ยางไซไคลซ์ (อังกฤษ: Cyclised Rubber) เป็นยางที่มีโครงสร้างทางเคมีเป็นวง ซึ่งสามารถเตรียมได้จากทั้งน้ำยางสดและยางแห้ง ในกรณีของการใช้น้ำยางทำได้โดยการนำน้ำยางมาปรับสภาพให้มีความเสถียรต่อกรดโดยการใส่สารประเภทพอลิเอทธิลีนออกไซด์ ที่ช่วยเพิ่มความเสถียรต่อประจุบวก แล้วจึงเติมกรดอ่อนลงไป หลังจากนั้นเติมกรดเข้มข้นลงไปอย่างรวดเร็วเพื่อปรับสภาพโครงสร้างของยางแล้วให้ความร้อนเพื่อทำให้ปฏิกิริยาเกิดสมบูรณ์ สุดท้ายจึงแยกยางออกมาโดยการเทลงในน้ำเดือด จะได้ยางที่มีลักษณะเป็นผงสีน้ำตาลอ่อน

ส่วนในกรณีที่ใช้ยางแห้งมาเตรียมยางไซไคลซ์ สามารถทำได้โดยการนำยางธรรมชาติมาบดด้วยเครื่องบดยางสองลูกกลิ้ง ผสมสารตัวเติมและสารอินทรีย์อื่น ๆ ที่ให้ประจุบวก 10 phr แล้วนำยางที่ผสมเสร็จมาทำให้ร้อนที่อุณหภูมิ 125-145°C เป็นเวลา 1-4 ชั่วโมง ได้ยางไซไคลซ์ที่มีลักษณะแข็ง หรือ อาจใส่สารจำพวกเกลือแฮไลด์แอมโฟเตอริก (SnCl2) เติมลงไปที่อุณหภูมิห้อง จะได้สารประกอบที่ไม่มีสี ทำให้เป็นผงโดยการเติมน้ำหรือแอลกอฮอลล์ ด้วยการเตรียมยางทั้งสองวิธีนี้ทำให้ได้ยางที่มีการปรับโครงสร้างโมเลกุล โดยโมเลกุลของยางธรรมชาติเกิดการเชื่อมโยงกันเอง ซึ่งทำให้สัดส่วนพันธะที่ไม่อิ่มตัวในโครงสร้างของยางลดลง ทำให้สมบัติยางเปลี่ยนไปและยางมีความแข็งแรงขึ้น

ซึ่งการใช้งานโดยทั่วไปของยางไซไคลซ์ส่วนใหญ่จะนำไปผสมกับยางอื่น เนื่องจากมีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ มีความแข็งแรงมากกว่ายางธรรมชาติ เมื่อผสมกับยางชนิดอื่นทำให้ยางมีความแข็งแรง การใช้งานด้านอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมยางพื้นรองเท้า [1]

อ้างอิง แก้

  1. เสาวนีย์ ก่อวุฒิกุลรังษี, การผลิตยางธรรมชาติ, 2546, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, หน้า 217-219