ลานเซลอต บราวน์
ลานเซลอต บราวน์ (อังกฤษ: Lancelot Brown; พ.ศ. 2259 — 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2326) รู้จักโดยทั่วไปในอีกชื่อหนึ่งว่า บราวน์ผู้สามารถ (Capability Brown) นักจัดสวนและภูมิทัศน์ชาวอังกฤษผู้ได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าเป็น “ศิลปินที่สมราคาคนสุดท้ายแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 18” และนับเป็นนักจัดสวนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ได้ออกแบบสวนสาธารณะมากกว่า 170 แห่งและมีหลายแห่งที่ยังคงยั่งยืนอยู่ถึงปัจจุบัน
ประวัติ
แก้ลานเซลอต บราวน์ เกิดที่เมืองเคิร์กอาร์ล นอร์ธทัมเบอร์แลนด์ ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนแคมโบ เริ่มทำงานด้วยการเป็นเด็กคนสวนอยู่กับเซอร์วิลเลียม ลอเรน และย้ายไปอยู่ที่ “วูตัน” ของริชาร์ด เกรนวิลล์-เทมเปิล เอิร์ลที่ 2 จากนั้นเข้าร่วมทำงานเป็นพนักงานสวนกับหลอร์ดค็อบแฮมที่สโตว์ บักกิงแฮมเชียร์ อยู่ภายใต้การดูแลของวิลเลียม เคนท์ ซึ่งถือกันว่าเป็นผู้บุกเบิกและวางรูปแบบของสวนอังกฤษ ในระหว่างที่ทำงานอยู่ที่สโตว์ บราวน์แต่งงานกับสตรีพื้นถิ่นชื่อบริเจ็ต วาเยต และมีบุตรคนแรกในสี่คนของเขา
ในฐานะผู้ชำนาญที่ขึ้นชื่อในสวนสไตล์อังกฤษ บราวน์ได้รับการเรียกหามากที่สุดจากเจ้าของที่ดิน เมื่อ พ.ศ. 2294 ฮอเรซ วอลโปล เขียนถึงงานของบราวน์ที่ปราสาทวอร์ริกไว้ว่า “ตัวปราสาทได้รับการเสริมให้งดงามขึ้น ทิวทัศน์ที่นี่สร้างความประทับใจข้าพเจ้ามากกว่าที่คาดไว้ แม่น้ำเอวอนไหลหลากลดหลั่นเป็นชั้นลงถึงฐานของมัน นับเป็นสวนที่ได้รับการจัดวางไว้อย่างดียิ่งโดยบราวน์ผู้เป็นผู้วางแนวคิดที่เคนท์และที่ฟิลิปส์ เซาท์โคท"
การทำงาน
แก้ประมาณว่าบราวน์เป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบสวนไม่น้อยกว่า 170 แห่งตามบริเวณบ้านและคฤหาสน์ที่งดงามที่สุดของประเทศอังกฤษ งานของบราวน์ยังคงปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงพระราชวังเบลนไฮม์ บ้านโบวูด มิลตันแอบเบย์ และมิลตัลแอบบาสที่อยู่ใกล้เคียงกัน และที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง บุรุษผู้ปฏิเสธงานในไอร์แลนด์เนื่องจากยังทำงานในอังกฤษไม่แล้วเสร็จได้รับการขนานนามว่า บราวน์ผู้สามารถ ก็เพราะเขามักบอกเจ้าของที่ดินผู้เป็นลูกค้าเสมอว่าที่ดินผืนนั้นมีขีดความ สามารถ สูงสำหรับงานจัดภูมิทัศน์
งานของบราวน์มีสไตล์ที่เรียบง่ายเป็นสนามหญ้าที่เป็นเนินขึ้นลงตามลักษณะภูมิประเทศ และราบเรียบตรงไปสู่บ้านและกลุ่มต้นไม้ การวางต้นไม้กระจายอย่างธรรมชาติไม่เป็นแถวแนว ทางน้ำรูปแบบที่เคี้ยวคดได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักทฤษฎีสวนในสมัยนั้นเป็นอันมาก แต่ในขณะเดียวกัน สไตล์สวนอังกฤษแบบใหม่ของบราวน์ก็ได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากเช่นกัน
