วัดบูรพาราม (จังหวัดปัตตานี)

วัดในจังหวัดปัตตานี

วัดบูรพาราม (วัดออก) เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่เลขที่ 309 หมู่ที่ 1 ถนนรามโกมุท ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นวัดราษฎร์ สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่เนื่องจากไม่ได้มีการจดบันทึกไว้จึงทำให้มีการคลาดเคลื่อน วัดบูรพารามมีความเกี่ยวพันทางประวัติศาสตร์กับวัดตะเคียนทอง (วัดตก) วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อำเภอยะหริ่ง และ วัดมุจลินทวาปีวิหาร (วัดตุยง) พระอารามหลวง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

วัดบูรพาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบูรพาราม, วัดออก
ที่ตั้งตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

ในสมัยเมืองปัตตานียังเป็นเมืองเดียวกันยังไม่ได้แยกออกเป็นเมืองเล็ก ๆ สมัยที่นายขวัญซ้าย เป็นเจ้าเมืองปกครองปัตตานีอยู่นั้น ท่านได้ตั้งศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลนาเกลือ อำเภอเมืองปัตตานี ต่อมาท่านได้เสียชีวิตลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้ง นายพ่าย เป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองปัตตานี ให้ นายยิ้มซ้าย (หลวงสวัสดิภักดี) เป็นผู้ช่วย ท่านได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองของปัตตานีมาอยู่ที่ ตำบลยามู ท่านได้สร้างบ้านและว่าราชการอยู่ในเมืองยะหริ่งนี้ จึงได้สร้างวัดขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางของเมือง และเป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา นั้นก็คือ วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) จึงถือได้ว่า วัดมัชฌิมาวาสในสมัยนั้นมีความเจริญมาก เพราะเนื่องจากเป็นวัดประจำเมือง และวัดประจำของเจ้าเมือง

ต่อมาเมื่อเกิดการกบฏจากเชื้อสายเจ้าเมืองเก่า และกลุ่มการเมืองเก่า ทำให้บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ ท่านจึงส่งใบบอกไปยังเมืองสงขลา ทางเมืองสงขลาจึงรายงานขึ้นไปยังกรุงเทพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ส่งกองทัพมาช่วยปราบปราม และได้แยกเมืองปัตตานีออกเป็นเจ็ดเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองยะลา เมืองระแงะ เมืองสายบุรี เมืองยะหริ่ง เมืองรามันห์ เมืองหนองจิก ซึ่งเมืองยะหริ่งนั้น พระองค์โปรดเกล้าให้ นายพ่าย เป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองยะหริ่ง หลวงสวัสดิภักดี (นายยิ้มซ้าย) เป็นผู้ช่วย วัดมัชฌิมาวาส จึงกลายเป็นวัดประจำเมืองยะหริ่ง

พระยายะหริ่ง (พ่าย) ใช้ตำบลยามูเป็นศูนย์กลางในการปกครองของเมืองปัตตานี และเมืองยะหริ่ง หลังจากท่านได้สร้างวัดขึ้นมาแล้ว จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ ณ หมู่บ้านทุ่งคา ซึ่งเป็นที่พักสงฆ์ และได้นิมนต์พระสงฆ์จากทุ่งคามาเป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในเมืองยะหริ่งเป็นเวลาเท่าไหร่ไม่ปรากฏ เมื่อท่านมรณภาพ เนื่องจากเมืองในบริเวณนี้เป็นเมืองที่มีชาวมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก พระสงฆ์จึงมีจำนวนน้อย เจ้าอาวาสรูปต่อมาจึงเป็นพระสงฆ์ที่นิมนต์มาจากที่อื่น ชื่อท่านสอน ชาวเมืองยะหริ่งเรียกว่า "ท่านบางกอก" (สันนิษฐานว่า เนื่องจากครอบครัวของนายพ่ายเป็นชาวจีน อยู่ในเมืองจะนะ มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าเมืองจะนะ (พระยามหานุภาพปราบสงคราม) และนายขวัญซ้ายเองเคยรับราชการเป็นมหาดเล็กในเมืองหลวงมาก่อน ทำให้นายพ่ายนิมนต์พระมาจากเมืองหลวงเพื่อมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงยิ่งขึ้น) ท่านสอน มีสมณศักดิ์ชั้นใดไม่ปรากฏ มีพระฐานานุกรม คือ พระปลัด หนึ่งรูป พระสมุพรหม ธมฺมสโร หนึ่งรูป ท่านขรัวเทพ หนึ่งรูป และท่านขรัวสม หนึ่งรูป หลังจากวัดมัชฌิมาวาส มีความมั่นคงแล้ว ท่านปลัด ได้ออกไปตั้งสำนักอยู่ปริวาสกรรมในดงตะเคียนด้านทิศตะวันตกของวัด (ซึ่งในขณะนั้นเป็นพื้นที่เดียวกัน) สืบเนื่องต่อมาจนเป็น วัดตะเคียนทอง(วัดตก) ในฝ่ายท่านสมุห์พรหม ได้ไปตั้งสำนักเรียนด้านฝ่ายตะวันออกของวัดสืบเนื่องต่อมาเป็นวัดบูรพาราม (วัดออก) วัดบูรพารามสมัยเริ่มตั้งสำนักเรียนปริยัตินั้นได้รับการดูแลจากชาวจีนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองยามู เพราะวัดบูรพารามอยู่ใกล้กับชุมชนชาวจีน

