วังเจ้าเมืองพัทลุง

พิพิธภัณฑ์ในจังหวัดพัทลุง

วังเจ้าเมืองพัทลุง เป็นวังของเจ้าเมืองพัทลุงในสมัยการปกครองแบบกินเมือง ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ประกอบด้วยวังเก่าและวังใหม่ เป็นเรือนไทยที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างภาคกลางกับภาคใต้[1]

วังเจ้าเมืองพัทลุง
วังเก่า
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทเรือนไทย
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทย
เมืองหมู่ที่ 4 ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
ประเทศประเทศไทย ไทย
เริ่มสร้างวังเก่า (ไม่ทราบ), วังใหม่ (พ.ศ. 2434)

ประวัติ

แก้

วังเจ้าเมืองพัทลุงสร้างโดยพระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองพัทลุงระหว่าง พ.ศ. 2412–2431 ได้สร้างที่พำนัก ซึ่งใช้เป็นที่ว่าราชการเมืองด้วย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด ตกทอดเป็นของเจ้าเมืองคนถัดมาคือ พระยาวรวุฒิไวย ฯ (น้อย) ได้พำนักอยู่ที่วังเก่าจนถึงอนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2446 วังเก่าจึงตกเป็นมรดกแก่บุตรชายของท่าน คือหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) หลังจากนั้นก็ตกเป็นมรดกของคุณยายประไพ มุตตามระ[2] บุตรีของหลวง ศรีวรวัตร ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของพระยาวรวุฒิไวย ฯ ก่อนจะมอบให้แก่กรมศิลปากร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานวังเก่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2535

ส่วนวังใหม่สร้างโดยพระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร) เมื่อ พ.ศ. 2434 วังใหม่สร้างขึ้นด้านหลังวังเก่าทางด้านทิศใต้ติดกับคลองลำปำ จึงมีชาวบ้านเรียกวังใหม่นี้ว่า วังชายคลอง หรือ วังใหม่ชายคลอง แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียกเท่าชื่อ "วังใหม่" ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานในส่วนวังใหม่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2526[3]

สถาปัตยกรรม

แก้

วังเก่า

แก้

วังเก่าเป็นเรือนไทยแฝดสามหลังติดกัน จั่วขวางตะวัน ใต้ถุนสูงหลังที่ 1 และ 2 ทำเป็นห้องนอนหน้าห้องนอนของหลังที่ 1 และ 2 ปล่อยเป็นห้องโถงติดต่อกันห้องแม่ทานเป็นห้องที่ 3 ลักษณะเป็นห้องยาวครอบคลุมพื้นที่แนวห้องโถงหน้าเรือนหลังที่ 1 และ 2 ถัดออกไปเป็นชานขนาดเล็กต่อไปยังเรือนครัววัสดุก่อสร้างเป็นไม้ทั้งหมด[4]

วังใหม่

แก้
 
วังใหม่

วังใหม่เป็นกลุ่มเรือนไทย 5 หลังยกพื้นสูงล้อมรอบชานบ้านที่อยู่ตรงกลางเป็นลานทรายก่อด้วยกำแพงอิฐกั้นทรายไว้เพื่อยกระดับลานทรายให้สูงกว่าพื้นธรรมดา กลุ่มเรือนไทย 5 หลังประกอบไปด้วยเรือนประธาน ซึ่งเป็นที่พักของพระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร) เจ้าเมือง พร้อมภรรยาเอกและบุตร ลักษณะเป็นเรือนแฝด 2 หลัง ภายในเรือนแฝดมีห้องนอนหลายห้อง

หน้าห้องนอนลักษณะเป็นโถง คงเป็นที่สำหรับเจ้าเมืองว่าราชการโดยมีระเบียงลดระดับลงไปจากห้องนี้อยู่ 2 ด้าน ถัดลงไปก็เป็นลานบ้านซึ่งเป็นลานทราย กลางลานทรายมีต้นชมพู่ขนาดใหญ่ต้นหนึ่งมีแท่นก่อด้วยอิฐรอบเป็นที่นั่ง ส่วนเรือนไทยอีก 4 หลัง ที่ล้อมรอบลานบ้านอยู่นี้ 3 หลัง เป็นเรือนขนาดเล็ก มีห้องนอนและระเบียงหน้าห้องเหมือนกันทั้ง 3 หลัง ใช้เป็นที่อยู่ของอนุภรรยาและบุตร อีกหลังหนึ่งเป็นเรือนครัวมีขนาดใหญ่กว่าเรือนเล็กทั้ง 3 หลัง[5]

อ้างอิง

แก้
  1. "วังเจ้าเมืองพัทลุง (วังเก่า-วังใหม่)". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. "วังเจ้าเมืองพัทลุง". มิวเซียมไทยแลนด์.
  3. "วังเจ้าเมืองพัทลุง". อบจ.พัทลุง.
  4. "วังเจ้าเมือง".
  5. กรมศิลปากร. "วังเจ้าเมืองพัทลุง(วังใหม่,ที่ดินวังเจ้าเมืองเก่าวังใหม่(วังเจ้าเมืองพัทลุง)) " ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/