ศิลปกรรมเมืองเพชร

เพชรบุรี เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความเจริญมานาน จึงพบงานสร้างสรรค์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านศิลปกรรมอยู่มากมายหลายสาขา และเนื่องจากลักษณะทางสังคมของคนไทยสมัยก่อนผูกพันกับศาสนาพุทธที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจ ดังนั้นวัดต่าง ๆ ในจังหวัดเพชรบุรีเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นเสมือนศูนย์รวมศิลปกรรมสาขาต่าง ๆ ที่งอกงาม ซึ่งเป็นผลจากฝีมือของชาวเพชรบุรีในยุคสมัยต่าง ๆ ที่ช่วยกันสร้างสรรค์ไว้และจรรโลงสืบต่อมา

ช่างสิบหมู่ แก้

วิชาที่เรียนกันสมัยก่อนมีอยู่มากมายหลายสาขา เช่น การเรียนหนังสือให้อ่านออก เขียนได้ การเรียนด้านตำราพิชัยสงคราม หรือจะเป็นทางช่าง ที่นี่ก็มีหลายแขนง ดังที่เรียกว่า “ ช่างสิบหมู่” ซึ่งหมายถึงหมู่ช่างศิลปะ เช่น ช่างกระจก ช่างไม้ ช่างแกะ ช่างเขียน ช่างทอง ช่างดอกไม้เพลิง ฯลฯ ช่างเมืองเพชรมักจะสร้างงานที่มีเอกลักษณ์ที่เป็นของตนเอง ดังนั้นผู้ที่มีความรู้เรื่องศิลปะถึงได้เรียกว่า เป็นสกุลช่างเมืองเพชร

สกุลช่างเมืองเพชร แก้

ศิลปกรรมเมืองเพชร เป็นผลงานที่เกิดจากช่างพื้นบ้าน และได้พัฒนาทั้งระดับฝีมือ รูปแบบ เนื้อหา จนเป็นลักษณะเฉพาะของสกุลช่างเมืองเพชรบุรี และพร้อมกันนั้นก็ได้มีการถ่ายโอน ค้นคว้า ศึกษาวิธีการทางศิลปกรรมจากกลุ่มช่างต่าง ๆ อันได้แก่ สกุลช่างจากวัดต่าง ๆ เช่น กลุ่มช่างวัดใหญ่ กลุ่มช่างวัดพระทรง กลุ่มช่างวัดเกาะ กลุ่มช่างวัดยาง ฯลฯ

