วิเชียร นีลิกานนท์
วิเชียร นีลิกานนท์ เป็นอดีตนักแสดง ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ พิธีกรและผู้บรรยายกีฬาชกมวย พระเอกละครวิทยุ[1][2]
วิเชียร นีลิกานนท์ | |
---|---|
เกิด | 26 ธันวาคม พ.ศ. 2474 กรุงเทพมหานคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 (82 ปี) ประเทศไทย |
อาชีพ | นักแสดงละครวิทยุ โฆษก นักพากย์ |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2495 –พ.ศ. 2557 |
ผลงานเด่น | ภาพยนตร์เรื่อง น้อยใจยา ละครวิทยุ |
สังกัด | ละครวิทยุ คณะนีลิกานนท์ |
ประวัติ
แก้เกิดวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2474 เริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนพร้อมวิทยามูล โรงเรียนดำเนินศึกษา สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนไทยประสาทวิทยา และเข้าศึกษาต่อโรงเรียนพณิชยการพระนคร จากนั้นเข้ารับราชการที่กรมไปรษณีย์โทรเลข แล้วย้ายมาสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว เขียนข่าว และทำหน้าที่อ่านข่าวประเภทกีฬา วิเชียร รับราชการอยู่กรมประชาสัมพันธ์จนได้รับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายข่าวกีฬา กระทั่งเกษียณอายุราชการ[1]
ระหว่างการศึกษาวิเชียร เคยรับบทแสดงเป็นพระเจ้าตาก ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน และทดลองจัดละครวิทยุกับเพื่อน เข้าสู่วงการละครวิทยุกับคณะวรรณศิลป์และย้ายไปแสดงกับคณะวรรณศิลป์ในเวลาต่อมา เมื่อมีประสบการณ์ทางด้านละครวิทยุจึงจัดตั้งคณะละครวิทยุเป็นของตนเองชื่อ วิเชียรภิรมย์ กระจายเสียงทางสถานีวิทยุ 1 ปณ และเปลี่ยนชื่อเป็น คณะนีลิกานนท์ ในช่วงทำการแสดงละครวิทยุเคยร่วมแสดงกับ รัชนี จันทรังษี และ จีราภา ปัญจศิลป์[2]
ในด้านพิธีกรกีฬาชกมวย วิเชียรเป็นผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้มากว่า 40 ปี และมีชื่อเสียงโด่งดัง[3] วิเชียรยังจัดแสดงละครวิทยุให้คณะนีลิกานนท์ซึ่งเป็นของตนเอง และทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายและพิธีกรบนเวทีกีฬาชกมวยให้แก่สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7[1][4]
วิเชียร เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 16:15 น. ด้วยโรคชรา ในวัย 82 ปี
ผลงาน
แก้- ละครวิทยุ
- แสดงภาพยนตร์เรื่อง กาเหว่า งูผี (แสดงคู่กับ พันธุ์ทิพย์ วิภาตะพันธุ์)
- พากย์เสียงในภาพยนตร์เรื่อง น้อยใจยา
- พิธีกรกีฬาและผู้บรรยายชกมวยทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ในรายการมวยไทย 7 สี
- ผู้ตัดสินกีฬาบาสเกตบอล[1][2]
รางวัลและเกียรติคุณ
แก้- รางวัล ดาราทอง พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในปี พ.ศ. 2509
- รางวัลพระราชทาน เทพทอง ในปี พ.ศ. 2547[1]
- รางวัล ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ปี พ.ศ. 2553[1]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "กระทรวงวัฒธรรม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-29. สืบค้นเมื่อ 2011-11-15.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "วิเชียร นีลิกานนท์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-24. สืบค้นเมื่อ 2011-11-15.
- ↑ วิเชียรแฉบึ้ม คนดูฉุนลูกโป่งบัง
- ↑ บทเรียนสอนใจ...โฆษกมวยไทย ระหว่างความพอดีกับหน้าที่..!?!? จากข่าวสด[ลิงก์เสีย]