วัดหัวข่วง (จังหวัดแพร่)

วัดในจังหวัดแพร่

วัดหัวข่วง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

วัดหัวข่วง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดหัวข่วง, วัดหัวข่วงสิงห์ชัย
ที่ตั้งตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดหัวข่วง เชื่อกันว่าสร้างในสมัยเดียวกันกับพระธาตุช่อแฮ (พ.ศ. 1387) และวัดพระหลวงธาตุเนิ้ง[1] คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยท้าวพหุสิงห์ พระโอรสพ่อขุนหลวงพล เจ้าผู้ครองนครแพร่คนแรก เมื่อพ่อขุนหลวงพลอพยพมาจากเมืองสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของจีน ท่านลงมาตั้งที่บริเวณอำเภอร้องกวาง แต่พบว่ามีผู้ปกครองอยู่แล้ว คือ เจ้าวงพระถางเฒ่า จึงย้ายมาบริเวณอำเภอเมืองแพร่ มาสร้างชุมชน ได้สร้างวัดแห่งหนึ่งขึ้นนั่นก็คือ วัดหลวง หลังจากปกครองเมืองแพร่มาเป็นเวลานานและอายุมากขึ้น จึงได้ยกเมืองให้แก่โอรสนามว่าท้าวพหุสิงห์ หลังจากขึ้นครองเมืองแล้ว ท้าวพหุสิงห์ได้บูรณะวัด โดยว่าจ้างช่างชาวเมืองเวียงพางคำเชียงแสน มาซ่อมแซมบูรณะวัดหลวง จากนั้นแม่เฒ่าจันคำวงศ์ ย่าของท้าวพหุสิงห์ได้เห็นฝีมือที่สวยงามของช่าง จึงคิดจะสร้างวัดขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่ง จึงเลือกเอาที่ดินว่างเป็นลานกว้างขวางกว่าเดิมใช้เป็น ข่วงเล่นกีฬาประจำเมือง เป็นที่สร้างวัด และใช้ช่างคนเดิมที่เคยมาบูรณะวัดหลวง วัดที่สร้างขึ้นใหม่ได้ชื่อว่า วัดหัวข่วงสิงห์ชัย

พระธาตุเจดีย์มีลักษณะเป็นแบบศิลปะล้านนา และมีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองแพร่ มีตำนานเล่าถึงการปรากฏของดวงแก้วออกมาจากยอดพระธาตุ มีขนาดเป็นรูปทรงกลมเท่าผมส้ม เปล่งรัศมีสุกใสสีส้มแกมสีเขียวมรกตดังสีพระจันทร์ ทรงกรด แสงสุกใสดังกล่าวมักจะมีปรากฏให้เห็นช่วงเวลาใกล้วันสำคัญของพระพุทธศาสนา พระธาตุเจดีย์มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 13.50 เมตร สูง 25.60 เมตร ภายใต้ฐานเจดีย์มีสำเภาเงิน สำเภาทอง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

วิหารตกแต่งฐานพระประธานประดับด้วยมุก ประตูด้านหน้าแกะสลักเป็นภาพพุทธประวัติ ทำฉัตรเก้าชั้นด้วยเงินจากเมืองตะโก้ง หงสาวดีไว้ในวิหาร และภายหลังกรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะพระธาตุเจดีย์และอุโบสถซึ่งเป็นอุโบสถทรงล้านนา[2]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดหัวข่วง". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  2. "วัดหัวข่วง". มิวเซียมไทยแลนด์.