ศาสนามะพร้าว (เวียดนาม: Đạo Dừa) หรือ ศาสนาสามัคคี (เวียดนาม: Hòa đồng Tôn giáo) เป็นลัทธิศาสนาหนึ่งในประเทศเวียดนาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2506 โดยเหงียน ถั่ญ นาม (Nguyễn Thành Nam) หรือฉายา องเด่าเสื่อ (Ông Đạo Dừa "นักบวชมะพร้าว") ศาสนานี้มีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะขนาดเล็กกลางแม่น้ำโขง เรียกกันว่า อาณาจักรมะพร้าว ในเขตจังหวัดเบ๊นแจ ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม พื้นฐานความเชื่อทางศาสนาส่วนใหญ่นำมาจากคำสอนในศาสนาพุทธและคริสต์ มาประกอบกับคำสอนเรื่องความสงบสุขขององเด่าเสื่อเอง ทั้งยังมีลักษณะพิเศษคือ สนับสนุนให้ศาสนิกชนของตนเองบริโภคผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว และน้ำกะทิเป็นนิจศีล[1]

"อาณาจักรมะพร้าว" สถานที่สำคัญของศาสนามะพร้าว
ผู้ปฏิบัติศาสนกิจใน "อาณาจักรมะพร้าว" เมื่อ พ.ศ. 2512

ศาสนามะพร้าวถูกยกเลิกโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์เมื่อ พ.ศ. 2518 ในยุครุ่งเรืองศาสนามะพร้าวเคยมีสมาชิกมากถึง 4,000 คน แต่ปัจจุบันมีน้อยคนนักที่ยังปฏิบัติตนตามความเชื่อของศาสนามะพร้าว

ประวัติ แก้

ศาสนามะพร้าวก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2506 โดยเหงียน ถั่ญ นาม (พ.ศ. 2452–2533)[2] นักวิชาการชาวเวียดนาม[1] เขาเป็นที่รู้จักในหลายชื่อ เช่น องเด่าเสื่อ,[3][4] หลวงพ่อมะพร้าว,[5] ผู้เผยแผ่พระวจนะแห่งความสามัคคี,[5] และลุงฮาย[5] เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศส[1]

เหงียน ถั่ญ นามได้ก่อสร้างเจดีย์ลอยน้ำ[5] บน "อาณาจักรมะพร้าว" เกาะขนาดเล็กกลางแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดเบ๊นแจ ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม[1] เขาอ้างว่าตนเองบริโภคมะพร้าวเพียงอย่างเดียวเป็นเวลาถึงสามปี[2] ช่วงเวลานั้นเขาฝึกการฝึกสมาธิด้วยการเดินบนทางเดินซึ่งปูด้วยหินขนาดเล็ก[6] เหงียน ถั่ญ นาม เคยลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีเวียดนามใต้ปี 2514 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงเดินทางกลับสู่อาณาจักรมะพร้าว[1] รัฐบาลไซ่ง่อนยกย่องเขา และเรียกเหงียน ถั่น นาม ว่าเป็น "บุรุษแห่งศาสนา"[7] เพราะเขามักจะสวมไม้กางเขนและครองจีวรแบบพุทธตามธรรมเนียมญวนอยู่เสมอ[8]

ในยุครุ่งเรือง ศาสนามะพร้าวมีจำนวนศาสนิกชนมากถึง 4,000 คน รวมไปถึงจอห์น สไตน์เบ็กที่ 4 บุตรชายของจอห์น สไตน์เบ็ก นักประพันธ์ชาวอเมริกัน[1] แต่ภายหลังรัฐบาลคอมมิวนิสต์สั่งห้ามเผยแผ่ศาสนานี้ใน พ.ศ. 2518 เพราะเป็น "กลุ่มลัทธิ"[1] ครั้นเหงียน ถั่ญ นาม เสียชีวิตใน พ.ศ. 2533[9] ศาสนานี้จึงสิ้นสุดลงไปด้วย ปัจจุบันที่ดินของอาณาจักรมะพร้าวกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในปากแม่น้ำโขงโดยปริยาย

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 "Coconut religion". Vinhthong. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 22, 2013. สืบค้นเมื่อ May 25, 2013.
  2. 2.0 2.1 Dodd, Jan (2003). The Rough guide to Vietnam (4 ed.). Rough Guides. p. 142. ISBN 9781843530954.
  3. Pillow, Tracy (2004). Bringing Our Angel Home. iUniverse. p. 106. ISBN 9781469714011.
  4. Ehrhart, William Daniel (1987). Going back: an ex-marine returns to Vietnam. McFarland. ISBN 9780899502786.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Vu Trinh (1974). "The Coconut Monk". Vietspring. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-01. สืบค้นเมื่อ 2013-05-26.
  6. Hoskin, John; Howland, Carol (2006). Vietnam (4 ed.). New Holland Publishers. p. 115. ISBN 9781845375515.[ลิงก์เสีย]
  7. Ellithorpe, Harold (1970). "South Vietnam: The Coconut Monk". Far Eastern Economic Review. p. 15.
  8. "THE OTHER SIDE OF EDEN: LIFE WITH JOHN STEINBECK". American Buddha. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 24, 2013. สืบค้นเมื่อ May 26, 2013.
  9. Laurance, Robin (2019-07-01). Coconut: How the Shy Fruit Shaped our World (ภาษาอังกฤษ). History Press. ISBN 978-0-7509-9273-2.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้