ต่อมาเกิดเหตุการณ์ศึกสงครามขึ้นมาอีก ทำให้บริเวณเจ็ดหัวเมืองมีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองเมือง นายพ่ายยังคงปกครองเมืองยะหริ่งเช่นเดิม ให้นายยิ้มซ้ายผู้ช่วยเมืองยะหริ่ง ไปเป็นผู้ปกครองเมืองยะลา และให้นายเม่น จากเมืองจะนะ ผู้ซึ่งมีความชอบในการปกป้องเมืองจะนะจากข้าศึก มาปกครองเมืองหนองจิก (เมืองหนองจิกเดิมอยู่บริเวณบ้านยาบี)

นายพ่ายปกครองเมืองยะหริ่งจนท่านได้ถึงแก่กรรม จึงได้ย้ายนายยิ้มซ้ายมาปกครองเมืองยะหริ่ง และให้นายเกลียง (หรือนายเกลี้ยง) เป็นผู้ช่วย ในระหว่างที่นายยิ้มซ้ายปกครองเมืองยะหริ่งอยู่นี้ เกิดเหตุการณ์ที่นายเม่น ทำการลักพาตัวลูกสาวของพระยายะหริ่ง(ยิ้มซ้าย) ในขณะที่ลูกสาวท่านพระยายะหริ่งไปเที่ยวป่าบริเวณตำบลบ้านยาว ทำให้ทั้งสองเมืองนี้ไม่ถูกกัน

หลังจากนั้น นายยิ้มซ้าย ได้ถึงแก่กรรมลง ขณะเดียวกันนายเม่น เจ้าเมืองหนองจิกก็ถูกปลดจากตำแหน่ง (แต่ยังตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เดิม) ทางราชการจึงได้ทำการเปลี่ยนแปลงเจ้าเมืองคนอื่นๆในคราวเดียวกันนี้เอง โดยให้ นายเกลี้ยง (บุตรนายยิ้มซ้าย) เป็นเจ้าเมืองหนองจิก ให้นายเมือง (บุตรนายพ่าย) ไปเป็นเจ้าเมืองยะลา ให้ โต๊ะกี หรือ นิยูโซ๊ะ มาเป็นเจ้าเมืองยะหริ่งแทน ในช่วงนี้เอง นายเกลี้ยง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดกับท่านสมุห์พรมจึงได้นิมนต์พระสมุพรหม ผู้ซึ่งดูแลวัดออก และชาวบ้านบางส่วนไปอยู่เมืองหนองจิก ท่านได้ย้ายศูนย์กลางเมืองมาอยู่ที่บริเวณตำบลตุยง เพราะด้วยเหตุผลจากนายเม่น (ผู้เป็นเจ้าเมืองเก่า) คอยระราน ไม่ให้ท่านว่าราชการ ท่านจึงไม่อยากมีปัญหา จึงหาสถานที่ตั้งเมืองใหม่ และได้สร้างวัดตุยงขึ้นในคราวนี้เอง จึงกล่าวได้ว่า พระสมุพรม ท่านสร้างวัดขึ้นสองวัด คือ วัดบูรพาราม (วัดออก) และ วัดมุจลินทวาปีวิหาร (วัดตุยง)

