วัดบ้านทวน

วัดในจังหวัดกาญจนบุรี

วัดบ้านทวน ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ตำบลพนมทวน อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 28 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา

วัดบ้านทวน
แผนที่
ที่ตั้งตำบลพนมทวน อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

วัดบ้านทวน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2325 เดิมเป็นวัดร้างมาก่อน เป็นวัดเก่ามีอายุมากกว่า 200 ปี มีเจดีย์เก่าประดิษฐานอยู่หลังอุโบสถ์เก่า วัดตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านมีแม่น้ำเก่าซึ่งตื้นเขิน จนกลายเป็นลำคลองอยู่ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือ มีสระน้ำอยู่ภายในเขตวัดทางทิศใต้ ประชาชนใช้อุปโภคบริโภคตลอดปี ในปี พ.ศ. 2458 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลราชบุรี ได้เสด็จตรวจคณะสงฆ์ในจังหวัดกาญจนบุรี และเสด็จมาที่วัดบ้านทวน ทรงได้ขอพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นพระครูสัญญาบัตรให้เจ้าอธิการม่วง วัดบ้านทวน ตำแหน่งเจ้าคณะแขวง เป็นที่พระครูสิงคิคุณธาดา หลวงปู่ม่วงได้บำเพ็ญสาธารณกุศลและสร้างถาวรวัตถุไว้เป็นอันมากจนมรณภาพ[1] วัดบ้านทวนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540

โบราณสถานภายในวัดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานลำดับที่ 16 ของจังหวัดกาญจนบุรี[2] มีสิ่งสำคัญดังนี้

  • พระอุโบสถหลังเก่า ก่ออิฐฉาบปูน มีพาไลด้านหน้าประตู อยู่ด้านทิศตะวันออกสองช่อง หน้าบันด้านทิศตะวันตกมีลวดลายปูนปั้น ประกอบด้วยเครื่องถ้วยจีนมีลายเครือเถา ช้างเอราวัณ ตรี สิงห์ยืนคาบเครือเถา ช่องพาไลทั้งสองข้างมีภาพเขียนสีประกอบปูนปั้นรูปค้างคาวและปลา หน้าปันด้านทิศตะวันตกมีลวดลายปูนปั้น รูปเครือเถา ประกอบด้วยเครื่องถ้วยจีน ด้านล่างมีรูปนกยูง 2 ตัว ประกอบกับเครื่องเถาและลายจีน ช่องพาไลทั้งสองข้างนี้ลวดลายแต่งเลื่อมมาก หลังคาสองชั้นมุงด้วยกระเบื้องหน้าวัว มีช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้ฉลุ มีหน้าต่างสองด้าน ด้านละสามช่อง เหนือวงกบหน้าต่างมีลวดลายดอกไม้ ประตูด้านทิศตะวันออก เสา กรอบประตู มีลายเขียนสีดอกไม้และรูปสัตว์ เช่น นก ปลา ซุ้มทำเป็นนนาคสะดุ้ง หน้าบันเป็นรูปครุฑหยุดนาค ประตูไม้เกลี้ยงไม่มีลวดลาย
  • ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารชั้นเดียวสร้างด้วยไม้และปูน ด้านทิศเหนือมีอาสนะสงฆ์และพระพุทธรูปปูนปั้น หลังคามุงกระเบื้องหย้าวัวสามชั้น มีนาคสะดุ้งใบระกา ช่อฟ้า หางหงส์รูปพยานาค กว้างประมาณ 16 เมตร ยาว 21.50 เมตร
  • มณฑป ทรงจตุรมุข ยอดทรงเจดีย์สี่เหลี่ยม ฐานกว้าง 12 เมตร มีประตูทางเข้าทั้งสี่ด้าน มีลานประทักษิณ ก่ออิฐฉาบปูน มีลวดลายปูนปั้น ทาสี หน้าบันทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เป็นรูปครุฑและลายเครือเถา
  • เจดีย์ ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ ก่ออิฐฉาบปูน เป็นเจดีย์ทรงกลม องค์ระฆังรูปโอคว่ำ บัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม ปล้องไฉนกลม ปลียอดหักพังลงมาหมดแล้ว ฐานเจดีย์กว้าง 9 เมตร
  • ซุ้มประตู เหลือเฉพาะซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้ ก่ออิฐฉาบปูน เสารูปสี่เหลี่ยมไม่มีลวดลาย หลังคาทรงจั่ว หน้าบันของซุ้มประตูด้านทิศใต้มีนาคสะดุ้ง ใบระกาและหน้าบันมีลวดลายบัวสี่เหล่า ส่วนด้านทิศตะวันออกหลังคาคล้ายรูปฐานเจดีย์
  • สิงห์ปูนปั้น คงเหลือแต่ส่วนหัว เป็นสิงห์ไทยตามแบบสมัยอยุธยา

อ้างอิง

แก้
  1. https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1082677.pdf
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม118ตอน33ง. วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2544