งานภูมิทัศน์ของบราวน์นับเป็นงานบุกเบิกทางแฟชั่น และมีความแตกต่างขั้นพื้นฐานไปจากสวนรูปนัยที่กำลังถูกแทนที่ในยุคนั้นค่อนข้างมาก สวนที่เรียกว่า “สวนรูปนัย” (Formal garden) ของอังกฤษซึ่งเป็นแบบอย่างที่แพร่หลายอยู่ก่อนแล้วได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จาก อเลกซานเดอร์ โปบ และบุคคลอื่นๆ ในช่วงคริสต์ศตวรรษ 1700 (พ.ศ. 2144-2243) เริ่มต้นถูกทดแทนในปี พ.ศ. 2362 โดยวิลเลียม เคนท์ และต่อมาโดยบราวน์ด้วยการจัดสวนในสไตล์ที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น และ บราวน์เองนับได้ว่าเป็นผู้วางรูปแบบภูมิทัศน์อังกฤษที่มีรูปแบบละเอียดอ่อนและชัดเจนมากขึ้น
ขั้นตอนการทำงาน
แก้รัสเซล เพจ กล่าวถึงขั้นตอนการทำงานของบราวน์ไว้ว่า “โน้มน้าวและกระตุ้นให้ลูกค้าที่ร่ำรวยรื้อสวนแบบรูปนัยเดิมทิ้งและทดแทนด้วยการจัดให้มีสนามหญ้า กลุ่มต้นไม้ และสระและทะเลสาบที่มีรูปทรงอิสระ” ริชาร์ด โอเวน เคมบริดจ์ กวีชาวอังกฤษและนักเขียนเรื่องเสียดสีได้ประกาศว่าตนเองขอตายก่อนถึงยุคสวนของบราวน์เพื่อจะได้ “เห็นสวรรค์ก่อนที่จะถูกปรับปรุง” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเล่าลือ ถกเถียงและการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของบราวน์ที่สามารถอยู่ยั่งยืนมานานได้มากกว่า 200 ปี แต่ในทางตรงกันข้าม ริชาร์ด บิสโกรฟ กล่าวถึงขั้นตอนงานของบราวน์ว่าเป็นการทำธรรมชาติให้สมบูรณ์ว่า
การจัดวางรูปแบบที่สุขุมรอบคอบด้วยการใส่ต้นไม้ที่ตรงจุด หรือการปิดบังปากทางเข้าของทางน้ำที่ไม่น่าดู นับเป็นศิลปะของบราวน์ที่เสริมรับกับรูปของพื้นผิวดิน น้ำ ต้นไม้ เหล่านี้ ได้กลายเป็นองค์ประกอบที่เป็นตัวสร้างรูปแบบอันเป็นอุดมคติของภูมิทัศน์อังกฤษ ...แต่ข้อที่ยากลำบากสักหน่อยก็ได้แก่ผู้เลียนแบบที่ด้อยความสามารถและไม่พิถีพิถัน พวกนี้มักจะมองความสมบูรณ์ของธรรมชาติไม่ออก ...เขาจะเห็นก็แต่สิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นธรรมชาติที่เขาใส่ลงไปเท่านั้น
การตบแต่งอย่างชำนิชำนาญนี้ไม่เพียงแต่ไม่ได้รับการยอมรับในสมัยของบราวน์เองเท่านั้น คำไว้อาลัยที่เขียนโดยผู้ไม่ได้ลงชื่อกล่าวถึงงานของบราวน์ไว้ว่า “น่าเสียดายที่ผลงานจากความความชาญฉลาดของ¬บราวน์ที่ทำให้เขาเป็นผู้ที่มีความสุขที่สุดนั้นจะกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้มีคนจำเขาได้เพียงชั่วครู่เท่านั้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากการเลียนแบบธรรมชาติมากเกินไปนั่นเองที่ทำให้งานของเขาผิดพลาด” ความเป็นที่นิยมชมชอบบราวน์ลดน้อยลงอย่างรวดเร็วหลังการตายของเขา เพราะคนทั่วไปมองว่าเป็นการลอกเลียนธรรมชาติมากไป ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 บราวน์ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างหนักจากทุกๆ คน แต่สถานการณ์นี้กลับกลายเป็นตรงกับข้ามเมื่อกาลเวลาได้ล่วงถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความนิยมชมชื่นบราวน์ได้กลับคืนมาดังเดิม ทอม เทอร์เนอร์ได้แนะว่าเป็นเพราะเนื่องมาจากงานเขียนของมารี-หลุยส์ กอเธียน เรื่อง “ประวัติศาสตร์ศิลปะของสวน” (History of garden art) ที่เน้นให้เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะของบราวน์ รวมทั้งความเห็นเชิงบวกในผลงานของบราวน์ในงานเขียนเรื่อง “งามดังภาพวาด” (The Picturesque) ของคริสโตเฟอร์ ฮัสเซย์
