สงครามประชาชน (จีน: 人民战争; พินอิน: Rénmín zhànzhēng) หรือเรียก สงครามประชาชนยืดเยื้อ เป็นยุทธศาสตร์การทหาร-การเมืองที่ผู้นำปฏิวัติคอมมิวนิสต์และการเมืองชาวจีน เหมา เจ๋อตง (ค.ศ. 1893–1976) พัฒนาขึ้นครั้งแรก มโนทัศน์เบื้องต้นคือการรักษาการสนับสนุนของประชาชนและล่อข้าศึกให้อยู่ลึกเข้ามาในชนบท (เป็นการยืดเส้นทางกำลังบำรุง) ที่ซึ่งประชาชนจะทำให้ข้าศึกหมดกำลังโดยการสงครามเคลื่อนที่และกองโจรผสมกัน คอมมิวนิสต์ใช้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองและรัฐบาลคอมมิวนิสต์ใช้ในสงครามกลางเมืองจีน

นักลัทธิเหมาใช้คำนี้เป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้ปฏิวัติด้วยอาวุธระยะยาว หลังสงครามจีน–เวียดนาม ค.ศ. 1979 เติ้ง เสี่ยวผิงเลิกใช้สงครามประชาชนแล้วใช้ "สงครามประชาชนภายใต้ภาวะสมัยใหม่" แทน ซึ่งเปลี่ยนจากการพึ่งพาจำนวนพลเป็นเทคโยโลยีแทน ด้วยการรับ "สังคมนิยมที่มีลักษณะจีน" การปฏิรูปเศรษฐกิจขับเคลื่อนการลงทุนทางทหารและเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังลดจำนวนกำลังพลและส่งเสริมความเป็นอาชีพแทน

เวียดกงใช้ยุทธศาสตร์สงครามประชาชนอย่างหนักในสงครามเวียดนาม ทั้งนี้ ไม่ควรสับสนระหว่างสงครามยืดเยื้อกับทฤษฎี "โฟโก" (foco) ที่เช เกบาราและฟีเดล กัสโตรใช้ในการปฏิวัติคิวบา ค.ศ. 1959