สภามุสลิมพม่า (Burma Muslim Congress)[1] ก่อตั้งในเวลาเดียวกับสันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ของอองซานและอูนุก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ที่ปยินมานา อูหย้าซะก์หรืออับดุล ราซัก ได้รับเลือกเป็นประธานสภามุสลิมพม่า และตัดสินใจเข้าร่วมกับสันนิบาตเสรีภาพประชาชนฯ และเขาได้เป็นประธานสันนิบาตในเขตมัณฑะเลย์ใน พ.ศ. 2489 รัฐบาลได้ยอมรับให้เขาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำที่เป็นชาวพุทธ และเข้าใจภาษาบาลี เขาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่ถูกสังหารพร้อมนายพลอองซาน[2]

อูหย้าซะก์ไม่ต้องการเห็นการแบ่งแยกทางศาสนา และต้องการให้ชนกลุ่มน้อยมุสลิมเป็นที่ยอมรับในพม่า แต่หลังจากที่เขาเสียชีวิตไป สิทธิเหล่านี้ถูกรัฐบาลพม่าต่อมาละเลย อูรัสชิดและอูขิ่นหม่องลัตได้เรียกร้องสิทธิของมุสลิมต่อมา แต่ชาวมุสลิมในพม่าไม่ได้ยอมรับบุคคลเหล่านี้ว่าเป็นตัวแทนของพวกเขาโดยแท้จริง

อูนุ นายกรัฐมนตรีหลังจากพม่าได้รับเอกราช ได้เรียกร้องให้สภามุสลิมพม่าออกจากการเป็นสมาชิกสันนิบาต ประธานคนใหม่ของสภามุสลิมพม่าคืออูขิ่นหม่องลัตตัดสินใจยุติกิจกรรมทางศาสนาอิสลามของสภาและเข้าร่วมกับสันนิบาตอีก ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและไม่ได้เป็นตัวแทนชุมชนมุสลิมในพม่า อูนุได้ประกาศให้ศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาประจำชาติ และควบคุมการฆ่าวัวของชาวมุสลิม โดยผ่อนปรนให้ในเทศกาลอีดิลอัดฮา แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของตำรวจ เจ้าหน้าที่มัสยิดที่มาสามารถควบคุมการฆ่าวัวได้จะถูกจับกุมและลงโทษ รัฐบาลของอูนุควบคุมการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของมุสลิมมากกว่าการเดินทางไปเนปาลหรือศรีลังกาของชาวพุทธ อย่างไรก็ตาม สภามุสลิมพม่าถูกขอให้สลายตัวใน พ.ศ. 2498 ต่อมา อูนุได้ขับสภามุสลิมพม่าออกจากสันนิบาตเมื่อ 30 กันยายน พ.ศ. 2499

อ้างอิง แก้

  1. "The Muslims of Burma" A study of a minority Group, Moshe Yegar, page 75 to 79
  2. “The Muslims of Burma” A study of a minority Group, by Moshe Yegar, page 75 footnote last paragraph