วัดบางยี่ขัน

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดบางยี่ขัน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

วัดบางยี่ขัน
อุโบสถวัดบางยี่ขัน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบางยี่ขัน, วัดมุธราชาราม, วัดมุขราชธาราม
ที่ตั้งเลขที่ 376 ซอยอรุณอมรินทร์ 30 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดบางยี่ขันมีชื่อเรียกอย่างอื่นว่า วัดมุธราชาราม หรือ วัดมุขราชธาราม ไม่ทราบว่าเรียกชื่อเหล่านี้มาเมื่อใด หรืออาจเป็นชื่อจริงเดิมของวัดบางยี่ขันที่เรียกกันตามประสาชาวบ้าน คาดว่าเป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประมาณ พ.ศ. 2172

ศิลปกรรม

แก้

พระอุโบสถรูปทรงแบบอยุธยาแอ่นโค้งสำเภา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์อยู่ร่วมฐานชุกชีเดียวกัน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นฝีมือของช่างเขียนสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่มีการเขียนซ่อมและเขียนเพิ่มเติมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 3 แต่ยังคงขนบการเขียนภาพในลักษณะจิตรกรรมสมัยอยุธยา ฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของครูคงแป๊ะ จิตรกรเอกแห่งรัตนโกสินทร์ ฝีมือการเขียนภาพของท่านจะสอดแทรกอัตลักษณ์ความเป็นจีนอยู่เสมอ[1] ผนังเหนือช่องประตูหน้าต่างด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องไตรภูมิ ด้านหน้าพระประธานเขียนเรื่องมารผจญ ซึ่งภาพมารผจญของวัดบางยี่ขันได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบที่สวยงามของภาพมารผจญในสมัยต้นรัตนโกสินทร์[2]

ด้านข้างพระประธานเหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุม ระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติจากคัมภีร์ปฐมสมโพธิและเรื่องทศชาติชาดก ซึ่งมีภาพที่น่าสนใจและวาดได้อย่างประณีตปรากฏอยู่ 2 ภาพ ได้แก่ ภาพเหตุการณ์การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ซึ่งเป็นเหตุให้กษัตริย์หลายพระนครยกทัพมาทำสงครามเพื่อแย่งพระบรมสารีริกธาตุ เขียนได้ละเอียดลออมาก

ใบเสมาทำด้วยหินทรายแดงขนาดใหญ่แบบเดียวกับวัดประเสริฐสุทธาวาส[3]

อ้างอิง

แก้
  1. "เที่ยวงานวัดบางยี่ขัน ชมจิตรกรรมงานชั้นครูในพื้นที่บ้านสวนฝั่งธนฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-25. สืบค้นเมื่อ 2020-09-15.
  2. "วัดทองบางพลัด วัดบางยี่ขัน". ไทยศึกษา.
  3. "วัดมุธราชาราม" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 133.