วัดพลับ (จังหวัดจันทบุรี)

วัดพลับ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523

วัดพลับ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพลับ, วัดพลับสุวรรณพิมพราราม, วัดสุวรรณติมพรุธาราม
ที่ตั้งตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดพลับเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อว่า วัดพลับสุวรรณพิมพราราม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดสุวรรณติมพรุธาราม มีความหมายว่า "วัดพลับทอง" และท้ายสุดเปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดพลับ"

เมื่อ พ.ศ. 2310 ครั้นกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งตีฝ่าวงล้อมข้าศึกมาตั้งทัพที่ภาคตะวันออก พระองค์ทรงใช้วัดพลับเป็นที่พักทัพและจัดเตรียมกองทัพก่อนเข้าตีเมืองจันทบุรี ทั้งยังทรงประกอบพิธีบำรุงขวัญทหาร สร้างพระยอดธงแจกจ่าย และนำน้ำในบ่อน้ำมาทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมเหล่าทหารหาญ โดยกระทำพิธีปลุกเสกในอุโบสถหลังเก่า ภายหลังเมื่อพระองค์กอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระองค์พร้อมด้วยแม่ทัพนายกองได้เสด็จกลับมาบูรณะวัดพลับอีกครั้ง และได้นำพระยอดธงที่เหลือจากการแจกจ่ายทหารในครั้งนั้นเข้าบรรจุในพระเจดีย์กลางน้ำถวายเป็นพุทธบูชา[1]

วัดพลับยังได้ให้ทางราชการตั้งโรงเรียน 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนบากะจะ โรงเรียนประถมศึกษาวัดพลับจันทบุรชีบาอุทิศ และศูนย์เด็กเล็กก่อนเกณฑ์ของวัดอีก 1 ศูนย์ และเมื่อ พ.ศ. 2543 กรมการศาสนาได้ประกาศให้วัดพลับเป็นอุทยานการศึกษาในวัด[2]

อาคารและเสนาสนะ แก้

อุโบสถหลังเก่าได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง มีหน้าบันเป็นลวดลายปูนปั้นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ หลังคาตกแต่งด้วยเครื่องลำยองปูนปั้น เคยเป็นสถานที่ปลุกเสกมุรธาภิเษกในพระพิธีพระบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ สร้างใหม่ พ.ศ. 2506 ปฏิสังขรณ์ พ.ศ. 2533 ด้านหลังพระประธานภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปเก่าแก่ที่เชื่อว่าสร้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่กลางน้ำ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลางสูงประมาณ 7 เมตร ตัวองค์ระฆังก่ออิฐถือปูนธรรมดา ไม่ประดับกระเบื้องมีฐานประทักษิณ โดยรอบ 4 ด้าน กรมศิลปากรได้ปฏิสังขรณ์ แล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 หอไม้ทรงไทยสร้างอยู่กลางสระน้ำ หลังคา 2 ชั้นทรงจั่วโครงสร้างไม้ตกแต่งด้วยเครื่องลำยอง มีระเบียงรอบหอเสารองรับหลังคาเป็นเสาเดิมยังเห็นร่องรอยการตกแต่งด้วยลายรดน้ำลงรักปิดทอง กรมศิลปากรได้ปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2552

พระปรางค์สร้างเมื่อ พ.ศ. 2441 เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ สูง 20 เมตร องค์พระปรางค์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ 2 ชั้น มีบันไดมีมุขยื่นทั้ง 4 ด้านโดยรอบ ส่วนยอดของพระปรางค์ มีการซ้อนชั้น องค์พระปรางค์เล็กมีชั้นฐานเชิงบาตรรองรับประดับซุ้มด้วยรูปปั้นเศียรช้างทั้ง 4 ทิศ และส่วนยอดสุดตกแต่งด้วยยอดปรางค์ประดับด้วยตรีศูล ได้รับการบูรณะเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550

วิหารไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนยอดของหลังคาเป็นทรงจัตุรมุข มีเจดีย์ขนาดเล็กประดับบนยอดจัตุรมุขมีเครื่องลำยองที่ทำด้วยไม้ แกะสลัก สวยงามตกแต่งจตุรมุขและบริเวณช่องลมทั้ง 4 ด้านประดับด้วยการแกะสลักลวดลายไม้ฉลุที่งดงาม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา กรมศิลปากรได้ปฏิสังขรณ์วิหารไม้แห่งนี้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2556[3] นอกจากนั้นวัดยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และอนุสรณ์สถานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

อ้างอิง แก้

  1. "9 ของดี "วัดพลับ" เมืองจันท์ วัดสำคัญสมัยพระเจ้าตาก". ผู้จัดการออนไลน์.
  2. "วัดพลับ บางกะจะ". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-28. สืบค้นเมื่อ 2021-04-28.
  3. "วัดพลับ บางกะจะ". ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-28. สืบค้นเมื่อ 2021-04-28.