วัดโยธานิมิต (จังหวัดตราด)

วัดในจังหวัดตราด

วัดโยธานิมิต เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด

วัดโยธานิมิต
แผนที่
ชื่อสามัญวัดโยธานิมิต, วัดโบสถ์
ที่ตั้งตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดโยธานิมิต หรือ วัดโบสถ์ ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2315 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2512 ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด มีเพียงเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มารวบรวมกำลังที่จังหวัดตราดเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยานั้น ได้มารวบรวมกำลังอยู่บริเวณนี้ เมื่อมีเวลาก็ได้ขุดมูลดินไว้เพื่อที่จะสร้างวัดแต่ไม่มีเวลาพอ เพราะได้ยกทัพกลับไปจันทบุรีเสียก่อน ครั้งพระองค์กลับไป พวกกรมการเมืองราษฎรได้นิมนต์พระมาประจำอยู่ติดต่อกันมาตามลำดับ วัดแห่งนี้เคยใช้เป็นสถานที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยามาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) กับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปปราบญวน ได้ยกทัพมาอยู่ที่จังหวัดตราด ในเวลาว่างก็ได้ช่วยกันสร้างวัด แต่ถึงกระนั้นเมื่อตรวจสอบจากพงศาวดารก็ไม่พบบันทึก จะมีเพียงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อคือ ตอนที่ให้พระอภัยพิพิธ พระราชวรินทร์ และพระเทพสงครามคุมทัพเมืองจันทบุรี เมืองตราด และเมืองระยอง กับพระยาโสรัชชะ ออกญาเสนาอันชิตเจ้าเมืองกำปอด ยกเข้าตีค่ายญวนเมื่อเดือน 4 แรม 14 ค่ำ (ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2384)[1]

ส่วนข้อความที่ปรากฏในพงศาวดาร พบว่า เมื่อเดือนอ้าย พ.ศ. 2377 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองออกไปสร้างวัดโยธานิมิต (วัดโบสถ์) ที่จังหวัดจันทบุรี พร้อมกับสร้างเมืองจันทบุรีขึ้นใหม่ พงศาวดารระบุว่าที่จันทบุรีแต่เมื่อพิจารณาแล้วชื่อวัดโยธานิมิตในจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราดต่างมีชื่อพ้องกันทุกประการ แม้แต่ชื่อที่ใช้เรียกกันทั่ว ๆ ไปคือ วัดโบสถ์ จึงเข้าใจว่าอาจเกิดความสับสนระหว่างวัดในจังหวัดจันทบุรีและตราดก็ได้[2]

อาคารเสนาสนะ แก้

วิหาร หรือ พระอุโบสถเก่า มีลักษณะการก่อสร้างเป็นศิลปะอยุธยา ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง พระเวสสันดรชาดก[3] ปัจจุบันวิหารนี้ใช้เป็นที่เก็บโบราณวัตถุ เช่น รอยพระพุทธบาท ตู้ลายรดน้ำ นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์ สวนไทร และอุทยานการศึกษา

อ้างอิง แก้

  1. "วัดโยธานิมิต". มิวเซียมไทยแลนด์.
  2. "วัดโยธานิมิต พระอารามหลวง". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดตราด.
  3. "วัดโยธานิมิตร". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตราด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-25. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.