. แผนกแพทย์
  3. กองต่อสู้อากาศยาน
  4. กองทหารราบ
  5. กองร้อยทหารสื่อสาร
  6. แผนกศึกษาทหารส่งทางอากาศ
  7. โรงเรียนจ่าอากาศกองประจำการ
  8. กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 1, 2
  9. กองพันทหารราบ
  10. สำนักงานผู้บังคับทหารอากาศดอนเมือง

          กรมอากาศโยธิน ในฐานะมีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาฝึกอบรมทหารอากาศโยธินให้มีสมรรถภาพสูงในการรบ และสนับสนุนกำลังทางทหารอากาศ ป้องกันสนามบินและสถานที่ราชการของกองทัพอากาศ การจัดส่วนราชการของกองทัพอากาศตามกระทรวงกลาโหมดังกล่าวแล้วเบื้องต้น จึงจัดกรมอากาศโยธินไว้ในส่วนกำลังรบของกองทัพอากาศ โดยมี พลอากาศโท บุญชู จันทรุเบกษา เป็นผู้บังคับการกรม และมี พลอากาศโทจัตวา หาญ ขำพิพัฒน์ เป็นรองผู้บังคับการกรม

          พ.ศ. 2499-2504 การจัดส่วนราชการและอัตรากำลังพล ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ยังคงใช้อัตราเดิมเช่นเดียวกับปี พ.ศ. 2498 

แต่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งกรมอากาศโยธิน คือ.-

          พ.ศ. 2502 ประมาณเดือน มิถุนายน กรมอากาศโยธินได้ย้ายกองบังคับการมาตั้ง ณ ตึกโรงเรียนนายเรืออากาศปีที่ 5 ทางด้านทิศตะวันออกของกองทัพอากาศ ซึ่งกรมอากาศโยธินได้รับการโอนจากกรมยุทธศึกษาทหารอากาศ

          พ.ศ. 2505 กรมอากาศโยธินมีการเปลี่ยนแปลง คือ สำนักงานผู้บังคับทหารอากาศดอนเมืองได้แยกออกจากกรมอากาศโยธิน ไปขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการทหารอากาศ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ และกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพอากาศ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2505

          พ.ศ. 2506  กรมอากาศโยธินได้เปลี่ยนการจัดส่วนราชการ ตามอัตราสกองทัพอากาศ พ.ศ. 2506 ซึ่งมีการจัดส่วนราชการดังนี้.-

  1. กองบริการ
  2. กองวิทยาการ
  3. กองพันทหารอากาศโยธน 1, 2, 3
  4. กองร้อยทหารสื่อสาร

          พ.ศ. 2507-2508 การจัดส่วนราชการและการจัดอัตรากำลังพลของกรมอากาศโยธิน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคงเหมือนกับปี พ.ศ. 2506 ทุกประการ

          พ.ศ. 2509 กรมอากาศโยธิน มีการเปลี่ยนแปลงการจัดส่วนราชการ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ 75/09 ลง 16 พฤศจิกายน 2509 โดยเพิ่มกองพันทหารอากาศโยธิน 4 อีกหน่วยหนึ่ง ส่วนการจัดอื่นๆ คงเดิม

          พ.ศ. 2510-2516 การจัดส่วนราชการและการจัดอัตรากำลังพล ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงการย้ายสถานที่ตั้งหน่วย ของกรมอากาศโยธิน คือ.-

             1. ในปี พ.ศ. 2510 มีการย้ายที่ตั้งกองพันทหารอากาศโยธิน 1 ไปอยู่ทางทิศตะวันตกของหัวสนามบินดอนเมืองด้านทิศใต้ ติดถนนวิภาวดีรังสิต เนื่องจากสถานที่เดิมซึ่งเป็นอาคารเก่าอยู่ทางทิศใต้ของกรมการเงินทหารอากาศ ติดกับโรงเก็บเครื่องบินของโรงงานการซ่อมกรมช่างอากาศ และพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศนั้น ต้องรื้อเพื่อให้พื้นที่แก่กระทรวงคมนาคม สำหรับสร้างลานจอดเครื่องบินจับโบ้เจ็ท

