การปฏิวัติคิวบา
การปฏิวัติคิวบา (สเปน: Revolución Cubana) เป็นการปฏิวัติด้วยอาวุธโดยขบวนการ 26 กรกฎาคมของฟิเดล กัสโตรต่อรัฐบาลผู้เผด็จการคิวบา ฟุลเฮนซิโอ บาติสตา ระหว่าง ค.ศ. 1953 และ 1959 ท้ายที่สุดบาติสตาถูกขับจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1959 และแทนที่ด้วยรัฐบาลปฏิวัตินำโดยกัสโตร รัฐบาลนี้ภายหลังปฏิรูปตามแนวทางคอมมิวนิสต์ และได้กลายมาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาใน ค.ศ. 1965[1]
การปฏิวัติคิวบา | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามเย็น | |||||||
กลุ่มนักปฏิวัติบนหลังม้าในปี 1959 หลังจากชัยชนะของการปฏิวัติ | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ขบวนการ 26 กรกฎาคม | รัฐบาลเผด็จการบาติสตา | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
ฟิเดล กัสโตร เช เกบารา ราอุล กัสโตร กามิโล ซิเอนฟูเอโกส ฮวน อัลเมย์ดา โบสเก ราอุล มาร์ติเนซ อารารัส ราโมส ลาตูร์ เรเน ลาตูร์ โรลันโด กูเบลา โรเบร์โต โรดริเกซ |
ฟุลเฮนซิโอ บาติสตา เอวโลฮิโอ กันติโย โฮเซ เกเบโด อัลเบร์โต เดล ริโอ ชาเบียโน โฮอากิน กาซิยัส กอร์เนลิโอ โรฮัส เฟร์นันเดซ ซูเอโร กันดิโด เอร์นันเดซ อัลเฟรโด อาบอน ลี อัลเบร์โต เดล ริโอ ชาเบียโน |
ขั้นต้น : 1953-1956
แก้การปฏิวัติคิวบาระยะแรกเริ่มขึ้นเมื่อกบฏติดอาวุธอย่างดีโจมตีค่ายทหารมองกาดาในซานเตียโกและค่ายทหารในบายาโมเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1953[2] ตัวเลขผู้เสียชีวิตฝ่ายกบฏในการรบแน่ชัดนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ อย่างไรก็ดี ในอัตชีวประวัติของเขา ฟิเดล กัสโตรอ้างว่ามีห้าคนเสียชีวิตในการสู้รบ และอีกห้าสิบหกคนถูกสังหารภายหลังโดยรัฐบาลบาติสตา[3] ในบรรดาผู้เสียชีวิตนั้นมีอาเบล ซานตามาริอา รองผู้บัญชาการการโจมตีค่ายทหารมองกาดา ผู้ถูกจำคุก ทรมานและประหารชีวิตวันเดียวกับการโจมตีนั้นด้วย[4] ผู้รอดชีวิต ซึ่งในนั้นรวมฟิเดล กัสโตร และน้องชาย ราอุล กัสโตร รุซ ถูกจับกุมหลังจากนั้นไม่นาน ในการพิจารณาที่เป็นการเมืองอย่างสูง ฟิเดล กัสโตรแถลงแก้ต่างนานเกือบสี่ชั่วโมง และปิดท้ายด้วยประโยค "พิพากษาผมเลย มันไม่สำคัญหรอก ประวัติศาสตร์จะยกโทษให้ผม" ฟิเดล กัสโตรถูกตัดสินจำคุก 15 ปีในเรือนจำเปรซิดิโอโมเดโล ตั้งอยู่บนเกาะสน ขณะที่ราอุลถูกตัดสินจำคุก 13 ปี
ใน ค.ศ. 1955 ภายใต้แรงกดดันทางการเมืองอย่างหนัก รัฐบาลบาติสตาปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดในคิวบา รวมทั้งมือก่อเหตุโจมตีมองกาดา บาติสตาถูกกล่อมให้ปล่อยพี่น้องกัสโตรพร้อมกันด้วย ซึ่งบางส่วนโดยครูเยสุอิตสมัยเด็กของฟิเดล[5]
