วัดตะพงใน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ปัจจุบันมีเจ้าอาวาสคือ พระครูพิทักษ์กิตตยานุวัตร (ละมัย)

วัดตะพงใน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดตะพงใน, วัดสุวรรณอินทร์คชรินทร์ธาราม
ที่ตั้งตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูพิทักษ์กิตตยานุวัตร (ละมัย)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดตะพงใน เดิมชื่อว่า วัดสุวรรณอินทร์คชรินทร์ธาราม ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2300 ประวัติความเป็นมาของวัดตะพงในไม่มีผู้ใดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ทราบเพียงว่าวัดนี้ผู้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกคือ ท่านพ่อกลั่นไม่ทราบฉายาและนามสกุล เป็นเจ้าอาวาสเมือใดไม่มีใครทราบ ทั้งไม่ทราบว่าต่อจากท่านพ่อกลั่นแล้วใครบ้างเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน จนกระทั่งถึงอาจารย์ป๊อก อุคมสุขเป็นเจ้าอาวาส ไม่มีหลักฐานว่าเมื่อใด แต่ปรากฏว่าวัดนี้ไม่เคยร้างจะมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาติดต่อกันเรื่อยมา[1] ส่วนชื่อวัดตะพงในนั้นตั้งตามนามหมู่บ้าน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2524[2] กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 11 ตอนพิเศษ 124 ง ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2544 พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ 24 ตารางวา

อุโบสถหลังเก่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 8 เมตร ยาว 22 เมตร หลังคาเครื่องไม้ลดชั้น 2 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาซ้อนกันชั้นละ 2 ตับ มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ไม้แกะสลัก หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังมีร่องรอยการประดับด้วยเครื่องถ้วย ด้านหน้าเป็นเฉลียงมีหลังคาจั่นหับมุงสังกะสีคลุมระหว่างเสาไม้ที่ตั้งรับโครงหลังคา ตกแต่งด้วยเสาหัวเม็ด มีประตูบริเวณกึ่งกลางของผนัง 1 ประตู ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง เหนือกรอบประตูและหน้าต่างมีร่องรอยการประดับด้วยเครื่องถ้วย บานประตูและหน้าต่างไม้อกเลาแกะสลัก ภายในอุโบสถมีเฉพาะฐานปัทม์สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป[3]

อ้างอิง แก้

  1. กลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักงานศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี. ฐานข้อมูลโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีในเขตสำนักงานศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี , 2548.
  2. "วัดตะพงใน". พระสังฆาธิการ.
  3. "พระอุโบสถ(หลังเก่า) วัดตะพงใน". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.