พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ
พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 (2 ตุลาคม ค.ศ. 1452 – 22 สิงหาคม ค.ศ. 1485) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษตั้งแต่ ค.ศ. 1483 จนพระองค์เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1485 ในยุทธการที่บอสเวิร์ธฟิลด์ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ยอร์กและราชวงศ์แพลนแทเจเนต ความปราชัยของพระองค์ที่บอสเวิร์ธฟีลด์ อันเป็นยุทธการชี้ขาดครั้งสุดท้ายของสงครามดอกกุหลาบเป็นจุดสิ้นสุดของยุคกลางในประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงเป็นตัวละครของเรื่องละครบันเทิงคดีประวัติศาสตร์ ริชาร์ดที่ 3 โดย วิลเลียม เชกสเปียร์
พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 | |
---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ | |
ครองราชย์ | 26 มิถุนายน 1483– 22 สิงหาคม 1485 (2 ปี 57 วัน) |
ราชาภิเษก | 6 กรกฎาคม 1483 |
ก่อนหน้า | พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 |
ถัดไป | พระเจ้าเฮนรีที่ 7 |
พระราชสมภพ | 2 ตุลาคม ค.ศ. 1452 ปราสาทฟอเธอริงเฮย์, นอร์แทมป์ตันเชอร์ |
สวรรคต | 22 สิงหาคม ค.ศ. 1485 บอสเวิร์ธฟิลด์, เลสเตอร์เชอร์ | (32 ปี)
ฝังพระบรมศพ | มหาวิหารเลสเตอร์ (ตั้งแต่ 2015) |
ชายา | แอนน์ เนวิลล์ |
พระราชบุตร | เอ็ดเวิร์ดแห่งมิลเดิลแฮม จอห์นแห่งโกลเชสเตอร์ (นอกกฎหมาย) แคเธอรีน (นอกกฎหมาย) |
ราชวงศ์ | ยอร์ก |
พระราชบิดา | ริชาร์ด แพลนแทเจเนต ดยุกแห่งยอร์ก |
พระราชมารดา | เซซิลี เนวิลล์ |
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
ลายพระอภิไธย |
เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 พระเชษฐา เสด็จสวรรคตในเดือนเมษายน ค.ศ. 1483 พระเจ้าริชาร์ดได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าผู้อารักขาราชอาณาจักรแด่พระราชโอรสและผู้สืบมรดกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด คือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 วัย 12 พรรษา เมื่อยุวกษัตริย์เสด็จจากลัดโลว์ (Ludlow) ไปกรุงลอนดอน ริชาร์ดพบและนำพระองค์ไปที่พักแรมในหอคอยลอนดอน ที่ซึ่งพระเชษฐาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ริชาร์ดแห่งชูลส์บรีเข้าร่วมด้วยในอีกไม่นานให้หลัง มีการจัดเตรียมพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1483 แต่ก่อนยุวกษัตริย์จะทันได้สวมมงกุฎ มีการประกาศให้การเสกสมรสระหว่างพระราชชนกกับพระราชชนนี เอลิซาเบธ วูดวิลล์ เป็นโมฆะ ทำให้บุตรของทั้งสองมิชอบด้วยกฎหมายและไม่มีสิทธิในราชบัลลังก์ ในวันที่ 25 มิถุนายน สมัชชาขุนนางและสามัญชนสนับสนุนการกล่าวอ้างนี้ วันรุ่งขึ้น พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เริ่มทรงราชย์ และพระองค์ทรงได้รับสวมมงกุฎ ไม่พบยุวกษัตริย์ในที่สาธารณะอีกหลังเดือนสิงหาคม และมีการกล่าวหาแพร่สะพัดว่ายุวกษัตริย์ถูกฆ่าตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าริชาร์ด นำไปสู่ตำนานเจ้าในหอคอย (Princes in the Tower)