             2. ในปี พ.ศ. 2513 มีการย้ายสถานที่ทำการ ส่วนบังคับบัญชาของกรมอากาศโยธิน (เดิมอยู่รวมกับกองพันทหารอากาศโยธิน 2 ซึ่งตั้งอยู่ด้านพหลโยธิน) ไปอยู่รวมกันกับกองพันทหารอากาศโยธิน 1 ซึ่งเป็นอาคารสร้างใหม่ตั้งอยู่ด้านถนนวิภาวดีรังสิต การย้ายที่ทำการส่วนบังคับบัญชากรมอากาศโยธินนี้ ย้ายเฉพาะบางส่วนเท่านั้น ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการ, แผนกการเงิน, แผนกแพทย์, แผนกสารบรรณ, กองวิทยาการ และห้องทำงานของผู้บังคับบัญชา สำหรับสถานที่เดิมได้ใช้เป็นที่ทำการของกองพันทหารอากาศโยธิน 2 เพื่อขยายสถานที่ทำงานให้กว้างขึ้น

          พ.ศ. 2517 การจัดส่วนราชการและการจัดอัตราส่วนกำลังพลของกรมอากาศโยธินได้มีการเปลี่ยนแปลง คือมีกองร้อยสุนัขทหารเพิ่มขึ้นอีกหน่วยหนึ่ง โดยจัดตั้งขึ้นเป็นอัตราเพื่อพลาง เมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ตามคำสั่งกองทัพอากาศ (เฉพาะ) ที่ 167/17 ลง 14 มิถุนายน 2517 และต่อมาได้พิจารณาให้เป็นอัตราปกติ เมื่อ 25 ธันวาคม 2517 ตามคำสั่งกองทัพอากาศ (เฉพาะ) ที่ 303/17 ลง 25 ธันวาคม 2517 เรื่องแก้อัตรากองทัพอากาศ พ.ศ. 2506 (ครั้งที่ 69) เดิมกิจการสุนัขทหาร กองทัพอากาศได้เริ่มมีตั้งแต่ ปี 2514 โดยมีสุนัขทหารประจำอยู่ตามฐานบินต่าง ๆ และในปี 2517 กองร้อยสุนัขทหารได้มีขึ้นที่กรมอากาศโยธินเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นศูนย์กลางในการควบคุมสุนัขทหารทั้งหมดในกองทัพอากาศ

          พ.ศ. 2518-2519 การจัดส่วนราชการและการจัดอัตรากำลังพลของกรมอากาศโยธินไม่มีการเปลี่ยนแปลงคงเหมือนกับปี 2517 ทุกประการ

          พ.ศ. 2520 การจัดส่วนราชการของกรมอากาศโยธินไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการจัดอัตรากำลังพล ตามคำสั่ง ทอ. (เฉพาะ) ลับที่ 151/20     ลง 26 กันยายน 2520 ให้แก้ไขอัตรากองทัพอากาศปี 2506 ดังนี้.-

  • ตำแหน่งผู้บัญชากรมอากาศโยธิน เดิมอัตรา พลอากาศตรี แก้เป็นอัตรา พลอากาศโท
  • ตำแหน่ง รองผู้บัญชากรมอากาศโยธิน เดิมอัตรา นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แก้เป็น อัตรา พลอากาศตรี
  • ตำแหน่งหัวหน้ากอง กองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน เดิมอัตรา นาวาอากาศเอก แก้เป็น ตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน อัตรา นาวาอากาศเอกพิเศษ
  • ตำแหน่ง รองหัวหน้ากอง กองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน เดิมอัตรา นาวาอากาศโท แก้เป็นตำแหน่ง รองผู้อำนวยการกองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน อัตรา นาวาอากาศเอก