หลังจากนั้น สองพี่น้องกัสโตรเข้าร่วมกับผู้ลี้ภัยอื่นในเม็กซิโกเพื่อเตรียมการปฏิวัติโค่นล้มบาติสตา โดยได้รับการฝึกจากอัลเบร์โต บาโย ผู้นำกำลังสาธารณรัฐนิยมในสงครามกลางเมืองสเปน ระหว่างช่วงนี้ ฟิเดลพบและเข้าร่วมกำลังกับนักปฏิวัติชาวอาร์เจนตินา เอร์เนสโต "เช" เกบารา[6]
ธันวาคม 1956 ถึงกลางปี 1958
แก้เรือยอตกรันมา มาถึงคิวบาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1956 ที่มีพี่น้องกัสโตรและสมาชิกขบวนการ 26 กรกฎาคมอื่นอีก 80 คน โดยสารบนเรือมาด้วย เรือดังกล่าวมาถึงสองวันช้ากว่ากำหนดเพราะเรือบรรทุกน้ำหนักมาก ไม่เหมือนระหว่างการแล่นระหว่างฝึกซ้อม[7] ความล่าช้านี้ดับความหวังแก่การประสานโจมตีร่วมกับขบวนการฝ่ายยาโน หลังมาถึงและหลบหนีจากเรือ กลุ่มกบฏเริ่มตีฝ่าเข้าไปในทิวเขาซิเอร์รามาเอสตรา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของคิวบา สามวันหลังการการเดินป่าเริ่มขึ้น กองทัพของบาติสตาโจมตีและสังหารผู้โดยสารมากับเรือแกรนมาส่วนมาก ขณะที่จำนวนแท้จริงนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่ทราบว่ามีผู้โดยสารมากับเรือไม่เกินยี่สิบคนจากเดิมแปดสิบสองคนรอดชีวิตจากการเผชิญหน้าครั้งแรกอันนองเลือดกับกองทัพคิวบาและหลบหนีเข้าสู่ทิวเขาซิเอร์รามาเอสตรา[8] กลุ่มผู้รอดชีวิตนั้นมีฟิเดล กัสโตร ราอุล กัสโตร และกามิโล ซิเอนฟูเอโกส ผู้รอดชีวิตที่กระจัดกระจาย คนเดียวหรือในกลุ่มเล็ก ท่องผ่านทิวเขามองหาคนอื่น ๆ ท้ายที่สุด ชายทั้งหมดกลับมาพร้อมหน้ากันอีกครั้ง ด้วยความช่วยเหลือของชาวนาผู้ฝักใฝ่ และจะก่อตั้งแกนนำของกองทัพกองโจร เซเลีย ซันเชซ และไอเด ซานตามาริอา (น้องสาวของอาเบล ซานตามาริอา) รวมอยู่ในนักปฏิวัติหญิงผู้สนับสนุนฟิเดล กัสโตรในทิวเขาด้วย
วันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1957 กลุ่มนักปฏิวัติอีกกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า หน่วยปฏิวัติ (Revolutionary Directorate) ซึ่งมีอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากนักศึกษา โจมตีทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงอาบานา พยายามลอบสังหารบาติสตาและรัฐประหาร การโจมตีดังกล่าวเป็นการฆ่าตัวตาย ผู้นำของหน่วย นักศึกษาโฮเซ อันโตนิโอ เอเชเบร์ริอา เสียชีวิตในการยิงปืนต่อสู้กับกำลังของบาติสตาที่สถานีวิทยุอาบานาซึ่งเขายึดไว้เพื่อเผยแพร่ข่าวการเสียชีวิตของบาติสตา มีผู้รอดชีวิตกลุ่มหนึ่งซึ่งมี ดร.อุมเบร์โต กัสเตโย (ผู้ซึ่งภายหลังเป็นผู้ตรวจการใหญ่ในเอสกัมไบร) และโรลันโด กูเบลา และเฟาเร โชมอน (ภายหลังเป็นผู้บัญชาการขบวนการ 13 มีนาคม มีศูนย์กลางในทิวเขาเอสกัมไบรในจังหวัดลัสบิยัส)[9]