มีการกบฏใหญ่สองครั้งต่อพระเจ้าริชาร์ด ครั้งแรกใน ค.ศ. 1483 นำโดยพันธมิตรสายโลหิตของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4[1] และโดยอดีตพันธมิตรของพระเจ้าริชาร์ด เฮนรี สตัฟฟอร์ด ดยุกที่ 2 แห่งบักกิงแฮม การก่อการกำเริบนี้ล่มสลาย และในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1485 เฮนรี ทิวดอร์ เอิร์ลที่ 2 และลุง แจสเปอร์ ทิวดอร์ ดยุกที่ 1 แห่งเบดฟอร์ด นำการกบฏอีกหนหนึ่งของพระเจ้าริชาร์ด เฮนรี ทิวดอร์นำทหารฝรั่งเศสกองเล็ก ๆ ขึ้นบกทางใต้ของเวลส์แล้วเดินทัพผ่านบ้านเกิด เพมบรุกเชียร์ แล้วเกณฑ์ทหารเพิ่ม กำลังของเฮนรีโรมรันกับกองทัพของพระเจ้าริชาร์ดและพิชิตได้ที่ยุทธการที่บอสเวิร์ธฟีลด์ในเลสเตอร์เชอร์ พระเจ้าริชาร์ดถูกปลงพระชนม์ในสมรภูมิ ทำให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษพระองค์สุดท้ายที่เสด็จสวรรคตในการยุทธ์บนแผ่นดินเกิด และเป็นพระองค์แรกนับแต่พระเจ้าแฮโรลด์ที่ 2 ซึ่งถูกปลงพระชนม์ที่ยุทธการที่เฮสติ้งส์เมื่อ ค.ศ. 1066
พระบรมศพถูกฝังโดยปราศจากพิธี[2] เชื่อว่าสุสานดั้งเดิมถูกทำลายระหว่างการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ และพระบรมศพยังสาบสูญอีกกว่าห้าศตวรรษ[3] ใน ค.ศ. 2012 มีการขุดโบราณคดีบนที่จอดรถสภานครแห่งหนึ่งโดยใช้เรดาร์ทะลุพื้นดินบนแหล่งขุดอันเคยเป็นที่ตั้งของเกรย์ไฟรอาส์ (Greyfriars) เลสเตอร์ มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ยืนยันเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 ว่า โครงกระดูกที่พบในการขุดเป็นโครงกระดูกของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3[4] โดยอาศัยผลการหาอายุด้วยคาร์บอนรังสี การเทียบกับรายงานลักษณะภายนอกของพระองค์ร่วมสมัย และการเทียบกับดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียกับผู้สืบสันดานฝ่ายมารดาสองคนของแอนน์แห่งยอร์ก พระเชษฐภคินีองค์โตสุด[5][6][7] พระบรมศพถูกฝังในมหาวิหารเลสเตอร์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 2015[8]
เบื้องต้น
แก้พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เสด็จพระราชสมภพที่ปราสาทโฟเธอริงเฮย์เป็นบุตรคนสุดท้องและองค์ที่สี่ที่รอดชีวิตมาจนโตของริชาร์ด แพลนแทเจเนต ดยุกที่ 3 แห่งยอร์ก (ผู้อ้างสิทธิในบัลลังก์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 6) และเซซิลี เนวิลล์ ดัชเชสแห่งยอร์ก ริชาร์ดใช้เวลาเมื่อยังทรงพระเยาว์ส่วนใหญ่ที่ปราสาทมิดเดิลแฮมที่เวนสลีย์เดลภายใต้การให้การศึกษาของริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลที่ 16 แห่งวอริก ผู้ที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์ว่า “ผู้สร้างกษัตริย์” (The Kingmaker) เพราะเป็นผู้มีอิทธิพลต่อแนวทางการเป็นไปของสงครามดอกกุหลาบมาก
เมื่อพระบิดาและพระเชษฐา (เอ็ดมันด์ เอิร์ลแห่งรัทแลนด์) สิ้นพระชนม์และพระเชษฐาขึ้นครองราชย์เป็นที่ยุทธการที่เวกฟิลด์ ริชาร์ดซึ่งยังทรงพระเยาว์ถูกนำตัวไปอยู่ในการดูและของเอิร์ลแห่งวอริก ขณะที่ริชาร์ดอยู่ที่วอริคทรงเป็นสหายกับฟรานซิส โลเวลล์ ไวเคานต์โลเวลล์ที่ 1 ซึ่งทรงสนิทสนมด้วยตลอดพระชนม์ชีพ แอนน์ เนวิลล์เป็นอีกผู้หนึ่งที่พำนักที่วอริกผู้ที่ต่อมาอภิเษกสมรสกับริชาร์ด
รัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4