เมื่อเจ้าเมืองเปลี่ยนเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม วัดในเมืองยะหริ่งจึงเสื่อมลงในคราวนี้ แต่ไม่ถึงกับขาดประชาชนดูแลเลย เพราะเมืองยะหริ่งนั้น มีชาวจีน และชาวพื้นเมืองที่นับถือศาสนาพุทธ อยู่กันมากกว่าเมืองอื่นๆ ทั้งหมดในปัตตานี วัดจึงได้รับการดูแลมาเป็นอย่างดีจากประชาชนที่อยู่ในเมืองยะหริ่งนี่เอง

หลังจากพระยายะหริ่ง(ยิ้มซ้าย) ได้ถึงแก่กรรมลง เจ้าเมืองยะหริ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เป็นชาวมุสลิม ทำให้วัดกลางไม่ได้เป็นศูนย์กลางของเมืองดังเช่นอดีต ทำให้เสื่อมโทรมลง แต่วัดบูรพารามได้พัฒนาขึ้นและมีเสนาสนะที่เหมาะสมมั่นคง ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อทุ่งคาไปประดิษฐานยังวัดบูรพาราม

ร.ศ.118 (ตรงกับ พ.ศ. 2442) พระศิริธรรมมุนี(ม่วง รตนทฺธโช) ผู้อำนวยศึกษามณฑลนครศรีธรรมราช ได้เริ่มจัดการการศึกษาในมลฑลนครศรีธรรมราช ท่านได้เดินทางไปยังเมืองต่างๆเพื่อตั้งโรงเรียนขึ้น ตามพระราชประสงฆ์ของรัชกาลที่ 5 ท่านได้เดินทางมาถึงเมืองยะหริ่ง และได้เขียนรายงานทูลเกล้าถวาย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ผู้ทรงเป็นประธานอำนวยการศึกษา ความว่า

“วันที่ ๒๒ หลวงสุนทรธนารักษ์จัดเรือกรรเชียงให้ ๑ ลำ เรือพาย ๑ ลำ ไปส่งยังเมืองยะหริ่ง ในเวลา ๔ โมงเช้า เจ้าอธิการหมวดมาต้อนรับ ให้พักในศาลาการเปรียญวัดออก ได้ไปตรวจวัดนั้นๆ ตามที่มีมาเป็นลำดับในบาญชีนั้นแล้ว เพลาบ่าย ๔ โมง พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดี เจ้าเมืองยะหริ่ง กับหมื่นราชรักษา ผู้แทนข้าหลวงผู้ช่วยรักษาราชการเมืองยะหริ่งมาเยี่ยม ได้ชี้แจงพระราชประสงค์ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น พร้อมกันเห็นว่า วัดออกมีพระสงฆ์ ๑๑ รูป ศิษย์วัด ๒๑ คน ควรตั้งโรงเรียนราษฏรได้ หมื่นราชรักษารับเป็นผู้อุดหนุนตามกำลัง จัดศาลาการเปรียญเป็นโรงเรียนไปพลางก่อน จัดพระจันเป็นอาจารย์ แต่ยังไม่ได้เปิดการสอน เพราะพระจันความรู้ยังอ่อน ต้องพาพระจันเข้าไปศึกษาที่โรงเรียนเมืองสงขลา เพื่อจะให้เข้าใจในวิธีสอน แล้วจึงจะให้กลับเปิดการสอนในต้นศก ๑๑๙ โรงเรียนนี้ (ชื่อว่า ราชรักษุประการ) ”

โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นในวัดบูรพารามนี้ถือว่าเป็นโรงเรียนแรกของอำเภอยะหริ่ง ซึ่งเกิดพร้อมกับโรงเรียนในเมืองสงขลา และเมืองอื่นๆ โดยมีชื่อดังนี้

