ระฆังมี่นกู้น (พม่า: မင်းကွန်းခေါင်းလောင်းတော်ကြီး, ออกเสียง: [mɪ́ɰ̃.ɡʊ́ɰ̃ kʰáʊ̯ɰ̃.láʊ̯ɰ̃ dɔ̀ d͡ʑí]) เป็นระฆังที่ตั้งอยู่ในเมืองมี่นกู้น ภาคซะไกง์ ประเทศพม่า ราว 11 กิโลเมตร (6.8 ไมล์) จากเหนือเมืองมัณฑะเลย์ บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดี เป็นระฆังที่หนักที่สุดในโลกหลายครั้งในประวัติศาสตร์

ระฆังมี่นกู้น
မင်းကွန်း ခေါင်းလောင်းတော်ကြီး
แผนที่
พิกัด22°03′11″N 96°01′04″E / 22.052972°N 96.017778°E / 22.052972; 96.017778
ที่ตั้งมี่นกู้น ภาคซะไกง์ ประเทศพม่า
ประเภทระฆังวัด
วัสดุสัมฤทธิ์
90,718 กิโลกรัม
เริ่มก่อสร้างพ.ศ. 2351
สร้างเสร็จพ.ศ. 2353
อุทิศแด่เจดีย์มี่นกู้น

ลักษณะ แก้

น้ำหนักของระฆังอยู่ที่ 55,555 viss (90,718 กิโลกรัม หรือ 199,999 ปอนด์) ตัวเลขนี้เป็นที่จำของชาวพม่าได้สะดวก โดยใช้วลีช่วยจำว่า "มี่น พยู มาน มาน ปยอ" (မင်းဖြူမှန်မှန်ပြော) โดยมีพยัญชนะแทนเลข 5 ในดาราศาสตร์และตัวเลขศาสตร์ของพม่า[1][2] น้ำหนักของระฆังและวลีช่วยจำเขียนไว้บนพื้นผิวของระฆังด้วยสีขาว

เส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกขอบระฆังคือ 16 ฟุต 3 นิ้ว (4.95 เมตร) ความสูงด้านนอกของระฆังอยู่ที่ 12.0 ฟุต (3.66 เมตร) และด้านใน 11.5 ฟุต (3.51 เมตร) เส้นรอบวงขอบด้านนอกคือ 50.75 ฟุต (15.469 เมตร) ระฆังมีความหนา 6 ถึง 12 นิ้ว (15 ถึง 30 เซนติเมตร) สูงจากขอบถึงบนสุด 20.7 ฟุต (6.31 เมตร)[3] ระฆังไม่แตกและอยู่ในสภาพดี ระฆังไม่มีลูกตุ้ม แต่ตีที่ขอบด้านนอก[4]

ประวัติ แก้

การหล่อระฆังเริ่มต้นใน พ.ศ. 2351 และเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2353 พระเจ้าปดุงมีพระราชดำริให้หล่อระฆังมหึมานี้พร้อมกับเจดีย์มี่นกู้นของพระองค์ กล่าวกันว่าระฆังใบนี้หล่อไว้ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำและขนส่งโดยใช้เรือสองลำ เมื่อข้ามแม่น้ำแล้วจึงล่องไปตามคลองที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษสองคลอง จากนั้นจึงทำเขื่อนกั้นคลองและยกระฆังขึ้นโดยการเพิ่มระดับน้ำโดยการเติมดินเข้าไปในคลองที่ถูกปิดกั้น ด้วยวิธีนี้ระฆังจึงได้รับการแขวนไว้จุดที่กำหนด[4]

ระฆังมี่นกู้นพังลงเนื่องจากแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2382 บริษัทกองเรืออิรวดีนำไปแขวนอีกครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2439 โดยใช้แม่แรงสกรูและคานงัดจากการระดมทุนสาธารณะ[4] เฟลีเช เบอาโต ถ่ายภาพระฆังก่อนการแขวนใหม่อีกครั้ง

สถานะปัจจุบัน แก้

ด้วยน้ำหนัก 90 ตัน ระฆังมี่นกู้นครองตำแหน่งระฆังที่ใหญ่ที่สุดในโลกจนถึง พ.ศ. 2543 เมื่อถูกแทนที่ด้วยระฆังแห่งความโชคดี หนัก 116 ตัน ที่วัดฟอเฉียน นครผิงติ่งชาน มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน[5]

คลังภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "The Mingun Bell". Myanmar's Net Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-09. สืบค้นเมื่อ 2008-02-19.
  2. "Mingun". Myanmar's Net Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-21. สืบค้นเมื่อ 2008-02-19.
  3. "The Mingun Bell". Ni Ni Myint, (www.myanmar.gov.mm). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-06. สืบค้นเมื่อ 2008-04-21.
  4. 4.0 4.1 4.2 Bird, George W (1897). Wanderings in Burma, pages 318–319. London: Simpkin, Marshall, Hamilton, Kent & Co., Ltd.
  5. "Fodushan Scenic Area". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-30. สืบค้นเมื่อ 2010-01-01.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้