รัฐสภาแห่งชาติเบลเยียม

รัฐสภาแห่งชาติ (ฝรั่งเศส: Congrès national, ดัตช์: Nationaal Congres) เป็นการรวมตัวกันเพื่อก่อตั้งสภานิติบัญญัติชั่วคราวเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของเบลเยียมภายหลังจากการปฏิวัติเบลเยียมใน ค.ศ. 1830 ซึ่งได้ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1830 โดยรัฐบาลชั่วคราว

อนุสรณ์สถานในกรุงบรัสเซลส์

ประวัติ

แก้

รัฐสภาแห่งชาติได้รับการจัดตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1830 โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 30,000 คนจากทั่วประเทศ และมีองค์ประกอบคือสมาชิกรัฐสภาจำนวน 200 ที่นั่ง เอราสม์ หลุยส์ ซูร์แล เดอ ชอกีเย เป็นประธานรัฐสภาคนแรก

รัฐสภาได้มีมติเลือกใช้การปกครองแบบราชาธิปไตยของปวงชนภายใต้รัฐธรรมนูญ และได้มีมติเลือกเจ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งเนอมูร์ พระราชโอรสในพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรก โดยมีตัวเลือกอื่น ๆ เช่น โอกุสต์ เดอ โบอาร์แน และอาร์ชดยุกคาร์ลแห่งออสเตรีย พระอนุชาในจักรพรรดิฟรันทซ์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และผู้ปกครองแห่งเนเธอร์แลนด์ใต้คนสุดท้าย[1] อย่างไรก็ตาม เจ้าชายหลุยส์ได้รับการต่อต้านจากรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร จึงจำเป็นต้องคัดเลือกใหม่ เอราสม์ หลุยส์ ซูร์แล เดอ ชอกีเย ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนในระหว่างการคัดเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ส่วนตำแหน่งประธานรัฐสภาได้เปลี่ยนเป็นของเอเตียน กงส์ต็องแต็ง เดอ แฌร์ลัช แทน

ในที่สุดรัฐสภาได้มีมติเลือกเจ้าชายเลออปอลแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-โกทาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม โดยทรงได้รับการรับรองจากรัฐสภาเมื่อ 4 มิถุนายน และในอีกหกสัปดาห์ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีสาบานตนต่อหน้ารัฐธรรมนูญแห่งเบลเยียมที่บริเวณหน้าโบสถ์นักบุญเจมส์แห่งเกาเดินแบร์คที่กรุงบรัสเซลส์ ต่อมาวันที่ทำพิธี (21 กรกฎาคม) ได้ถือเป็นวันชาติเบลเยียม

ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งเบลเยียม ค.ศ. 1831 ซึ่งถือกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1831 รัฐบาลชั่วคราวก็ค่อย ๆ ยุติบทบาทในเวลาต่อมา ในขณะที่รัฐสภาแห่งชาติยังดำรงอยู่จนกระทั่งการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเมื่อ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1831 มีการสร้างอนุสรณ์สถานรัฐสภา (Congress Column) มีลักษณะเป็นเสาหินขึ้นเพื่อเป็นอนุสาวรีย์ ที่ฐานทั้งสี่ทิศประกอบด้วยรูปหล่อทองสำริดที่เป็นตัวแทนแห่งเสรีภาพทั้งสี่ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1831 ได้แก่ เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพในการศึกษา และเสรีภาพสื่อ

อ้างอิง

แก้
  1. "Congrès national de Belgique. Séance du 3 février 1831". Unionisme.be. สืบค้นเมื่อ 2014-08-22.