หนังสืองานศพ, หนังสืออนุสรณ์งานศพ หรือ หนังสือที่ระลึกงานศพ เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์เพื่อแจกให้แก่ผู้มาร่วมงานศพเพื่อระลึกถึงผู้วายชนม์ โดยนำเสนอข้อมูลประวัติและผลงานของผู้วายชนม์ มีคำอาลัยจากบุคคลต่าง ๆ นอกจากนี้อาจมีการนำบทความ วรรณกรรม วรรณคดี บทสวด ความรู้เรื่องต่าง ๆ จัดพิมพ์ไว้ในหนังสืองานศพนี้ด้วย[1] การแจกหนังสืองานศพ พบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว[2]

ปกหนังสืองานศพใน พ.ศ. 2460 พร้อมราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณแปลใหม่

ประวัติ แก้

 
มีการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์เป็นครั้งแรก

ในรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2412 มีพระราชประสงค์จะทรงพิมพ์ พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ถวายพระราชกุศลในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่บรรลุสมดังพระราชประสงค์ จนเกิดหนังสืองานศพเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2423 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับสั่งให้จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พระนางเรือล่ม) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี โดยมีกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้เรียบเรียง เป็นหนังสือ สาราทานปริยายกถามรรค มีเนื้อหาเป็นแนวธรรมว่าด้วยบทสวดมนต์ต่าง ๆ แต่เดิมไม่ได้พิมพ์ด้วยกระดาษ แต่จารลงในใบลานเป็นอักษรขอม ก่อนจะถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง มีการพิมพ์จำนวน 10,000 ฉบับ เพื่อพระราชทานให้วัดวาอารามในยุคนั้นทั่วราชอาณาจักร โดยถือเป็นหนังสือสวดมนต์เล่มแรกที่ตีพิมพ์ในประเทศไทยด้วย เล่มที่สองโปรดให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพกรมขุนสุพรรณภาควดี คือหนังสือเรื่อง นิบาตชาดก เอกนิบาต[3] อย่างไรก็ดี มีการพบข้อมุลว่า มีการตีพิมพ์ หนังสือเรื่อง พระอะไภยมะณี (พระอภัยมณี) แจกในงานพระเมรุรัชกาลที่ 4 จัดพิมพ์เป็นเล่มที่โรงพิมพ์ครูสมิท (มิชชันนารีอังกฤษ) พิมพ์จำนวน 120 ชุด แต่ละชุดมี 20 เล่มจบ น่าจะถือว่าเป็นหนังสืองานศพเล่มแรก และอาจเป็นหนังสือแจกงานศพเล่มเก่าที่สุด[4]

ต่อมาถือเป็นธรรมเนียมแพร่หลายในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางชั้นสูง นิยมนำงานนิพนธ์ วรรณคดี และบทสวดมนต์มาพิมพ์แจกในงานพระราชพิธี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสนับสนุนให้ประชาชนคนทั่วไปพิมพ์หนังสือเป็นที่ระลึกในงานศพของบุคคลที่นับถือ โดยหอพระสมุดวชิรญาณ (หอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน) ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกต้นฉบับให้แก่ผู้สนใจจัดพิมพ์หนังสืองานศพสำหรับผู้มาติดต่อ โดยมีหลักเกณฑ์ว่า เป็นเรื่องที่มีแก่นสารในทางวิชาความรู้ ต้องมีการตรวจชำระต้นฉบับให้คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด และอนุญาตให้เจ้าของโรงพิมพ์พิมพ์หนังสือต้นฉบับของหอพระสมุดฯ จำหน่ายได้ด้วย ดังนั้นหนังสืองานศพในยุคแรก จึงมีเนื้อหาเรื่องทางพระพุทธศาสนาแล้วยังมีเรื่องทางประวัติศาสตร์ วรรณกรรม การท่องเที่ยวและตำราต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับประวัติของผู้วายชนม์[5] และในช่วงรัชกาลที่ 5 และ 6 นี้เอง ที่เริ่มมีการรวบรวมหนังสืองานศพไว้ที่หอสมุดแห่งชาติด้วย[6] หนังสืออนุสรณ์งานศพที่ลงอัตชีวประวัติของผู้ตายล้วน ๆ เล่มแรก คือ ศรีสุนทราณุประวัติ ซึ่งเป็นชีวประวัติของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชกาลที่ 5 จนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื้อหาหนังสืองานศพเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องประวัติศาสตร์ ตำราเรียน ศาสนา กฎหมาย วรรณกรรม จนถึงเบ็ดเตล็ด[7]

หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงประมาณทศวรรษ 2520 เศรษฐกิจเติบโต มีการขยายตัวของชนชั้นกลางและระบบราชการ พ่อค้าจีนที่อาศัยในประเทศไทย เนื้อหาในหนังสืองานศพจะเน้นประวัติผู้ตายมากขึ้นกว่าเดิม สำหรับข้าราชการจะเน้นความสำเร็จในงานราชการ ส่วนหนังสืองานศพนักธุรกิจ จะเน้นความสำเร็จของผู้ตายในการทำธุรกิจ การเขียนประวัติผู้ตายในช่วงนี้ เริ่มมีการแบ่งเนื้อหาให้แก่การเขียนคำไว้อาลัยให้แก่ผู้ตายมากขึ้น[8] ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงพุทธทศวรรษ 2520 จนถึงพุทธทศวรรษ 2550 เกิดความหลากหลายทางสังคม ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในการให้ความหมายแก่ชีวิต รวมไปถึงความหมายในการสร้างความทรงจำต่อผู้ตายด้วย สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ ความสำคัญแก่ คำไว้อาลัย เข้ามาแทนที่เนื้อหาการเขียนประวัติของผู้วายชนม์ในแบบเดิม และการเรียงลำดับคำไว้อาลัยให้พื้นที่แก่ข้าราชการระดับสูงก่อนเครือญาติเสียอีก ด้วยเหตุที่สังคมชนชั้นกลางขยาย ซึ่งได้ยอมรับแบบแผนหนังสืองานศพจะต้องเป็นหนังสือพุทธศาสนา ยังก่อให้เกิดธุรกิจการเตรียมหนังสือเกี่ยวกับหนังสือทางพุทธศาสนาแบบที่เข้าใจง่ายหรือสำเร็จรูป เพื่อรองรับความต้องการในการพิมพ์แบบเร่งด่วน[9]

แบบแผนในหนังสืองานศพปัจจุบัน มีการขยายตัว มีการเลือกเนื้อหาด้านการแพทย์ เช่น เรื่อง การแพทย์ ซึ่งนายแพทย์ประเวศ วสี เป็นบรรณาธิการ เรื่อง "ไข้" และเรื่อง "ไข้เลือดออก" ของนายแพทย์เกษม วัฒนชัย เรื่อง "โรคความดันโลหิตสูง (มากที่สุด)" เป็นต้น[9] สำหรับหนังสือที่นิยมจัดพิมพ์มากที่สุดในปัจจุบัน คือ หนังสือโคลงโลกนิติ[3]

เนื้อหา แก้

เนื้อหาในหนังสืองานศพมักแบ่งเป็น 2 ส่วนคือประวัติ คำไว้อาลัยและผลงานผู้ตาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ อีกส่วนหนึ่งคือ เนื้อหาความรู้ต่าง ๆ เช่น พงศาวดาร ประวัติศาสตร์ ศาสนา วรรณกรรม ซึ่งมีความหลายหลาย ขึ้นอยู่กับครอบครัวผู้ตายหรือหน่วยราชการว่าจะจัดพิมพ์แบบไหน อาจมีเนื้อหาอ่านสนุก หลากหลายรสชาติ

อ้างอิง แก้

  1. การสร้างรายการบรรณานุกรมหนังสืออนุสรณ์งานศพ
  2. ไสว บุญมา, ความตาย ความหมายตัวตน : หนังสือแจกงานศพ (1) กรุงเทพธุรกิจ
  3. 3.0 3.1 "ขุมทรัพย์ที่รฦกหนังสืออนุสรณ์งานศพ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2018-06-28.
  4. จากเมรุสู่แผง... การเดินทางของ 'หนังสืองานศพ'
  5. "หนังสืองานศพ นิทรรศการไฮไลท์ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-23. สืบค้นเมื่อ 2018-06-28.
  6. "หนังสือที่ระลึกงานศพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-07. สืบค้นเมื่อ 2018-06-28.
  7. หนังสือที่ระลึกงานศพ ขุมทรัพย์ของนักสะสม
  8. ความตาย ความหมายตัวตน : หนังสือแจกงานศพ (2)
  9. 9.0 9.1 ไสว บุญมา, ความตาย ความหมายตัวตน : หนังสือแจกงานศพ (จบ) กรุงเทพธุรกิจ