ลุยส์ เอเชเบร์ริอา

ลุยส์ เอเชเบร์ริอา อัลบาเรซ (สเปน: Luis Echeverría Álvarez; 17 มกราคม พ.ศ. 2465[1] – 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2565[2]) เป็นนักกฎหมาย นักวิชาการ และนักการเมืองชาวเม็กซิโกซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศเม็กซิโก ระหว่าง พ.ศ. 2513 จนถึง พ.ศ. 2519 ก่อนหน้านี้เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยระหว่าง พ.ศ. 2506 จนถึง พ.ศ. 2512 ปัจจุบันเขาเป็นอดีตประธานาธิบดีที่ยังมีชีวิตอยู่และมีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ลุยส์ เอเชเบร์ริอา
ประธานาธิบดีเม็กซิโกคนที่ 57
ดำรงตำแหน่ง
12 มกราคม พ.ศ. 2513 – 12 มกราคม พ.ศ. 2519
ก่อนหน้ากุสตาโบ ดิอัซ ออร์ดัซ
ถัดไปโฆเซ โลเปซ ปอร์ติโย
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ลุยส์ เอเชเบร์ริอา อัลบาเรซ

17 มกราคม พ.ศ. 2465
เม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก
เสียชีวิต8 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 (100 ปี)
กูเอร์นาวากา, โมเรโลส, ประเทศเม็กซิโก
พรรคการเมืองพรรคปฏิวัติสถาบัน
คู่สมรสมาริอา เอสเตร์ ซูโน
บุตร8 คน
บุพการีรูโดลโฟ เอเชเบร์ริอา
กาตาลินา อัลบาเรซ

เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลของกุสตาโบ ดิอัซ ออร์ดัซ โดยขึ้นชื่อเรื่องการปราบปรามทางการเมืองในประเทศ นักข่าว นักการเมือง หรือนักเคลื่อนไหวที่มีแนวคิดตรงข้ามรัฐบาลถูกตรวจพิจารณา รวมถึงถูกจับกุมตามอำเภอใจ ถูกทรมาน และถูกวิสามัญฆาตกรรม พฤติการณ์เหล่านี้บานปลายไปสู่การสังหารหมู่ที่ตลาเตโลลโก พ.ศ. 2511 ดิอัซและเอเชเบร์ริอาถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีส่วนในการก่อการสังหารหมู่ครั้งนี้ ดิอัซได้แต่งตั้งให้เขาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีเม็กซิโก เขาจึงขึ้นสู่อำนาจใน พ.ศ. 2513

เอเชเบร์ริอาถือเป็นประธานาธิบดีคนสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เม็กซิโก โดยรัฐบาลของเขาวางตัวเป็นกลางในสงครามเย็น[3] และได้รับผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากรัฐบาลเผด็จการทหารของเอากุสโต ปิโนเช แห่งประเทศชิลี และสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเม็กซิโกกับสาธารณรัฐประชาชนจีนหลังจากการเยือนประเทศจีนและเข้าพบเหมา เจ๋อตุง[4] ทั้งนี้ รัฐบาลของเขามีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับประเทศอิสราเอลและกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายยิว หลังจากสนับสนุนข้อมติของสหประชาชาติที่ถือว่าลัทธิไซออนนิสต์เป็นอคติทางเชื้อชาติ[5][6]

ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ประเทศเม็กซิโกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ และมีการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการสร้างท่าเรือเพื่อการค้า[7] อย่างไรก็ตาม เขาปกครองประเทศแบบเผด็จการ และเขามีส่วนเกี่ยวข้องและพัวพันในการสังหารหมู่ในเทศกาลสมโภชพระคริสตวรกาย พ.ศ. 2514 รวมถึงสงครามสกปรก ซึ่งทำให้เขาขัดแย้งกับกลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายซ้ายในประเทศ แม้ว่าเขาจะดำเนินนโยบายแบบประชานิยมฝ่ายซ้ายก็ตาม[8][9] ทั้งนี้ มีการบันทึกว่าเที่ยวบินมรณะเกิดขึ้นครั้งแรกในเม็กซิโกสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี[10][11] หลังจากหมดวาระตำแหน่งประธานาธิบดี เขาถูกฟ้องร้องในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารหมู่ที่ตลาเตโลลโกและการสังหารหมู่ในเทศกาลสมโภชพระคริสตวรกาย[12] ซึ่งมีการฟ้องร้องใน พ.ศ. 2549 แต่ใน พ.ศ. 2552 ศาลได้ยกฟ้องข้อกล่าวหาดังกล่าวทั้งหมด[13]

อ้างอิง แก้

  1. Harris M. Lentz (2014). Heads of States and Governments Since 1945. Routledge. p. 551. ISBN 978-1-134-26490-2.
  2. Kandell, Jonathan (9 July 2022). "Luis Echeverría Alvarez, Former President of Mexico, Dies at 100". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 9 July 2022.
  3. Narain Roy, Ash (1999). The Third World in the Age of Globalisation: Requiem Or New Agenda?. Zed Books. p. 56. ISBN 9781856497961.
  4. González, Fredy (2017). Paisanos Chinos: Transpacific Politics among Chinese Immigrants in Mexico. University of California Press. p. 177. ISBN 978-0-520-96448-8.
  5. "Mexico Votes for General Assembly Resolution Condemning Zionism". Jewish Telegraphic Agency. 17 December 1975. สืบค้นเมื่อ 8 March 2018.
  6. Riding, Alan (13 December 1975). "Mexico Tells U.S. Jews It Does Not Link Zionism With Racism". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 8 March 2018.
  7. El sexenio de Luis Echeverría Clío, 1999
  8. "Rights group urges Mexico to resolve "dirty war"". Reuters. 5 April 2007. สืบค้นเมื่อ 29 October 2016.
  9. Evans, Michael. "The Dawn of Mexico's Dirty War". Gwu.edu. สืบค้นเมื่อ 29 October 2016.
  10. Tobar, Hector (27 February 2006). "New Details of Mexico's 'Dirty War'". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 24 July 2019.
  11. Grindle, Merilee (1977). Policy Change in an Authoritarian Regime: Mexico under Echeverria. Cambridge University Press. pp. 523–555.
  12. "Warrant for Mexico ex-president". BBC News. 30 June 2006. สืบค้นเมื่อ 11 May 2010.
  13. "Exculpa tribunal a Luis Echeverría". La Jornada (ภาษาสเปน). 27 March 2009. สืบค้นเมื่อ 8 March 2018.