วันคาร เป็นนิทานพื้นบ้านของไทย เขียนในลักษณะกาพย์ แพร่หลายในภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพบแทบทุกอำเภอ เช่น อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอลานสกา อำเภอร่อนพิบูลย์ และอำเภอชะอวด มีลักษณะเป็นทั้งนิทานประโลมโลก นิทานมหัศจรรย์ นิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ และนิทานหัสคดีพฤหัสบดี

ต้นฉบับบันทึกในหนังสือบุดขาว แต่ละฉบับมีเนื้อความตรงกัน มีการตีพิมพ์เป็นหนังสืองานศพ นายแป้น นาควานิช เมื่อ พ.ศ. 2515 และเคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เสียงราษฎร์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นนครศรีธรรมราช วรรณกรรมเรื่องนี้บอกว่าแต่งขึ้นในปีจอ จัตวาศก เดือน 11 ขึ้น 1 ค่ำ วัน แต่ก็ไม่ได้ระบุปี พ.ศ. ไว้ แต่เมื่อเทียบจากปีจอจัตวาศก อาจตรงกับ พ.ศ. 2225, พ.ศ. 2345 และ พ.ศ. 2465 อาจเป็นไปได้ว่าน่าจะแต่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากคล้ายกับวรรณกรรมเรื่อง พุทโทคำกาพย์[1]

เนื้อหา

แก้

เนื้อหาเล่าเรื่องของ วันคาร ผู้เป็นเด็กกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เกิด อาศัยอยู่ในการดูแลของเจ้าเมืองนามว่าท้าวอาทิตย์วันหนึ่งเมื่อวันคารอายุสิบห้าปีวันคารได้ข่าวว่าจะมีเรือสำเภาออกไปค้าขาย จึงได้ฝากปลาเค็มไปขายด้วย[2]

เมื่อนางวันจันทร์มเหสีของท้าวอำไพ เจ้าเมืองไพสาลี ซึ่งป่วยอยู่แต่ต้องการเสวยปลามาก เมื่อกินปลาก็หายป่วย ท้าวอำไพจึงหลอมเงินและทองใส่มะพร้าวกะทิ รวม 2 ผล ส่งไปให้เจ้าของปลา วันคารไม่รู้ว่าข้างในมะพร้าวเป็นเงินและทองจึงฝากมะพร้าวไปขายอีก ครั้งนี้ไปขายที่เมืองไกรลาส ท้าวพาลวงศ์เจ้าเมืองไกรลาสล้มป่วยด้วยโรคสันนิบาตประสงค์จะเสวยมะพร้าวกะทิ เมื่อได้มะพร้าวของวันคารและพบว่ามีเงินและทองอยู่ดีใจ จนลืมความเจ็บป่วย จึงได้มอบศรสิทธิ์ฝากไปให้วันคาร วันคารฝากศรไปขายอีก โดยไปขายที่เมืองปัญจา

ท้าวปัญจามีธิดาสาวสวยชื่อนางวันพุธ เมื่อแรกประสูตนางวันพุธได้ถือดวงแก้วจินดาออกมาจากครรภ์ด้วย ด้วยแก้วสามารถเนรมิตได้ทุกอย่าง ท้าวสี่เศียรอสุรา ยักษ์ซึ่งเป็นเจ้าเมืองกรุงตาวัน ปรารถนาจะได้นางวันพุธมาเป็นมเหสี แต่ท้าวปัญจาไม่ยอมยกให้ ท้าวสี่เศียรอสุราจึงยกทัพมาตีเมือง เมืองปัญจาจึงได้ใช้ศรสิทธิ์ของวันคารฆ่ายักษ์ตาย ท้าวปัญจาได้ตอบแทนวันคารด้วยการส่งนาง วันพุธใส่หีบกลไปให้วันคาร ท้าววิษณุกรรมได้ลงมาจากสวรรค์เพื่อช่วยเหลือนางวันพุธซึ่งอยู่ในหีบกล วันคารได้ครองรักกับนางวันพุทธ และได้สร้างเมืองชื่อ ชบ ขึ้นใหม่โดยอาศัยอำนาจจากดวงแก้ววิเศษของนางวันพุธ

อ้างอิง

แก้
  1. ธวัลรัตน์ พรหมวิเศษ. "คตินิยมและคติชนปักษ์ใต้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้: กรณีศึกษาวันคารคำกาพย์".
  2. "การวิเคราะห์อัตลักษณ์ท้องถิ่นในนิทานพื้นบ้านภาคใต้ของไทย". ศิลปศาสตร์ปริทัศน์. มกราคม–มิถุนายน 2567.{{cite journal}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)