สแตนดาร์ดเกจ

(เปลี่ยนทางจาก รางมาตรฐาน)

สแตนดาร์ดเกจ หรือ รางขนาดมาตรฐานยุโรป (อังกฤษ: European standard gauge)เป็นขนาดความกว้างรางรถไฟที่มีการใช้กันมากที่สุด โดยคิดเป็นประมาณ 60% ของรางรถไฟทั่วโลก ระยะห่างภายในของรางรถไฟมีขนาด 1.435 เมตร (4 ฟุต 8 1/2 นิ้ว) สแตนดาร์ดเกจยังมีชื่อเรียกว่า สตีเฟนซันเกจ ตั้งชื่อตาม จอร์จ สตีเฟนซัน

ความกว้าง 1.435 นี้เป็นระยะห่างของล้อรถม้าและเกวียนในสมัยโรมันโบราณ ซึ่งเป็นระยะที่กว้างพอที่จะทำให้ม้า 2 ตัวแบบเรียงหน้ากระดาน สามารถลากจูงรถได้โดยที่ลำตัวไม่เบียดกันเวลาม้าวิ่ง

การเปลี่ยนมาใช้รางรถไฟขนาดสแตนดาร์ดเกจในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา แก้

ในอดีตสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้มีการใช้รางรถไฟหลากหลายขนาด 4 ฟุต ถึง 6 ฟุต โดยเฉพาะในตอนใต้ของอเมริกาจะนิยมใช้ขนาด 5 ฟุต ที่เหมาะสมสำหรับขนส่งฝ้ายซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักทางตอนใต้ ขนาดของรางที่ไม่เท่ากันส่งผลให้เกิดปัญหาในการต้องถ่ายรถจากขบวนหนึ่งไปอีกขบวนหนึ่งในบริเวณเชื่อมต่อรถไฟที่มีขนาดรางไม่เท่ากัน ซึ่งเกิดจากปัญหา break-of-gauge ทำให้เสียค่าใช้จ่าย และเวลาที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้น ทำให้ทางรถไฟในแคนาดาได้เปลี่ยนมาใช้รางสแตนดาร์ดเกจทั้งหมดในปี ค.ศ. 1880 และบริษัทรถไฟอิลลินอยส์เซนทรัลได้เปลี่ยนมาใช้รางสแตนดาร์ดเกจสำหรับเส้นทางสายใต้วิ่งไปนิวออร์ลีนส์ในปี ค.ศ. 1881 ทำให้เกิดแรงกดดันต่อผู้ให้บริการรถไฟในตอนใต้

บริษัทรถไฟอีรีเรลโรด (Erie Railroad) แต่เดิมใช้เกจขนาด 6 ฟุต โดยได้มีการเชื่อมตัวกับโอไฮโอเกจที่มีขนาด 4 ฟุต 10 นิ้ว และทางบริษัทอีรีไม่ต้องการเปลี่ยนมาใช้รางสแตนดาร์ดเกจ ซึ่งเกรงว่าจะทำให้ไม่มีการพักรถในบริเวณจุดเชื่อมตัว ส่งผลให้ธุรกิจขาดรายได้[1]

ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 บริษัทรถไฟทางตอนใต้ได้มีข้อตกลงว่าจะเปลี่ยนขนาดรางทั้งหมดจากขนาดเดิม 5 ฟุต เป็น 4 ฟุต 9 นิ้ว โดยในช่วงเวลา 36 ชั่วโมงจากวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม คนงานกว่าหลายหมื่นคนได้ขยับรางรถไฟให้แคบลง 3 นิ้ว ซึ่งทำให้มีขนาดใกล้เคียงกับรางสแตนดาร์ดเกจ และรถสามารถวิ่งได้โดยไม่มีปัญหา โดยในเดือนมิถุนายน ในปีเดียวกัน ทางรถไฟสายหลักทั้งหมดในอเมริกาเหนือได้ใช้ขนาดรางเดียวกันทั้งหมด[2] โดยปัจจุบันขนาดรางทั้งหมดในอเมริกาได้ปรับขนาดมาเป็นรางสแตนดาร์ดเกจที่ 4 ฟุต 8 1/2 นิ้ว ในระหว่างที่มีการซ่อมแซมบำรุงรักษารางนั้น ๆ

รางขนาดมาตรฐานยุโรปในประเทศไทย แก้

ในสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการสร้างทางรถไฟสายแรก สยามเลือกใช้ความกว้างทางรถไฟขนาดรางมาตรฐานยุโรปทั้งหมด เนื่องจากอาณานิคมเพื่อนบ้านทั้งพม่าของอังกฤษและอินโดจีนของฝรั่งเศสต่างใช้ทางรถไฟกว้างหนึ่งเมตร ความกว้างทางรถไฟที่แตกต่างกันนี้เองเชื่อว่าจะทำให้การรุกรานสยามจากอาณานิคมรอบข้างลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อสยามสร้างเส้นทางรถไฟลงภาคใต้ สยามเลือกใช้เส้นทางรถไฟขนาดเมตรเดียวเพื่อเชื่อมต่อกับอาณานิคมมลายูของอังกฤษ ทำให้ทางรถไฟสยามมีสองขนาดความกว้างในเวลานั้น คือรางมาตรฐานยุโรปตั้งแต่ฝั่งพระนคร ถึงภาคเหนือและภาคอีสาน และขนาดความกว้าง 1 เมตรจากฝั่งธนถึงภาคใต้ ในปี พ.ศ. 2462 เมื่อยุคล่าอาณานิคมสิ้นสุดลงและเศรษฐกิจโลกซบเซา สยามจึงเปลี่ยนเส้นทางรถไฟรางขนาดมาตรฐานยุโรปเป็นขนาดความกว้างเมตรเดียว และเชื่อมเส้นทางรถไฟฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเข้าด้วยกัน

ในปัจจุบัน ประเทศไทยใช้รางสแตนดาร์ดเกจในการขนส่งระบบรางอยู่สี่ระบบ ได้แก่ รถไฟฟ้าบีทีเอส ,รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล, รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมและรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ยังใช้ในระบบรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ในแผนปรับปรุงระบบขนส่งทางรางของไทยด้วย

อ้างอิง แก้

  1. John F. Stover (1995). History of the Baltimore and Ohio Railroad. Purdue University Press.
  2. Southern railfan