วัดอ่างแก้ว (กรุงเทพมหานคร)

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดอ่างแก้วเป็นวัดหนึ่งในเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกายมีพระเกจิอาจารย์ที่สำคัญ คือท่านพระครูพรหมโชติวัฒน์ ที่ร่ำลือเรื่องพุทธคุณ บริเวณวัด ตั้งอยู่ริมคลองภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ทิศเหนือติดต่อกับคลองภาษีเจริญ ตลอดแนวยาว 114 เมตร ทิศตะวันออกติดคลองขวาง มีอีกชื่อหนึ่งว่าคลองโคนอนระยะ 142 เมตร ทิศใต้มีความยาว 117ติดต่อกับถนนพัฒนาการ (เดิม) ปัจจุบันคือถนนเทอดไท ทิศตะวันตกติดต่อกับ โรงเรียนวัดอ่างแก้ว (จีบ ปานขำ) ระยะ 117 เมตรและที่ดินเอกชน ลักษณะพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มติดคลองทั้งด้านหน้าและด้านข้าง มีกำแพงก่ออิฐถือปูนกั้นตรงชิดถนน เป็นเขตประตูเข้าออกของวัด วัดนี้มีลักษณะพิเศษคือ ด้านหน้าวัดนั้นมีลานสนามทราย ซึ่งเป็นวัดนี้เป็นวัดที่มีลานทรายด้านหน้าพระอุโบสถเหลือเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีมาแต่โบราณ ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย (วันสงกรานต์) ทุก ๆ ปี จะมีประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นที่ลานทรายแห่งนี้ และสรงนำหลวงพ่อโต อีกทั้งยังมีจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถเรื่องพุทธประวัติที่สวยงามอีกด้วย

วัดอ่างแก้ว
อุโบสถในปี พ.ศ.2566
แผนที่
ชื่อสามัญวัดอ่างแก้ว
ที่ตั้งเลขที่ 30 ถนนเทอดไท แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อโต (ด้านหน้าโบสถ์)
เจ้าอาวาสพระครูเขมาภิรม (เกษม สิริวฑฺฒโน)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติความเป็นมาของวัด แก้

วัดอ่างแก้วเป็นวัดโบราณ บางตำรากล่าวว่ามีครั้งกรุงศรีอยุธยา แล้วมาทำการบูรณะขึ้นอีกทีในสมัยรัชกาลที่ 3 บางตำราว่าสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2419 ตั้งแต่ได้ขุดคลองภาษีเจริญได้ 8 ปี โดยท่านเจ้าคุณพระภาวนาโกศลเถระ (รอด) ซึ่งแต่เดิมท่าได้จำพรรษาอยู่ที่วัดโคนอน ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากวัดอ่างแก้วนี้นัก ได้บอกบุญแก่ชาวบ้านให้ซื้อที่ดินและสัมภาระในการสร้างวัดนี้ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ความดีของท่าน เมื่อครั้งหลังการสร้างวัดต่อมาได้มีผู้มีจิตศรัทธาในสมัยนั้นบริจาคเรือนไทยไม้สักให้อีกหลายหลัง (ในปัจจุบันนี้ยังมีอยู่หลายหลัง) เมื่อไดจัดการเรียบร้อยแล้วจึงให้พระภิกษุที่เป็นสัทธิวิหาริกของท่านจำนวน 5 รูป มาอยู่จำพรรษา และแต่งตั้งให้พระอธิการเบี้ยว อินฺทสุวณฺโณ เป็นเจ้าอาวาส การสร้างอุโบสถได้กระทำการสร้างต่อมา และเสร็จเรียบร้อยเมื่อปีฉลู พ.ศ. 2420 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีเดียวกัน วัดอ่างแก้วนี้จึงมีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง 19.25 เมตร ยาว 30.72 เมตร พร้อมทั้งทำการผูกพัทธสีมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2421

เกี่ยวกับชื่อวัดเดิมที่มีประวัติว่าทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบริเวณที่สร้างอุโบสถ เดิมทีที่ดินมีลักษณะเป็นอ่างน้ำใสขังอยู่ ท่านเจ้าคุณพระภาวนาโกศลจึงถือเอาลักษณะที่ดินแห่งนั้น มาตั้งเป็นนามวัดว่า “วัดอ่างแก้ว” และไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ประวัติทางการศึกษาของวัดในสมัยโบราณแต่เดิมมา วัดอ่างแก้วได้สนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมจากสำนักเรียนต่าง ๆ ได้ตามอัธยาศัยเพื่อสำหรับการศึกษาของชาติ ด้วยความต้องการของบุตรหลานของประชาชนในย่านบางหว้า ได้มีโรงเรียนที่จะทำให้ให้บุตรหลานได้มีโอกาสเรียนหนังสือ มีความรู้ อ่านออกเขียนได้ในระดับประถมศึกษา จึงได้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนวัดอ่างแก้ว โดยในระยะแรกใช้ศาลาวัดเป็นที่ศึกษาเล่าเรียน ตั้งแต่ปี 2475 และต่อมาวัดได้ให้ที่ดินสร้างโรงเรียนประชาบาลภายในวัด (ซึ่งในปัจจุบันคือโรงเรียนอ่างแก้ว (จีบ ปานขำ)) พร้อมทั้งสิ่งเสริมการศึกษาของกุลบุตรกุลธิดาด้วย
 
พระประธานในอุโบสถ
 
จิตรกรรมฝาผนังตรงข้ามพระประธาน

รายนามเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีต - ปัจจุบัน แก้

  • รูปที่ 1 พระอธิการเบี้ยว อินฺทสุวณฺโณ เป็นเมื่อ พ.ศ. 2420 ถึง พ.ศ. 2464
  • รูปที่ 2 พระอธิการพลอย สุวณฺโณ
  • รูปที่ 3 พระอธิการอุ่น พฺรหฺมสโร เป็นเมื่อ พ.ศ. 2479 ถึง พ.ศ. 2487
  • รูปที่ 4 พระครูพรหมโชติวัฒน์ (บุญมี พฺรหฺมโชติโก) เป็นเมื่อ พ.ศ. 2487 ถึงพ.ศ. 2524
  • รูปที่ 5 พระครูเขมาภิรม (เกษม สิริวฑฺฒโน) เป็นเมื่อ พ.ศ. 2526
  • รูปที่ 6 พระครูพินิจสุนทรกิจ เป็นเมื่อ พ.ศ. 2555-ปัจจุบัน

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

แหล่งที่อ้างอิง แก้