วงศ์ย่อยปลาแรด
ปลาแรด | |
---|---|
ปลาแรด (Osphronemus goramy) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Anabantiformes |
วงศ์: | Osphronemidae |
วงศ์ย่อย: | Osphroneminae Bleeker, 1859 |
สกุล: | Osphronemus Lacepède, 1801 |
ชนิด | |
|
วงศ์ย่อยปลาแรด (อังกฤษ: Giant gouramis) เป็นวงศ์ย่อยของปลาน้ำจืดจำพวกหนึ่ง ที่อยู่ในวงศ์ Osphroneminae ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 1 สกุล 4 ชนิด (ดูในตาราง) มีลักษณะร่วมกันคือ ลำตัวป้อมและแบนข้าง เกล็ดสากมือเป็นรูปหยัก มีก้านครีบท้องคู่แรกเป็นเส้นเรียวยาวคล้ายหนวด ใช้สำหรับสัมผัส ปลายหางมนกลม ปากแหลม ริมฝีปากหนา ภายในปากมีฟันซี่เล็ก ๆ แหลมคมเรียงอยู่ภายใน ส่วนหัวเล็กและป้าน เมื่อโตขึ้นมาโดยเฉพาะในปลาตัวผู้จะมีโหนกนูนขึ้นมาเรื่อย ๆ จนดูคล้ายนอแรด อันเป็นที่มาของชื่อ โคนหางมีจุดสีดำคล้ำอยู่ทั้ง 2 ข้าง เมื่อโตขึ้นจุดดังกล่าวจะหายไป
เป็นปลาที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ แต่จะกินพืชเป็นอาหารหลัก นิสัยก้าวร้าวพอสมควร และเป็นปลาที่มีความสามารถพิเศษคือ สามารถฮุบอากาศจากผิวน้ำได้โดยตรง เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษที่อยู่ในช่องเหงือกช่วยในการหายใจ อีกทั้งยังสามารถเก็บความชื้นไว้ได้เมื่อถูกจับพ้นน้ำ มีขนาดโตเต็มที่ราว 90 เซนติเมตร ในชนิด Osphronemus goramy ซึ่งนับว่าเป็นปลาในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae) ที่ใหญ่ที่สุด
พบกระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ และที่เป็นหมู่เกาะ ชอบอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหลเอื่อย ๆ มีพืชน้ำขึ้นรก มีทั้งหมด 4 ชนิด (ดูในตาราง)
การขยายพันธุ์
แก้ปลาแรดจะสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี โดยจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 3 ปี ปลาตัวผู้จะมีโหนกบนหัวสูงกว่า ตัวเมียจะมีท่อนำไข่เป็นจุดสีขาวเห็นได้ชัดเจน บริเวณใต้ครีบอก ปลาแรดจะมีพฤติกรรมการสร้างรังคล้ายกับรังนก โดยใช้หญ้า หรือวัสดุจำพวกพืชน้ำชนิดต่าง ๆ มาสานทอเป็นรังลักษณะกลมคล้ายตะกร้า โดยใช้โคลนเป็นตัวประสานให้ติดเข้าด้วยกัน และวางไข่ไว้ตรงกลางรัง การขวางไข่จะวางได้ครั้งละ 800-1,000 ฟอง ไข่จะฟักเป็นตัวในเวลา 3-5 วัน
อ้างอิง
แก้- หนังสือปลาน้ำจืดไทย โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ (กรุงเทพ, พ.ศ. 2544) ISBN 974-475-655-5
- รายละเอียดจาก Fishbase.org
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Osphronemus ที่วิกิสปีชีส์