หลังจากนั้น สหรัฐอเมริกาได้ลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลคิวบาและเรียกเอกอัครราชทูตกลับประเทศ ยิ่งบั่นทอนอาณัติของรัฐบาลไปอีก[10] การสนับสนุนบาติสตาในหมู่ชาวคิวบาเริ่มจางเจือไป อดีตผู้สนับสนุนไม่เข้าร่วมกับนักปฏิวัติก็วางตัวออกห่างจากบาติสตา แต่มาเฟียและนักธุรกิจสหรัฐยังสนับสนุนบาติสตาต่อไป[11]
รัฐบาลหันไปพึ่งการใช้วิธีรุนแรงบ่อยครั้งเพื่อรักษานครต่าง ๆ ของคิวบาให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล อย่างไรก็ดี ในทิวเขาซิเอร์รามาเอสตรา กัสโตร ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากฟรังก์ ปาอิส, ราโมส ลาตูร์, อูเบร์ มาโตส และคนอื่น ๆ จัดการโจมตีที่มั่นขนาดเล็กของกองกำลังบาติสตาอย่างเป็นผล เช เกบาราและราอุล กัสโตรช่วยฟิเดลรวมการควบคุมทางการเมืองของเขาในทิวเขานั้น โดยบ่อยครั้งผ่านการประหารชีวิตพวกที่ต้องสงสัยว่าภักดีบาติสตาหรือเป็นคู่แข่งอื่นของกัสโตร นอกเหนือจากนี้ กำลังนอกแบบติดอาวุธอย่างเลว ซึ่งรู้จักกันในชื่อ เอสโกเปเตโรส ก่อกวนกำลังของบาติสตาบริเวณตีนเขาและที่ราบของจังหวัดโอริเอนเต เอสโกเปเตโรสยังได้สนับสนุนทางทหารโดยตรงต่อกำลังหลักของกัสโตรโดยคุ้มครองเส้นทางเสบียงและแบ่งปันข่าวกรอง จนท้ายที่สุด ทิวเขาได้ตกอยู่ในการควบคุมของกัสโตร
นอกเหนือไปจากการต่อสู้ด้วยอาวุธแล้ว ฝ่ายกบฏยังใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้เกิดความได้เปรียบ มีการจัดตั้งสถานีวิทยุเถื่อน ซึ่งเรียกว่า วิทยุกบฏ ขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1958 กัสโตรและกำลังของเขากระจายเสียงข้อความของเขาทั่วประเทศจากในเขตแดนของศัตรู การกระจายเสียงวิทยุเป็นไปได้โดยการ์โลส ฟรังกิ อดีตคนรู้จักของกัสโตรผู้ซึ่งภายหลังเป็นชาวคิวบาลี้ภัยในปวยร์โตรีโก
ระหว่างช่วงนี้ กำลังของกัสโตรยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย ต่ำกว่า 200 คนเล็กน้อย ขณะที่กองทัพและกำลังตำรวจคิวบาอยู่ระหว่าง 30,000 ถึง 40,000 นาย อย่างไรก็ดี เมื่อทหารคิวบาสู้กับฝ่ายปฏิวัติก็ต้องถูกบีบให้ล่าถอยแทบทุกครั้งไป การห้ามสินค้าประเภทอาวุธ ซึ่งสหรัฐอเมริกากำหนดต่อรัฐบาลคิวบาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1958 มีส่วนสำคัญต่อความอ่อนแอของกองทัพบาติสตา กองทัพอากาศเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว เพราะไม่อาจซ่อมแซมอากาศยานโดยไม่นำเข้าชิ้นส่วนจากสหรัฐอเมริกา