แก้ระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 พระเชษฐา ริชาร์ดทรงแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์และความสามารถทางการทหารในฐานะนายทัพจนทรงได้รับพระราชทานดินแดนผืนใหญ่ทางเหนือของอังกฤษและทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นดยุกแห่งกลอสเตอร์และผู้ครองภาคเหนือ (Governor of the North) ริชาร์ดกลายเป็นเจ้านายผู้มีฐานะมั่งคั่งและอิทธิพลมากที่สุดรองจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ต่างจากพระเชษฐาองค์อื่นที่มีอันเป็นไป จอร์จ แพลนแทเจเนต ดยุกที่ 1 แห่งแคลเรนซ์ ที่ถูกสำเร็จโทษโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเพราะเป็นกบฏ
ริชาร์ดทรงปกครองทางเหนือของอังกฤษจนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เสด็จสวรรคต ในปี ค.ศ. 1482 ริชาร์ดยึดเบอร์วิก-อัปพอน-ทวีดกลับจากสกอตแลนด์ และการปกครองในบริเวณที่ยึดครองของพระองค์ถือว่าเป็นไปโดยยุติธรรมโดยการทรงสร้างมหาวิทยาลัยและทรงบริจาคเงินแก่คริสต
ขึ้นครองราชย์
แก้เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1483 พระราชโอรสของพระองค์ก็ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 เมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษาโดยมีริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์ก พระอนุชาพระชนมายุ 9 พรรษาเป็นรัชทายาท ริชาร์ดทรงสั่งจับแอนโทนี วูดวิลล์ เอิร์ลที่ 2 แห่งริเวิร์ส ผู้ดูแลพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 (พระเชษฐาของพระนางเซซิลี เนวิลล์ในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4) และที่ปรึกษาประจำพระองค์อีกหลายคนและนำไปกักขังที่ปราสาทพอนทีแฟรก ต่อมาก็ทรงสำเร็จโทษโดยทรงกล่าวหาว่าร่วมกันวางแผนปลงพระชนม์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ต่อมาก็ทรงย้ายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 และพระอนุชาไปประทับที่หอคอยแห่งลอนดอน
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1483 ก็มีการอ่านแถลงการณ์หน้ามหาวิหารเซนต์พอลซึ่งเป็นการประกาศเป็นครั้งแรกของริชาร์ดว่าทรงยึดราชบัลลังก์ด้วยเหตุผลที่ว่าการอภิเษกสมรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ไม่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งทำให้พระราชโอรสของพระองค์ไม่มีสิทธิในราชบัลลังก์ และผู้ที่มีสิทธิถูกต้องในราชบัลลังก์จึงเป็นริชาร์ด แถลงการณ์สนับสนุนโดยพระราชบัญญัติที่ผ่านรัฐสภาตามหลักฐานการกล่าวอ้างของบิชอปราล์ฟ ชา ผู้ให้การว่าเป็นผู้ทำการสมรสระหว่างพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 กับเลดีเอลินอร์ ทาลบอทผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมาสมรสกับเอลิซาเบธ วูดวิลล์ผู้ต่อมาเป็นพระราชินีเอลิซาเบธ วูดวิลล์
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1483 ริชาร์ดก็ได้รับราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ ณ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ส่วนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 และพระอนุชาหายสาบสูญไปโดยไม่มีร่องรอย (จนปัจจุบัน) เป็นที่เชื่อกันว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 สังหารพระราชนัดดา แต่นักประวัติศาสตร์ก็ยังขัดแย้งกันอยู่เรื่องการเสียชีวิตของทั้งสองพระองค์และเหตุผลที่ที่ริชาร์ดขึ้นครองราชสมบัติ (เจ้าชายในหอคอยแห่งลอนดอน (Princes in the Tower))
การสวรรคตที่บอสเวิร์ธ
