วันประมงแห่งชาติ

วันประมงแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี เพื่อเป็นการสนับสนุนในการทำอาชีพประมง และเป็นที่ระลึก สร้างขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพของชาวประมงไทย

ประวัติ แก้

วันประมงแห่งชาติ มีที่มาจากสหกรณ์ประมงจังหวัดสมุทรสาครทำหนังสือ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 ถึงนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เสนอให้รัฐบาลกำหนดวันประมงแห่งชาติขึ้น เพื่อให้เป็นกำลังใจในการประกอบอาชีพ และอาสาปกป้องประเทศทางด้านทะเล นายกรัฐมนตรีจึงได้คำสั่งให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งได้มอบเรื่องต่อให้กับกรมประมงเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องโดยตรง นอกจากนี้ยังขอให้ราชบัณฑิตยสถานและกรมศิลปากรร่วมกันพิจารณาความเหมาะสม จากที่กรมประมงพิจารณาว่า อาชีพการประมงทางทะเลเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศปีละมากมาย อีกทั้งยังต้องเสี่ยงภัยจากอันตรายในน่านน้ำ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ช่วยแจ้งข่าวสารทางทะเลที่อาจเป็นภัยอันตรายต่อประเทศให้แก่หน่วยงานราชการทราบทันแก่เหตุการณ์ จึงจัดให้มีวันสำคัญวันนี้ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกและเป็นขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนอาชีพประมง โดยจัดตั้งวันประมงขึ้น ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี

มติคณะรัฐมนตรี -- พุธที่ 7 มิถุนายน 2549 10:24:21 น. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงวันประมงแห่งชาติ จากเดิมวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ขอเปลี่ยนแปลงวันประมงแห่งชาติ ข่าวราชการ มติคณะรัฐมนตรี -- พุธที่ 7 มิถุนายน 2549 10:24:21 น. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงวันประมงแห่งชาติ จากเดิมวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้แจงว่า

1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 มกราคม 2527 โดยจัดงานวันประมงแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปัจจุบัน รวม 22 ครั้ง หมุนเวียนจัดงานระดับประเทศตามจังหวัดต่าง ๆ โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ นิทรรศการความรู้ด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูปสัตว์น้ำ การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมง การประกวดวาดภาพ ประกวดคำขวัญ / เรียงความ รวมทั้งการแข่งขันต่าง ๆ

2. ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยโดยรวมในช่วงเดือนเมษายนแล้งมากในทุกจังหวัด แหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย และจากการขยายตัวของเมืองและชุมชนทำให้ไม่มีสัตว์น้ำค้างอยู่ตามปลักโคลนหรือทำนบปลาตามทางสัญจร สภาพอากาศที่ร้อนทำให้พันธุ์สัตว์น้ำที่กรมประมงเตรียมมาให้ ประชาชนปล่อยในวันที่ 13 เมษายนมีอัตราการตายสูง ประกอบกับในช่วงวันที่ 13 — 15 เมษายนของทุกปีตรงกับเทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดราชการประจำปี โดยเน้นให้เป็นวันครอบครัว ประชาชนที่อยู่ห่างไกลภูมิลำเนาเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้แต่ละปีมีผู้เข้าร่วมงานวันประมงแห่งชาติไม่มากเท่าที่ควร ผลที่ได้รับจากการจัดงานไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย

3. จากสิ่งที่ต้องดำเนินการตามข้อ 1. และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการจัดงานวันประมงแห่งชาติในปัจจุบันตามข้อ 2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นควรเปลี่ยนแปลงวันประมงแห่งชาติ จากเดิมวันที่ 13 เมษายนของ ทุกปีเป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี โดยมีเหตุผลประกอบ 3 ประการ ดังนี้

3.1 เดือนกันยายนเป็นช่วงฤดูฝน แหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้ำมาก สภาพทางธรรมชาติของแหล่งน้ำเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน

3.2 วันที่ 21 กันยายน เป็นวันสถาปนากรมประมง ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2469 ให้ตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำขึ้น ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมการประมงและกรมประมงตามลำดับ และเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่สนพระทัยในกิจการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษาให้แก่ข้าราชการหรือนักเรียนไปศึกษาวิชาเพาะพันธุ์ปลาในต่างประเทศ

3.3 จากการขอความคิดเห็นหน่วยงานต่าง ๆ ในการเปลี่ยนแปลงวันประมงแห่งชาติ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กองทัพเรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์การสะพานปลา และ ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทุกหน่วยงานเห็นชอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ชุดพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร) (รักษาการนายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มิถุนายน 2549

กิจกรรม แก้

มีการจัดกิจกรรมด้านการประมงโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านนี้ เช่น กรมประมง กิจกรรมที่สำคัญเช่น การปล่อยพันธุ์ปลาหายากหรือขยายพันธุ์ได้ยากลงสู่แหล่งน้ำ และวันนี้ยังเป็นที่รู้กันว่าจะมีการหยุดการทำประมง หยุดการหาปลา ทำร้ายและฆ่าปลาหนึ่งวัน และส่งเสริมให้มีการปล่อยปลาในแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมทั้งในทะเล เพื่อเป็นการชดเชยสำหรับการที่ได้ทำการประมงมาตลอดปี นอกจากนี้วันที่ 13 เมษายน ทางราชการยังถือว่าเป็น "วันขยายพันธุ์ปลาแห่งชาติ" อีกด้วย

อ้างอิง แก้

  • พงษ์ ณ พัฒน์, วันสำคัญไทยนอกปฏิทิน, สำนักพิมพ์ แสงดาว, 2551, หน้า 75-76