          พ.ศ. 2521 มีการเปลี่ยนแปลงการจัดส่วนราชการของกรมอากาศโยธิน ดังนี้.-

             1. เพิ่มหมวดเป้าบินขึ้นในกองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน โดยยุบเลิกตำแหน่งต่าง ๆ ในกรมอากาศโยธินที่ไม่สำคัญมาตั้งเป็น '' หมวดเป้าบิน'' ขึ้นตรงต่อ กองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน เดิมโครงการจัดตั้งตามหมวดเป้าบินนี้ ได้เริ่มตั้งแต่ ปี 2519 เป็นนโยบายของ พลอากาศตรี อัมพร คอนดี ผู้บัญชาการกรมอากาศโยธิน ในขณะนั้น ซึ่งได้เริ่มขึ้นทดรองก่อนโดย กรมช่างอากาศ เป็นผู้ดำเนินการให้ สำหรับภารกิจของหมวดเป้าบิน คือ ทำเครื่องบินเล็กใช้ในการฝึกเล็งและยิงปืนต่อสู้อากาศยานด้วยกระสุนจริง

             2. เริ่มใช้อัตรากองร้อยรถเกราะ (เพื่อพลาง) เป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อกรมอากาศโยธิน มีภารกิจในการเตรียมกำลังกองร้อยรถเกราะ เพื่อปฏิบัติภารกิจการลาดตระเวน ระวังป้องกันและสนับสนุนการป้องกันฐานที่ตั้งของกองทัพอากาศตลอดทั้งการปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

          พ.ศ. 2522 การจัดส่วนราชการ และการจัดอัตรากำลังพลของกรมอากาศโยธิน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คงเหมือนกับปี 2521 ทุกประการ

          พ.ศ. 2523-2524 การจัดส่วนราชการ และการจัดอัตรากำลังพลของกรมอากาศโยธิน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในปี 2523 ได้มีการสถาปนากองพันทหารอากาศโยธิน 1 กรมอากาศโยธินเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ ตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีที่ สร 1201/24895 ลง 10 กันยายน 2523 

          พ.ศ. 2525 มีการเปลี่ยนแปลงการจัดส่วนราชการ และการจัดอัตรากำลังพลของกรมอากาศโยธินใหม่ เนื่องจากกองทัพอากาศมีนโยบายรวมกิจการสำนักงานผู้บังคับทหารอากาศดอนเมือง ให้เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกรมอากาศโยธิน (เดิมสำนักงานผู้บังคับทหารอากาศดอนเมือง เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกรมอากาศโยธินตังแต่ปี 2498 ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 14/3963 ลง 22 กุมภาพันธ์ 2498 ต่อมาได้แยกจากกรมอากาศโยธิน ไปขึ้นตรงของกองทัพอากาศเมื่อปี 2505) จาการแก้ไขอัตรากองทัพอากาศ ตามพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการ และกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพอากาศ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2525 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 210 ลง 23 ธันวาคม 2524 และคำสั่งกองทัพอากาศ (เฉพาะ) ลับที่ 99/25 ลง 12 เมษายน 2525 เรื่องแก้อัตรากองทัพอากาศ 06 (ครั้งที่ 332) ให้สำนักงานผู้บังคับทหารอากาศดอนเมือง เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกรมอากาศโยธินตั้งแต่ 9 มีนาคม 2525 เป็นต้นไป กรมอากาศโยธิน จึงมีการจัดส่วนราชการใหม่ ดังนี้

  1. กองบัญชาการ
  2. กรมทหารราบ
  3. กรมทหารต่อสู้อากาศยาน
  4. กรมปฏิบัติการพิเศษ
  5. กองทหารสื่อสาร
  6. สำนักงานผู้บังคับทหารอากาศดอนเมือง
  7. กองวิทยาการ
  8. กองดุริยางค์ทหารอากาศ
  9. กองสนับสนุน
  10. เรือนจำทหารอากาศ

          สำหรับการย้ายที่ตั้ง กรมอากาศโยธินในปี 2525 มีการเปลี่ยนแปลงตามโครงการย้ายที่ตั้ง กองบัญชาการกองทัพอากาศหลายประการ กล่าวคือ

