วัดดอนเมือง

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดดอนเมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ในแขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

วัดดอนเมือง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดดอนเมือง
ที่ตั้งเลขที่ 1 ถนนเชิดวุฒากาศ แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระปริยัติโศภณ (อิทธิยาวุธ ธีรวโร ป.ธ.๙)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

พื้นที่เดิมของวัดดอนเมือง เป็นที่ราบสูง เดิมเรียกกันว่า ดอนอีเหยี่ยว เพราะมีฝูงเหยี่ยวบินมารวมตัวกัน ต่อมาเมื่อมีกองบินทหารบกมาตั้ง (กองทัพอากาศในปัจจุบัน) จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า ดอนเมือง วัดเริ่มสร้างราว พ.ศ. 2438 สมัยนั้นยังไม่มีชื่อ ชาวบ้านเรียกว่า วัดดอนอีเหยี่ยว[1] เป็นที่ดินของเศรษฐีซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น หมื่นอาจหาญ ประชาชนเรียก เสมียนภู่ ท่านได้ยกที่ดินแปลงนี้ให้เป็นที่สร้างวัด โดยมีพระอาจารย์จ๊ะ ท่านเป็นชาวรามัญ และเป็นพระที่เดินทางมาด้วยเรือมาจอดพักอาศัยในคลองเปรมประชากร ชาวบ้านได้นำอาหารมาถวาย ต่อมาเมื่อมีจิตศรัทธาเลื่อมใส ได้ปลูกสร้างกุฏิให้เป็นที่อยู่ ได้สร้างเป็นวัดในเวลาต่อมา

หลังจากที่รัฐบาลได้สร้างทางรถไฟสายเหนือผ่านที่ดินซึ่งเป็นการแบ่งที่ดินออกเป็น 2 ส่วน ทำให้ลำบากแก่การที่จะข้ามทางรถไฟไปทำมาหากินจึงได้ยกที่ดินให้เป็นที่สร้างวัด เดิมที่ดินของวัดนี้มีมากกว่านี้ ปัจจุบันที่ดินของวัดมีจำนวน 33 ไร่ 3 งาน 52 ตารางวา

อาคารเสนาสนะ แก้

พระอุโบสถ มีพระประธานเป็นพระพุทธสิหิงค์หน้าตักกว้าง 69 นิ้ว พระเจดีย์ ลักษณะระฆังคว่ำแปดเหลี่ยม สูง 29 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2541 เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่สมเด็จพระสังฆราชได้ประทานให้เมื่อปี พ.ศ. 2542 และพระวิหารหลวงปู่พร มีลักษณะแบบทรงไทย ขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 10 เมตร หลังคามุงกระเบื้องเคลือบกาบกล้วย ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2527 ภายในประดิษฐานพระพุทธชินราชและพระพุทธรูปอีกหลายองค์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ[2]

วัตถุมงคล แก้

วัตถุมงคลที่ขึ้นชื่อของวัดดอนเมือง คือ เหรียญหลวงพ่อพร พุทธสโร และที่นิยมแพร่หลายมากที่สุดก็คือ เหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2460–2465 มีพุทธคุณด้านแคล้วคลาดและเมตตามหานิยม ค้าขายร่ำรวย โชคลาภเป็นเยี่ยม ส่วนการจัดสร้างวัตถุมงคลในยุคปัจจุบันนั้น พระราชวิสุทธิมงคลหรือหลวงพ่อแคล้ว สุธัมโม เจ้าอาวาสวัดดอนเมือง ได้จัดสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน[3]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระอาจารย์จ๊ะ (ไม่มีหลักฐานตราตั้งเจ้าอาวาส) พ.ศ. 2438 – 2445
  • พระอาจารย์โปร่ง (ไม่มีหลักฐานตราตั้งเจ้าอาวาส) พ.ศ. 2445 – 2447
  • พระอาจารย์อยู่ (ไม่มีหลักฐานตราตั้งเจ้าอาวาส) พ.ศ. 2447 – 2451
  • พระอาจารย์ยวง (ไม่มีหลักฐานตราตั้งเจ้าอาวาส) พ.ศ. 2451 – 2456
  • พระอาจารย์พร พุทฺธสาโร (เจริญดี) พ.ศ. 2456 – 2484 ได้รับตราตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ 2460 และเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดดอนเมือง
  • พระครูปลัดจรูญ โสวณฺณิโก (ดำ พิชิต) พ.ศ. 2484 – 2486
  • พระครูสมุห์เชื้อ สาสนมนฺโท (มอญกระโทก) พ.ศ. 2486 –2494
  • พระราชวิสุทธิมงคล (แคล้ว สุธมฺโม) พ.ศ. 2510 – 2560
  • พระปริยัติโศภณ (อิทธิยาวุธ ธีรวโร ป.ธ.๙) 2560 – ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. "ลาก่อน..."ดอนเมือง" ที่คิดถึง". ผู้จัดการออนไลน์. 26 กันยายน 2549.
  2. "วัดดอนเมือง พระอารามหลวง ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร". ทัวร์วัดไทย.
  3. ไตรเทพ ไกรงู (5 ตุลาคม 2555). "วัดดอนเมืองกับ...หลวงพ่อแคล้ว พระผู้มีเมตตาแคล้วคลาด : ท่องไปในแดนธรรม". คมชัดลึก.