มหาวชิราวุธ (อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา) ภุมมาพิสมัย (อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา) หฤทัยวิทยา (อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา) เพ็ชรานุกูลกิตย์ (อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี) สุนทรวิทยาธาร(อำเภอเมืองปัตตานี) วิมลญาณพิทักษ์ (อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี) และ ราชรักษุกประการ (อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี)

ต่อมาโรงเรียนที่ตั้งในวัดบูรพารามไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากชาวมุสลิมไม่นิยมเข้ามาศึกษาในวัดเพราะเห็นว่าเป็นการเรียนด้านศาสนา ส่วนชาวพุทธเองก็มีน้อย ประกอบกับไม่ได้รับการอุดหนุนจากผู้ว่าราชการเมืองเท่าที่ควร โรงเรียนจึงได้ยุบลง

ในปี ร.ศ.123 (ตรงกับ พ.ศ. 2447) พระศิริธรรมมุนี ท่านได้รายงานเรื่องโรงเรียนในเมืองต่างๆ รวมถึงเมืองยะหริ่ง ไว้ดังนี้

“ การศึกษาในเมืองนี้ เดิมเมื่อศก ๑๑๘ ได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นไว้ที่วัดออก ได้แนะนำพระสมุห์จันจัดให้สอนตามแบบของโรงเรียน ราษฏรไม่สู้พอใจจนโรงเรียนล้มไป ในปี้นี้ พระสมุห์จัน ได้จัดการเรี่ยรายกับสับบุรุษและข้าราชการบางนายให้ออกทุนตั้งขึ้นอีก พระหนูเป็นอาจารย์ มีนักเรียน ๒๐ คน สอนตามแบบแผนของโรงเรียนอยู่ แต่ยังหาได้รับความบำรุงของรัฐไม่ ”

วัดบูรพาราม (วัดออก) มีเจ้าอาวาสผลัดกันปกครอง จนมามั่นคงอีกครั้งในสมัยของ พระอธิการช่วย อินฺทสโร ท่านปกครองดูแลวัดบูรพาราม จนถึงแก่มรณภาพ

ปี พ.ศ. 2491 เมื่อท่านอธิการช่วย ถึงแก่มรณภาพ พระครูสุวรรณไพบูลย์ ขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอยะหริ่ง ท่านได้มอบหมายให้ พระแดง ฐานธมฺโม มาดูแลปกครองวัดบูรพารามต่อมา

เมื่อแรกมาอยู่วัดบูรพาราม พระราชมงคลญาณ เล่าว่า มีศาลาบาตร 1 หลัง มีรูปวาดสวยงาม ท่านเห็นว่ากีดขวางการสร้างทาง และท่านคิดว่าจะสร้างขึ้นใหม่ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ท่านจึงรื้อเสีย ในสมัยนั้นบริเวณวัดบูรพารามมีต้นตะเคียนต้นใหญ่ๆ จำนวนมาก ในพรรษาแรก ท่านได้นิมนต์พระมาจากวัดปิยารามเพื่อมาจำพรรษา พอมาถึงวัดพระที่มาด้วยถึงกับน้ำตาไหล ท่านได้ซักถามว่าร้องไห้ทำไม พระรูปนั้นบอกว่า “สงสาร ท่านอยู่วัดนี้ได้พรื่อ” ท่านอธิบายว่า คงเห็นว่าพื้นที่วัดเป็นป่า ห่างไกลบ้านประชาชน พอเริ่มเข้าพรรษาท่านจึงนำพระร่วมกันพัฒนาวัด ด้วยการตัดต้นตะเคียนเพื่อนำไม้มาก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ แต่ท่านเล่าว่า ต้นตะเคียนที่อยู่ในบริเวณวัดนี้ต้นใหญ่ๆ สองถึงสามคนโอบ ชาวบ้านบางรายขอร้องท่านว่าอย่าตัดเลย ส่วนท่านก็ต้องการพัฒนาวัด ท่านจึงไม่ตัดตามคำร้องขอ แต่ท่านใช้วิธีการขุด แรงงานที่ใช้ก็ใช้แรงงานของพระ บางต้นเริ่มต้นขุดตอนบ่ายโมง เสร็จสิ้นตอนเที่ยงคืนบ้าง ตีหนึ่งบ้าง

