ยุทธการที่ไอโคเนียม (ค.ศ. 1190)

ยุทธการที่ไอโคเนียม (อังกฤษ: Battle of Iconium) เป็นการสู้รบในสงครามครูเสดครั้งที่ 3 ระหว่างฝ่ายนักรบครูเสด นำโดยจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์กับฝ่ายมุสลิม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1190 ที่เมืองไอโคเนียม (ปัจจุบันคือเมืองคอนยา (Konya) ประเทศตุรกี)

ยุทธการที่ไอโคเนียม
ส่วนหนึ่งของ สงครามครูเสดครั้งที่ 3

ยุทธการที่ไอโคเนียม โดยวิสลิเซนซัส (ประมาณ ค.ศ. 1890)
วันที่18 พฤษภาคม ค.ศ. 1190
สถานที่
ไอโคเนียม (คอนยาในปัจจุบัน)
ผล

นักรบครูเสดชนะอย่างเด็ดขาด[1]

  • กองทัพเซลจุคเติร์กแตกพ่าย
  • นักรบครูเสดตีเมืองหลวงของรัฐสุลต่านรูมได้สำเร็จ
  • ทัพครูเสดเดินทัพผ่านรัฐสุลต่านรูมได้โดยมีชาวเติร์กเป็นตัวประกัน
คู่สงคราม
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
ราชอาณาจักรฮังการี
รัฐสุลต่านรูม
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
จักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
เฟรเดริกที่ 6 ดยุกแห่งสวาเบีย
เลโอโปลด์ที่ 5 ดยุกแห่งออสเตรีย
เจ้าชายเกซาแห่งฮังการี
กุฏบ์ อัลดิน
กำลัง

จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์: 15,000[2]-100,000[3]

ฮังการี: 2,000[4]
มากกว่าทัพครูเสด[5]
ความสูญเสีย
ไม่ทราบ มาก

หลังความพ่ายแพ้ที่ฮัททินและเสียเมืองเยรูซาเลม ดินแดนของนักรบครูเสดส่วนใหญ่ตกอยู่ใต้อำนาจของศอลาฮุดดีน สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 8 ทรงเรียกพลเพื่อทำสงครามครูเสดอีกครั้ง จักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทรงตอบรับทันทีและเดินทัพไปที่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1189 กองทัพของพระองค์มีกำลังพล 100,000 นาย และอัศวิน 20,000 นาย[6] (นักประวัติศาสตร์บางท่านมองว่าเป็นการกล่าวเกินจริง และประเมินว่ากองทัพนี้มีกำลังพล 15,000 นาย อัศวิน 3,000 นาย) จักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 ได้รับกำลังพล 2,000 นายจากเจ้าชายเกซา พระอนุชาของพระเจ้าเบลาที่ 3 แห่งฮังการี (Béla III of Hungary)

เมื่อทัพครูเสดมาถึงอนาโตเลีย สุลต่านแห่งรูมได้ประกาศว่าหากจะเดินทัพผ่านดินแดนนี้และราชอาณาจักรซิลิเชีย จะต้องเสียทองจำนวน 300 ปอนด์ จักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 ทรงปฏิเสธและตรัสว่า "พวกเราจะไม่ผ่านดินแดนนี้ไปโดยใช้ทอง แต่จะผ่านไปโดยใช้เหล็ก"[7] ทัพเติร์กจึงใช้ยุทธวิธีแบบกองโจรโจมตีทัพครูเสด ทัพครูเสดตอบโต้ด้วยการโจมตีทัพเติร์กทุกทัพที่เจอและได้รับชัยชนะ แม้ว่าเสบียงและขวัญกำลังใจจะลดน้อยลง แต่ทัพครูเสดก็มาถึงเมืองไอโคเนียมในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1190

วันที่ 14 พฤษภาคม ทัพครูเสดได้สู้รบกับทัพหลักของชาวเติร์กและได้รับชัยชนะ กุฏบ์ อัลดิน (Qutb al-Din) ได้จัดทัพเติร์กใหม่และยกมาตีทัพครูเสดในวันที่ 18 พฤษภาคม จักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 ได้แบ่งทัพออกเป็นสองส่วน ทัพหนึ่งนำทัพโดยเฟรเดริก ดยุกแห่งสวาเบีย โอรสของพระองค์เพื่อเข้าตีเมือง ส่วนอีกทัพนำโดยพระองค์เองเพื่อรบกับทัพเติร์ก[8] เฟรเดริกสามารถตีเมืองไอโคเนียมได้อย่างง่ายดาย ส่วนทัพของจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 สู้รบกับทัพเติร์กอย่างหนัก และได้รับชัยชนะในที่สุด[9]

หลังการสู้รบ ทัพครูเสดหยุดพัก 5 วันก่อนจะเดินทัพต่อ แต่ในวันที่ 10 มิถุนายน จักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 เสด็จสวรรคตหลังจมน้ำในแม่น้ำซาเล็ฟ[10] (แม่น้ำโกคซู (Göksu River) ในปัจจุบัน) กองทัพจึงแตก เฟรเดริก พระโอรสพยายามนำพระศพพระบิดาที่ดองไว้ในน้ำส้มสายชูไปฝังที่เมืองเยรูซาเลมแต่ไม่สำเร็จ จึงฝังพระมังสา (เนื้อ) ที่โบสถ์นักบุญเปโตรในเมืองแอนติออก ฝังพระอัฐิ (กระดูก) ที่โบสถ์ในเมืองไทร์และฝังพระหทัย (หัวใจ) ที่เมืองทาร์ซัส

อ้างอิง แก้

  1. Tyerman, p. 426: "The victory at Iconium and the sacking of the Seljuk capital saved the Crusades militarily, in addition to restocking it with food, supplies, and money".
  2. Konstam, Historical Atlas of the Crusades, 162
  3. J. Phillips, The Fourth Crusade and the Sack of Constantinople, 66
  4. A. Konstam, Historical Atlas of The Crusades, 124
  5. Tyerman, p. 426: "After desperate fighting involving the Emperor himself, the Turks outside the city were defeated, apparently against numerical odds, leaving Iconium at the mercy of German pillaging and looting".
  6. Tyerman p.418
  7. Wolff, p. 112
  8. Tyerman p.426
  9. Wolff p.116: "Even an enfeebled and decimated German army had managed to dispose of [the Seljuks of Iconium] with comparative ease"
  10. Frederick I | Holy Roman emperor | Britannica.com[ลิงก์เสีย]