บั้นปลายชีวิต
แก้บราวน์เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2326 ที่ถนนเฮิร์ทฟอร์ด ในนครลอนดอน ตรงธรณีประตูบ้านของบริเจ็ตบุตรสาวที่แต่งงานกับสถาปนิกชื่อเฮนรี ฮอลแลนด์ โฮเรซ วอลโปล เขียนจดหมายถึงเลดีออโซรีเกี่ยวกับบราวน์ไว้ว่า “คุณหญิงครับ นางไม้คงต้องเข้าไปอยู่ในถุงมือดำเสียแล้ว เพราะแม่ยายของพวกนาง คือสามีคนที่สองของคุณนายธรรมชาติได้ตายไปเสียแล้ว” ศพของบราวน์ได้รับการฝังไว้ที่สนามหญ้าของโบสถ์เซนต์ปีเตอร์และเซนต์พอลซึ่งเป็นโบสถ์ประจำถิ่นที่คฤหาสน์เฟนสแตนตันขนาดเล็กของบราวน์ตั้งอยู่
ลานเซลอต บราวน์ มีชีวิตอยู่ตรงกับระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ) ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปีแรกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
สวนและอุทยาน
แก้งานสวนและอุทยานจำนวนมากของบราวน์ผู้สามารถที่ยังคงเหลือปรากฏให้เข้าชมได้ในปัจจุบัน ข่างล่างนี้คือรายการบางส่วนของงานภูมิทัศน์ของบราวน์
- Alnwick Castle
- Aske Hall
- Audley End House
- Aynhoe Park
- Blenheim Palace
- Bowood House
- Broadlands
- Burghley House
- Burton Constable Hall
- Castle Ashby
- Charlecote Park
- Chatsworth House
- Chillington Hall
- Clandon Park
- Clumber Park
- Corsham Court
- Euston Hall
- Grimsthorpe Castle
- Harewood House
- Highclere Castle
- Holkham Hall
- Ickworth House
- Longleat
- Packington Park
- Petworth House
- Prior Park Landscape Garden
- Ragley Hall
- Schloss Richmond (Richmond Palace) in Braunschweig, Germany
- Scampston Hall
- Sheffield Park Garden
- Sherborne Castle
- Sledmere House
- Stowe Landscape Garden
- Syon House
- Temple Newsam
- Trentham Gardens
- Warwick Castle
- Weston Park
- Wimbledon Park
- Wimpole Hall
- Wrest Park Gardens
อ้างอิง
แก้- Morrow, Baker H., A dictionary of Landscape Architecture.The University of New Mexico, 1987
เอกสารแนะนำ
แก้- Thomas Hinde, Capability Brown: The Story of a Master Gardener (W. W. Norton, 1987)
- Roger Turner, Capability Brown and the Eighteenth Century English Landscape (Rizzoli, 1985)
- Dorothy Stroud, Capability Brown (Faber and Faber, 1975)
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- gardenvisit.com เก็บถาวร 2006-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ชีวประวัติลานเซลอต บราวน์