             1. เรือนจำทหารอากาศ ได้ย้ายจากหน่วยที่ตั้งเดิม ซึ่งอยู่หลังพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ ฝั่งตะวันออกของสนามบินดอนเมือง เข้าที่ตั้งใหม่บริเวณทุ่งสีกัน     และกองร้อยสุนัขทหารได้ย้ายจากหน่วยที่ตั้งเดิม ซึ่งอยู่ตรงโค้งตะวันออกของสนามบินดอนเมือง ไปอยู่บริเวณเดียวกันกับเรือนจำทหารอากาศ โดยย้ายเสร็จเรียบร้อยเมื่อ 3 พฤษภาคม 25625 สำหรับสิ่งก่อสร้างใหม่ได้แก่ อาคารกองร้อยสุนัขทหาร, อาคารเรือนจำทหารอากาศ, บ้านพักข้าราชการชั้นเรืออากาศ 2 หลัง ตึกแถว 10 ครอบครัว 2 แถว, รั้ว - ถนน, ระบบผลิตน้ำประปาจากบ่อบาดาล และระบบไฟฟ้า

             2. กรมทหารต่อสู้อากาศยาน (กองพันทหารอากาศโยธิน 2 เดิม) ได้ย้ายเข้าที่ตั้งใหม่ที่ลาดเป็ด ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของกองทัพอากาศ อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของถนนพหลโยธิน ติดกับถนนวิภาวดีรังสิต โดยย้ายเสร็จเรียบร้อยเมื่อ 17 ธันวาคม 2525 สิ่งก่อสร้างใหม่ของกรมต่อสู้อากาศยาน ได้แก่ อาคารกองบังคับการ, กองพันทหารต่อสู้อากาศยาน 1, บ้านพักข้าราชการชั้นเรืออากาศ 2 หลัง, ตึกแถว 10 ครอบครัว 7 แถว, สถานีและหอฝึกกระโดดร่ม, รั้ง - ถนน, ระบบผลิตน้ำประปาจากบ่อบาดาล, ระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร

             3. กรมทหารราบ (กรมทหารอากาศโยธิน 1 เดิม) ได้ย้ายที่ตั้งหน่วยจากพพื้นที่ฝั่งตะวันตกของสนามบินดอนเมืองด้านถนนวิภาวดีรังสิต มาอยู่แทนที่กรมทหารต่อสู้อากาศยาน (กรมทหารอากาศโยธิน 2 เดิม) ด้านถนนพหลโยธินฝั่งตะวันออก เมื่อ 23 ธันวาคม 2525 เนื่องจากต้องส่งมอบอาคารและพื้นที่ให้แก่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เพื่อเข้าไปใช้ประโยชน์แทน    จาการย้ายที่ตั้งหน่วยตามโครงการย้ายที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพอากาศดังกล่าว กรมอากาศโยธินจึงได้รับงบประมาณ เพื่อก่อสร้างอาคารกองบังคับการกรมอากาศโยธินเป็นการถาวร โดยใช้พื้นที่ว่างระหว่าง แผนกอำนวยการกองบิน 6 กับกรมทหารราบ เป็นสถานที่ก่อสร้าง และได้กำหนดการก่อสร้างในปีต่อไป

          พ.ศ. 2526-2530 การจัดส่วนราชการและการจัดอัตรากำลังของกรมอากาศโยธิน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คงเหมือนกับปี 2525 ทุกประการ[4][5]

หน่วยขึ้นตรง หน่วยบัญชาอากาศโยธิน

แก้
  • ศูนย์การทหารอากาศโยธิน
  • กรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์
  • กรมทหารต่อสู้อากาศยาน รักษาพระองค์
  • กรมปฏิบัติการพิเศษ
  • กองดุริยางค์ทหารอากาศ
  • สหกรณ์ออมทรัพย์หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

อ้างอิง

แก้