แก้เมื่อวันที่ 22 สิหาคม ค.ศ. 1485 พระเจ้าริชาร์ดทรงเผชิญกับกองทัพแลงคัสเตอร์ของเฮนรี ทิวดอร์ที่ทุ่งบอสเวิร์ธ ระหว่างการต่อสู้ริชาร์ด วิลเลียม สแตนลีย์ เอิร์ลที่ 1 แห่งดาร์บี เซอร์วิลเลียม สแตนลีย์ และ เฮ็นรี เพอร์ซีย์ เอิร์ลที่ 4 แห่งนอธัมเบอร์แลนด์ ละทิ้งพระเจ้าริชาร์ดไปเข้าข้างเฮนรี ทิวดอร์ การเปลี่ยนข้างนี้ทำให้กองกำลังของพระเจ้าริชาร์ดอ่อนแอลงซึ่งอาจจะมีส่วนในการทำให้พระองค์ต้องพ่ายแพ้ในที่สุด กล่าวกันว่าพระเจ้าริชาร์ดทรงต่อสู้อย่างกล้าหาญ ทรงสังหารผู้ถือธงของเฮนรีตกจากหลังม้าและเกือบจะเข้าถึงตัวเฮนรีเองแต่ทรงถูกล้อมและถูกปลงพระชนม์เสียก่อน
พระบรมศพที่เปลือยเปล่าถูกลากไปประจานตามถนนก่อนที่ถูกปลงที่โบสถ์เกรย์ไฟรอารส์ที่เลสเตอร์ ตามคำอ้างหนึ่งกล่าวว่าระหว่างการยุบอาราม พระบรมศพของพระองค์ถูกโยนลงไปในแม่น้ำซอร์ แต่หลักฐานอื่นกล่าวว่าอาจจะไม่เป็นจริงและพระบรมศพของพระองค์อาจจะยังอยู่ภายใต้ลานจอดรถที่เลสเตอร์ก็ได้ ในปัจจุบันมีป้ายติดเป็นอนุสรณ์ตรงมหาวิหารที่เชื่อกันว่าครั้งหนึ่งอาจจะเป็นที่ที่ปลงพระบรมศพของพระเจ้าริชาร์ด
อีกทฤษฏีหนึ่งก็ว่าพระเจ้าริชาร์ดทรงปรึกษาหมอดูที่เมืองเลสเตอร์ก่อนที่เข้าทำศึก หมอดูก็ทำนายว่า “ที่ใดที่เดือยฉลองพระบาทหักเมื่อทรงม้าไปสงคราม ที่นั่นก็จะเป็นที่ที่พระเศียรหักเมื่อเสด็จกลับ” เมื่อทรงขี่ม้าไปศึกเดือยฉลองพระบาทก็หักที่สะพานหินที่สะพานโบว์ ตำนานกล่าวว่าเมื่อนำพระบรมศพของพระองค์ประทับพาดหลังม้ากลับจากศึก พระเศียรของพระองค์ก็สะดุดกับหินก้อนเดียวกับที่ทำให้เดือยหักหลุดลงมา[9]
เฮนรี ทิวดอร์ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 7 และทรงสมานสัมพันธไมตรีกับราชวงศ์ยอร์กโดยการเสกสมรสกับเอลิซาเบธแห่งยอร์กพระราชธิดาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ซึ่งเป็นการทำให้สงครามดอกกุหลาบสิ้นสุดลง
อ้างอิง
แก้- ↑ Ross, Charles (1981). Richard III. Eyre Methuen. p. 105
- ↑ Ashdown-Hill, The Last Days of Richard III, p. 94 citing Polydore Vergil's "Historia Regum Angliae"
- ↑ Baldwin, David (1986). "King Richard's Grave in Leicester" (PDF). Leicester Archaeological and Historical Society. สืบค้นเมื่อ 15 January 2014.
- ↑ "Richard III DNA results announced – Leicester University reveals identity of human remains found in car park". Leicester Mercury. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 April 2013. สืบค้นเมื่อ 4 February 2013.
- ↑ Kennedy, Maev (4 February 2013). "Richard III: DNA confirms twisted bones belong to king". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 7 December 2014.
- ↑ "Richard III dig: DNA confirms bones are king". BBC News. 4 February 2013. สืบค้นเมื่อ 4 February 2013.
- ↑ Fricker, Martin (5 February 2013). "Edinburgh-based writer reveals how her intuition led archaeologists to remains of King Richard III". Daily Record and Sunday Mail. สืบค้นเมื่อ 5 February 2013.
- ↑ http://www.bbc.com/news/uk-england-leicestershire-32052800
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-07-25. สืบค้นเมื่อ 2008-03-30.
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ก่อนหน้า | พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 | กษัตริย์แห่งอังกฤษ (ราชวงศ์ยอร์ก) สาขาหนึ่งของราชวงศ์แพลนแทเจเนต (ค.ศ. 1483 – ค.ศ. 1485) |
พระเจ้าเฮนรีที่ 7 |