ศิลปะพริบพรี แก้

  • จิตรกรรม
 
จิตรกรรมฝาผนังวัดใหญ่สุวรรณาราม
 
บานประตูของพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม
  • พระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร มีจิตรกรรมที่ฝาผนังและที่บานประตูซึ่งงดงามมาก ถือเป็นเพชรน้ำเอกทีเดียว เรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถด้านยาวทั้ง 2 ด้านเขียนเป็นภาพเทพชุมนุมเรียงราย 5 ชั้น สามชั้นบนเขียนรูปพรหม ฤๅษี ยักษ์ และเทวดา สลับกันไป ส่วนสองชั้นล่างเขียนรูปครุฑ สลับกับเทวดา รูปเทวดาต่าง ๆ มีความละม้ายความเป็นมนุษย์ ท่านั่งมีลักษณะเฉพาะคือ นั่งยกเข่าขึ้นข้างหนึ่ง ทำให้ดูเบาและลอยต่างจากภาพแห่งอื่น ลายผู้นุ่งไม่ซ้ำกัน ระหว่างเทวดาแต่ละองค์เป็นลายพรรณพฤกษ์ แต่ละช่องลายต่างกัน มีลักษณะใกล้เคียงธรรมชาติ ส่วนจิตรกรรมที่บานประตูพระอุโบสถด้านในเป็นรูปทวารบาล (ผู้เฝ้าประตู) บานประตูด้านหลัง 2 ประตูด้านใน เขียนเป็นรูปกินนรบานละตัว งามทั้งรูปแบบ ทรวดทรง สีสันและเครื่องประดับ ที่งดงามเป็นพิเศษ คือ ประตูด้านหน้าช่องกลางด้านใน (บางท่านเรียกว่าหน้าต่าง) เป็นภาพเทวดาถือช่อกนกบานละองค์ เสื้อผ้าอาภรณ์อ่อนช้อยงดงามมาก ตอนบนของประตูเขียนรูปแม่ธรณีบีบมวยผม ท่านั่งชันเข่าและท่าบีบมวยผมมีความอ่อนงามน่าชมยิ่ง
  • วัดเกาะแก้วสุทธาราม มีโบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ล้วนเป็นฝีมือชั้นเลิศ ฝาผนังพระอุโบสถของวัดเกาะแก้วสุทธาราม มีจิตรกรรม ที่ทรงคุณค่าทราบอายุได้จากตัวหนังสือที่จดปีที่เขียนว่า พ.ศ. 2277 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยอยุธยาตอนปลาย จิตรกรรมเขียนเต็มผนังด้านข้างทั้ง 2 ด้าน เนื่องด้วยพระอุโบสถไม่มีช่องหน้าต่าง ภาพจิตรกรรมเป็นรูปหมู่นักสิทธิ์ คือ พวกฤๅษี และวิทยาธร ซึ่งถือเป็นเทพพวกหนึ่งมีฐานะต่ำกว่าเทวดา แต่งกายแบบคนต่างชาติอยู่ ส่วนบนของผนังเหมือนภาพเจดีย์ ซึ่งบรรจุอยู่ในโครงรูปสามเหลี่ยมแบบฟันปลาเป็นแนวตลอดผนัง มีรูปฉัตรคั่นระหว่างองค์เจดีย์ ใต้ฉัตร เขียนพระพุทธประวัติตอนที่สำคัญ ๆ เรียกว่า ภาพอัฐมหาสถานและสัตมหาสถาน จิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะแก้วสุทธาราม มีลักษณะเป็นสีฝุ่น เขียนสีบางเบา สภาพยังสมบูรณ์แสดงให้เห็นว่า ช่างเตรียมพื้นไว้ดีเยี่ยม พื้นเรียบแน่นและแข็ง แม้ส่วนล่างของภาพจะรางเลือนไปบ้าง ผนังก็ไม่ผุกร่อนเลยแม้แต่น้อย นอกจากนี้ภาพที่ปรากฏมีคุณค่ายิ่งในด้านศิลปะและด้านโบราณคดี ภาพชาวต่างประเทศที่ปะปนอยู่เป็นบริวารของพระวัสวดีมาร และในพระพุทธประวัติตอนอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นความคิดเกี่ยวกับชาวต่างชาติของคนไทยในสมัยนั้นได้อย่างลึกซึ้ง
  • จิตรกรรมฝาผนังวัดมหาสมณาราม พระอุโบสถของวัดมหาสมณารามราชวรวิหาร เป็นอาคารทรงไทยขนาดกลาง ประตูทั้ง 4 ประตู และหน้าต่าง 10 หน้าต่าง นั้น มีภาพจิตรกรรมทั้งหมดเป็นจิตรกรรมสีฝุ่น บนเสาจำนวน 8 ต้น เขียนลายสีสวยสด ดูแวววาวจับตา ฝาผนังพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน เขียนภาพเต็มทุกด้าน จัดแบ่งภาพเป็น 2 ส่วน คือผนังส่วนบนและส่วนล่าง ที่ผนังส่วนบนเขียนเรื่องราวต่าง ๆ
  • จิตรกรรมฝาผนังในจังหวัดเพชรบุรี ที่ยกย่องกันว่างามยังมีอีกหลายแห่ง เช่น ในพระอุโบสถวัดสระบัว จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุวรวิหาร ซึ่งเลื่องลือว่ามีความงดงามเป็นฝีมือช่างชาวเพชรบุรี ผู้ที่ได้มีโอกาสไปชมและพินิจจิตรกรรมฝาผนังตามที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นอย่างถ่องแท้แล้วคงจะพอสรุปได้ว่า จิตรกรรมที่ปรากฏในพระอุโบสถ พระวิหารหรือศาลาการเปรียญตามวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเพชรบุรีมิได้เป็นเพียงภาพประดับผนัง ประตู หรือหน้าต่างเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากมายมหาศาล เพราะนอกจากจะสะท้อนถึงจิตวิญญาณของผู้คนชาวเมืองได้อย่างลึกซึ้ง และบ่งบอกถึงฝีมืออันเลิศของศิลปินผู้สร้างสรรค์แล้วยังเป็นเครื่องน้อมนำจิตผู้พบเห็นให้ละเอียด ประณีตได้อย่างวิเศษยิ่ง