พระราชมงคลญาณ เล่าว่า ในอดีตที่ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสใหม่ๆ มีหลุมฝังศพของชาวจีนเรียงรายเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางหลุมไม่มีญาติมาทำบุญเป็นระยะเวลานาน ท่านจะขุดปรากฏว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย บางหลุมก็มีกระดูก ท่านจึงได้เก็บรวบรวมไว้ หลังจากนั้นท่านได้ปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน ท่านได้พัฒนาวัดบูรพารามให้มีเสนาสนะต่างๆตั้งแต่ท่านได้เริ่มเป็นเจ้าอาวาส โดยท่านได้เริ่มสร้าง

1.หอฉัน ช่างคิดค่าแรงและค่าอุปกรณ์บางส่วน ราคา 7,000 บาท แต่ท่านมีเงินเพียง 2,000 บาท นายอ่ำ ซึ่งเป็นเจ้าของ โรงอ่าง (บริเวณริมคลองยามูใกล้คลองแยกทางไปบ้านป่าหลวง) ได้บอกให้ท่านเริ่มสร้างโดยนายอ่ำได้บริจาคเงิน และได้เชิญชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคในครั้งนี้ด้วย 2.กุฏิไม้สองชั้น 3.ศาลาการเปรียญ 4.พระอุโบสถ 5.เมรุเผาศพ พร้อมศาลา 6.สำนักงานเจ้าคณะจังหวัด 7..วิหารหลวงพ่อทุ่งคา ในปี 30 มิถุนายน พ.ศ. 2545 ได้สร้างวิหารหลวงพ่อทุ่งคาเสร็จเรียบร้อย และได้มีการฉลอง รวมถึงอัญเชิญหลวงพ่อทุ่งคาจากกุฏิเจ้าอาวาสมาประดิษฐานยังวิหารแห่งนี้ในคราวเดียวกัน 8.ซุ้มประตูทางเข้าวัด(ใหม่)

หลังจากปี พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีทหารเข้ามาใช้วัดบูรพารามเป็นฐานเพื่อดูแลความไม่สงบของประชาชนในเขตอำเภอยะหริ่ง จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2554)

วัดบูรพาราม เป็นวัดราษฏร์ ได้รับการดูแลจากประชาชนมาเป็นอย่างดีตลอดมา ในวันพุธที่ 10 พฤศจิกายน 2553 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระกรุณาโปรดให้เชิญผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ทอดถวาย ณ วัดบูรพาราม ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่วัดบูรพารามได้รับการอุปถัมภ์จากพระบรมวงศานุวงค์ชั้นผู้ใหญ่ สร้างความปลาบปลื้มใจให้กับประชาชนในอำเภอยะหริ่งเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบัน วัดบูรพารามมีเสนาสนะที่จำเป็นครบถ้วน ซึ่งได้สร้างขึ้นในสมัยของพระราชมงคลญาณทั้งสิ้น ทำให้วัดบูรพารามมีความมั่นคงเป็นหลักยึดให้กับประชาชนชาวอำเภอยะหริ่ง และพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ลำดับเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม แก้

  • พระสมุพรหม (ผู้สร้างวัด ไปสร้างวัดตุยงพร้มพระยาแก้มดำ(เกลี้ยง))
  • พระอธิการสีทอง (ลูกศิษย์พระสมุห์พรหม ต่อมาไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปิยาราม)
  • พระอธิการหมัด (ลาสิกขา)
  • พระอธิการหริก (ลาสิกขา)
  • พระอธิการขวัญแก้ว
  • พระอธิการเต่า (ครั้งที่1)
  • พระอธิการเส้ง (ลาสิกขา)
  • พระอธิการเต่า (ครั้งที่2 ลาสิกขา)
  • พระอธิการจัน (ลาสิกขา) บัวท่านขวัญแก้ว ท่านช่วย
  • พระอธิการช่วย อินฺทสโร (ตั้งแต่ – จนถึง 2491)
  • พระราชมงคลญาณ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน (ตั้งแต่ 2491)

อ้างอิง แก้

  • ไชยยุทธ์ อินบัว.(2554). ประวัติวัติบูรพาราม. ปัตตานี.