วาซิลี ซามาร์สกี-บีโฮเวตส์
วาซิลี ซามาร์สกี-บีโฮเวตส์ (รัสเซีย: Василий Евграфович Самарский–Быховец; 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1803 — 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1870) เป็นวิศวกรเหมืองชาวรัสเซียและเป็นหัวหน้าเหล่าทหารช่างเหมืองรัสเซีย ระหว่าง ค.ศ. 1845 และ ค.ศ. 1861 ชื่อของแร่ซามาร์สไกต์ และธาตุเคมีซาแมเรียมตั้งตามชื่อของเขา[1] เขาเป็นบุคคลแรกที่ชื่อถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของธาตุเคมี[2][3]
ชีวประวัติแก้ไข
ซามาร์สกี-บีโฮเวตส์เกิดในตระกูลชั้นสูงในมณฑลทอมสก์ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศรัสเซียส่วนที่อยู่ในทวีปเอเชียพ้นเทือกเขายูรัลไป เขาได้รับการศึกษาด้านช่างทหารที่เหล่านายร้อยการเหมืองท้องถิ่น และหลังจากสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. 1823 ก็ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งทหาร ณ โรงงานโคลีวัน-เรซุร์เร็กติออน และเหมืองแร่ที่เกี่ยวข้องในเทือกเขายูรัล ค.ศ. 1828 เขาได้ถูกย้ายไปยังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่ซึ่งเขาเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยคณะรัฐมนตรีรัสเซีย หัวหน้าเสมียนในกรมเหมืองแร่ นายทหารผู้ช่วยอาวุโส และนายทหารฝ่ายเสนาธิการของเหล่าวิศวกรเหมืองแร่ ค.ศ. 1834 เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นร้อยเอก และใน ค.ศ. 1845 เป็นพันเอก ปีต่อมา เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเสนาธิการเหล่าวิศวกรเหมืองแร่และดำรงตำแหน่งจนกระทั่ง ค.ศ. 1861 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเสนาธิการ เขาเริ่มสอนที่สถาบันเหมืองแร่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและกลายมาเป็นสมาชิกสภาวิทยาศาสตร์ของสถาบัน เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลโทใน ค.ศ. 1860 และในปีต่อมาได้กลายมาเป็นประธานคณะกรรมการเหล่าวิศวกรเหมืองแร่ เช่นเดียวกับประธานคณะกรรมการชำระกฎบัตรเหมืองแร่ เขาได้ขอลาหยุดพักร้อนสามเดือนใน ค.ศ. 1862 เพื่อเข้าร่วมนิทรรศการวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศในลอนดอนและเสียชีวิตใน ค.ศ. 1870 ซามาร์สกี-บีโฮเวตส์เป็นนายทหารที่ได้รับรางวัลเป็นจำนวนมากโดยไม่มีประวัติด่างพร้อย[4][5]
ความเกี่ยวข้องกับซามาร์สไกต์แก้ไข
ตัวซามาร์สกี-บีโฮเวตส์เองมิได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาซามาร์สไกต์และซาแมเรียมแต่อย่างใด แต่ในฐานะนายทหารเหมืองแร่ เขาจึงได้รับอนุญาตให้เข้าถึงตัวอย่างแร่จากเทือกเขายูรัลและนำไปให้กับผู้เชี่ยวชาญแร่ชาวเยอรมัน กุสตาฟ โรเซอ โรเซอใน ค.ศ. 1839 ได้อธิบายถึงแร่ใหม่ในตัวอย่างแร่และตั้งชื่อว่าอูราโนทันทาลุม โดยเชื่อว่าองค์ประกอบของมันส่วนใหญ่ประกอบด้วยธาตุแทนทาลัม ค.ศ. 1846-47 พี่ชายและเพื่อนร่วมงานด้านแร่วิทยา ไฮน์ริช โรเซอ ค้นพบว่าส่วนประกอบหลักของแร่คือ ไนโอเบียม และเสนอให้ใช้ชื่ออื่นเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน ชื่อที่ถูกเลือกใหม่คือ ซามาร์สไกต์ ซึ่งเป็นเพียงการขอบคุณบทบาทของซามาร์สกี-บีโฮเวตส์ในการเข้าถึงตัวอย่างแร่[6][7] ในภายหลัง ธาตุแลนทาไนด์จำนวนมากถูกแยกออกมาจากแร่ชนิดนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ซาแมเรียม ก็ได้รับการตั้งชื่อตามแร่ดังกล่าว จึงถือเป็นการให้เกียรติซามาร์สกี-บีโฮเวตส์อีกครั้งหนึ่งด้วย[3]
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ Samarskite, Great Soviet Encyclopedia (in Russian)
- ↑ Chemistry in Its Element – Samarium, Royal Society of Chemistry
- ↑ 3.0 3.1 Samarium: History & Etymology
- ↑ Самарский-Быховец, Василий Евграфович (in Russian)
- ↑ Самарский-Быховец, Василий Евграфович, obituary, "Русский Инвалид" (Russian invalide), 1870, No. 129 (in Russian)
- ↑ Популярная библиотека химических элементов(in Rusian)
- ↑ Горный журнал (Mining Journal), 1847, part II, vol. 4, p. 118. "Я предлагаю изменить название уранотантал в самарскит, в честь полковника Самарского, по благосклонности которого я был в состоянии производить над этим минералом все изложенные наблюдения" (I propose to rename uranotantalum into samarskite, in honor of Colonel Samarsky, on benevolence of whom I was able to conduct my studies of this mineral)