วรรณกรรม แก้

วรรณกรรมเมืองเพชร เพชรบุรีเป็นเมืองที่มีความเจริญในด้านศิลปวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ และมีการสั่งสมมรดกทางศิลปวัฒนธรรม สืบทอดมาหลายยุคหลายสมัย ที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองมาในอดีต โดยเฉพาะงานวรรณกรรมที่มีอยู่มากตามพระอารามต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ อยู่ในสภาพชำรุดและเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่น พระอภิธรรม พระมาลัย มหาชาติ พระปฐมสมโพธิ คาถาอาคม นิทาน นิราศ กฎหมาย บทละคร วรรณคดี เลขโบราณ ฯลฯ

ในการนี้ ศูนย์วัฒนธรรมสถาบันราชภัฏเพชรบุรีได้พิจารณากำหนดตามลักษณะคำประพันธ์ไว้ ดังนี้

  • กาพย์ และกลอนสด เช่น ศรีสวัสดิวัตร พระสุบิน หอยสังข์ ไชยเชษฐ์ อภัยทัศพลาลี บุนทนาวงศ์ พระศรพิณ พระยาฉัททันต์ สมุทรโคดม ฯลฯ
  • กลอน เพลงยาว และนิราศ เช่น เพลงยาวคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา เพลงยาวรารถ พระรถนิราศ พาลีสอนน้อง สุภาษิตสอนหญิง ปรมัตถ์คำสอน กากี นิราศเขาลูกช้าง นิราศเขมร นิราศลังกา อนุศาสน์คำสอน
  • ร่าย เช่น สุภาษิตตัง นิทานปกรณัมเรื่อง นกกระยางเป็นพาล
  • ร่ายยาว ได้แก่ มหาเวชสันดรชาดก ร่ายยาวพระปฐมสมโพธิ
  • โคลง ได้แก่ โคลงกระทู้ 56 บท โคลงโลกนิติ 100 บท โคลงประดิษฐ์พระร่วง ฯลฯ
  • ร้อยแก้ว ได้แก่ คำทำนายฝัน พิชัยสงครามธรรม อรรถปัญหาธรรม พระพุทธโฆษาตำราดาว ทศชาติชาดก ตำราการทำนา ฯลฯ
  • ฉันท์ ได้แก่ นิพพานสูตรคำฉันท์ พระปฐมสมโพธิคำฉันท์ โลกนิติคำฉันท์ สุธนท์คำฉันท์

นอกจากนี้ ยังมีวรรณกรรมประเภทแบบเรียน เช่น ปฐมมาลา ปฐม ก กา หัดอ่าน ปทานุกรม จินดามณี และศรีสวัสดิวัตร ฯลฯ

ปัจจุบันงานวรรณกรรมต่าง ๆ จะปรากฏในใบลานและสมุดข่อยโดยเก็บรักษาไว้ตามวัดต่าง ๆ เช่น วัดขุนตรา วัดเกาะ วัดพระรูป วัดหนองกาทอง วัดต้นสน วัดบางทะลุ วัดโคก วัดศาลาเขื่อน ฯลฯ