ท้ายที่สุด บาติสตาสนองต่อความพยายามของกัสโตรด้วยการโจมตีทิวเขาแห่งนั้นในปฏิบัติการเบราโน ซึ่งฝ่ายกบฏเรียกว่า ลาโอเฟนซีบา กองทัพส่งทหารราว 12,000 นาย ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นทหารเกณฑ์ที่ไม่ได้รับการฝึก เข้าไปในทิวเขา ในการปะทะกันอย่างประปรายต่อเนื่อง กองโจรที่เด็ดเดี่ยวของกัสโตรชนะกองทัพคิวบา ในยุทธการที่หมู่บ้านลาปลาตา ซึ่งกินเวลาตั้งแต่วันที่ 11 ถึง 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1958 กำลังของกัสโตรเอาชนะทั้งกองพันได้ โดยจับกุมทหารเป็นเชลยได้ 240 คน ขณะที่เสียฝ่ายตนไปเพียง 3 คน อย่างไรก็ดี กระแสสงครามเกือบพลิกกลับในวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1958 เมื่อกองทัพของบาติสตาเกือบทำลายกองทัพขนาดเล็กประมาณ 300 คนของกัสโตรที่ยุทธการที่ลัสเมร์เซเดส ด้วยกำลังของเขาเสียเปรียบด้านจำนวน กัสโตรจึงร้องขอและได้รับการหยุดยิงชั่วคราวเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ในเวลาอีกเจ็ดวัน ขณะที่การเจรจาอันไร้ผลดำเนินไป กำลังของกัสโตรค่อย ๆ หลบหนีออกจากกับดัก จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม ทั้งกองทัพของกัสโตรได้หลบหนีกลับเข้าไปในทิวเขา และปฏิบัติการเวราโนสิ้นสุดลงเด็ดขาดด้วยความล้มเหลวของรัฐบาลบาติสตา
กลางปี 1958 ถึงมกราคม 1959
แก้วันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1958 หลังการโจมตีของบาติสตาล้มเหลว กำลังของกัสโตรเริ่มเปิดฉากบุกบ้าง ในจังหวัดโอริเอนเต (จังหวัดฃานเตียโกเดกูบา กรันมา กวนตานาโม และโอลกินปัจจุบัน) ฟิเดล กัสโตร, ราอุล กัสโตร และฮวน อัลเมย์ดา โบสเก มุ่งการโจมตีเป็นสี่สาย กำลังของกัสโตรลงจากเขาพร้อมอาวุธใหม่ที่ยึดได้จากฝ่ายรัฐบาลและที่ลักลอบนำเข้ามาโดยเครื่องบิน และได้รับชัยชนะขั้นแรกหลายครั้ง ชัยชนะครั้งสำคัญของกัสโตรที่กีซาและการยึดเมืองหลายเมืองได้สำเร็จ เช่น มัฟโฟ กอนตรามาเอสเตร และโอริเอนเตกลาง ทำให้ที่ราบเกาโตตกอยู่ในการควบคุมของเขา
ขณะเดียวกัน กบฏอีกสามกอง ภายใต้บัญชาของเช เกบารา, กามิโล ซิเอนฟูเอโกส และไฮเม เบกา รุกคืบไปทางตะวันตกมุ่งสู่ซานตากลารา เมืองหลวงของจังหวัดบียากลารา กองทัพของบาติสตาซุ่มโจมตีและทำลายกองของไฮเม เบกา แต่อีกสองกองที่เหลือไปถึงจังหวัดตอนกลาง ที่ซึ่งพวกเขาพยายามร่วมกับกลุ่มต่อต้านอีกหลายกลุ่มที่มิได้อยู่ภายใต้บัญชาของกัสโตร ตามข้อมูลของฟาเรีย เมื่อกองของเช เกบาราผ่านจังหวัดลัสบียัส และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทิวเขาเอสกัมไบร ที่ซึ่งกำลังหน่วยปฏิวัติต่อต้านคอมมิวนิสต์ (หรือที่ภายหลังเรียกว่า ขบวนการ 13 มีนาคม) ได้สู้รบกับกองทัพของบาติสตานานหลายเดือน ความไม่ลงรอยกันค่อย ๆ มีขึ้นระหว่างกบฏทั้งสองกลุ่ม อย่างไรก็ดี กองทัพกบฏผสมยังรุกคืบต่อไป และซิเอนฟูเอโกสได้รับชัยชนะครั้งสำคัญในยุทธการที่เมืองยากวาไฮเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1958 ทำให้เขาได้รับฉายา "วีรบุรุษแห่งยากัวไฮ"
วันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1958 ยุทธการซานตากลาราเกิดขึ้นในฉากแห่งความโกลาหลครั้งใหญ่ นครซานตากลาราเสียแก่กำลังผสมของเช เกบารา, ซิเอนฟูเอโกส และกบฏหน่วยปฏิวัติ นำโดยผู้บัญชาการโรลันโด กูเบลา, ฮวน ("เอลเมฮิกาโน") อาบราอันเตส และวิลเลียม อเล็กซานเดอร์ มอร์แกน ข่าวความพ่ายแพ้นี้ทำให้บาติสตาตื่นตระหนก เขาหลบหนีจากคิวบาไปยังสาธารณรัฐโดมินิกันไม่นานหลังเที่ยงคืนของวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1959 ผู้บัญชาการวิลเลียม อเล็กซานเดอร์ มอร์แกน ผู้นำกบฏหน่วยปฏิวัติ ยังสู้รบต่อไปเมื่อบาติสตาหลบหนีไปแล้ว และยึดนครซิเอนฟูเอโกสเมื่อวันที่ 2 มกราคม[12] กัสโตรทราบข่าวการหลบหนีของบาติสตาในช่วงเช้าและเริ่มเจรจาเพื่อยึดฃานเตียโกเดกูบาทันที เมื่อวันที่ 2 มกราคม พันเอกรูบิโด ผู้บัญชาการทหารในเมือง สั่งมิให้ทหารของเขาสู้รบ กำลังกัสโตรจึงยึดเมืองได้ กำลังของเกบาราและซิเอนฟูเอโกสเข้ากรุงอาบานาเกือบพร้อมกันนั้น ทั้งสองไม่พบการต่อต้านระหว่างการเดินทางจากซานตากลารามายังเมืองหลวงของคิวบา ตัวกัสโตรเองมาถึงอาบานาเมื่อวันที่ 8 มกราคมหลังเดินขบวนฉลองชัยชนะอันยาวนาน มานูเอล อูร์รูเตีย เยโอ ตัวเลือกของกัสโตร ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีวันที่ 3 มกราคม[13]
อ้างอิง
แก้- ↑ Audio: Cuba Marks 50 Years Since 'Triumphant Revolution' by Jason Beaubien, NPR All Things Considered, 1 January 2009
- ↑ Faria, Miguel A. Fidel Castro and the 26th of July Movement เก็บถาวร 2015-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน NewsMax.com, July 27, 2004
- ↑ Ramonet, Ignacio, ibid, p. 133
- ↑ Ramonet, Ignacio, ibid, p. 672
- ↑ Ramonet, Ignacio, ibid, p. 174
- ↑ Ramonet, Ignacio, ibid, p. 174
- ↑ Ramonet, Ignacio, ibid, p. 182
- ↑ Thomas, Hugh (1998). Cuba or The Pursuit of Freedom (Updated Edition). New York: Da Capo Press. ISBN 0-306-80827-7.
- ↑ Faria, Cuba in Revolution, 2002, Notes pp.40–41
- ↑ Louis A. Pérez. Cuba and the United States.
- ↑ English, T.J. (2008) Havana nocturne : how the mob owned Cuba-- and then lost It to the revolution
- ↑ Faria, Cuba in Revolution, 2002, pp.69
- ↑ Thomas, Hugh, Cuba: The pursuit of freedom, pp. 691–3