มูฮัมหมัด ยูนูส
มูฮัมหมัด ยูนูส (เบงกอล: মুহাম্মদ ইউনুস, Muhammôd Iunus) เป็นนายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศผู้ริเริ่มและพัฒนาแนวคิด “ไมโครเครดิต” หรือ การให้กู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยจะให้กู้แก่ผู้ประกอบการหรือชาวบ้านซึ่งยากจนเกินกว่าจะมีคุณสมบัติพอเพียงที่จะกู้เงินจากธนาคารทั่วไป นอกจากนั้น ยูนูสยังเป็นผู้ก่อตั้ง “กรามีนแบงค์”(ธนาคารหมู่บ้าน) หรือ ธนาคารกรามีน อีกด้วย ทั้งยูนูสและธนาคารที่เขาก่อตั้งขึ้นได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี พ.ศ. 2549 สำหรับ “ความพยายามในการสร้างพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจากเบื้องล่าง” [1] ยูนูสเคยได้รับรางวัลและเกียรติคุณอื่นๆในระดับนานาชาตินอกเหนือจากนี้มาแล้วมากมาย เขาเป็นผู้แต่งหนังสือ Banker to The Poor รวมถึงเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิกรามีนอีกด้วย
มูฮัมหมัด ยูนูส মুহাম্মদ ইউনুস | |
---|---|
![]() Przystanek Woodstock 2014 | |
เกิด | 28 มิถุนายน พ.ศ. 2483 เมืองจิตตะกอง จังหวัดเบงกอล บริติชราช |
สัญชาติ | บังกลาเทศ |
อาชีพ | นายธนาคาร, นักเศรษฐศาสตร์ |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน, ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี พ.ศ. 2549 |
คู่สมรส | นางเวรา โฟโรสเทนโก (หย่า) นางอัฟรอซี ยูนูส (ปัจจุบัน) |
บุตร | โมนิกา ยูนูส ดีนา อัฟรอซ ยูนูส |
บิดามารดา | ฮาซี ดูลา เมีย เซาดาคาร์ ซูเฟีย คาตุน |
วัยเยาว์และชีวิตครอบครัวแก้ไข
ยูนูสถือกำเนิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในหมู่บ้าน บาธัว ภาคจิตตะกอง บิดามีชื่อว่า ฮาซี ดูลา มีอา ชูดาการ์ และมารดาชื่อว่า ซูเฟีย คาทูน ยูนูสใช้ชีวิตวัยเด็กเล็กในหมู่บ้าน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2490 เขาและครอบครัวจึงย้ายไปยังเมืองจิตตะกอง ที่ซึ่งบิดาของเขาเริ่มทำธุรกิจอัญมณี
ยูนูสสมรสกับนางอโฟรจี ยูนูส ซึ่งเป็นศาสตราจารย์วิชาฟิสิกส์ประจำมหาวิทยาลัยจาฮานกีรนาการ์ ทั้งสองมีบุตรสาว 2 คน คือ ดีน่า ยูนูส และ โมนิก้า ยูนูส นายยูนูสมีน้องชายชื่อ มูฮัมหมัด อิบราฮิมซึ่งเป็นศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์ประจำมหาวิทยาลัยธากา ขณะที่น้องชายอีกคนชื่อมูฮัมหมัด จาฮานเกียร์ เป็นพิธีกรทางโทรทัศน์ชื่อดัง
การศึกษาและอาชีพการงานช่วงต้นแก้ไข
ยูนูสศึกษาที่โรงเรียนประจำหมู่บ้านในวัยเด็กเด็ก เมื่อครอบครัวของเขาย้ายไปที่จิตตะกอง จึงได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนประถมลามาบาซาร์ และชั้นมัธยม ณ โรงเรียนมัธยมจิตตะกอง เขาผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้เป็นลำดับที่ 16 จากนักเรียนในปากีสถานตะวันออกที่เข้าสอบทั้งหมดทั้งหมด 39,000 คน ในปีพ.ศ. 2498 ต่อมา เขาเข้าศึกษาที่วิทยาลัยจิตตะกองซึ่งเขาได้เข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นประจำ และได้รับรางวัลจากการร่วมแสดงละครอีกด้วย
ปีพ.ศ. 2501 ยูนูสเข้าศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยธากา จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี พ.ศ. 2503 และระดับปริญญาโทในปีพ.ศ. 2504 หลังจากนั้น จึงเข้าทำงานที่สำนักการเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทำให้เขาได้ร่วมทำงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์กับศาสตราจารย์นูรุล อิสลาม และราห์มัน โสภาณในฐานะที่ปรึกษางานวิจัย[2] ต่อมาในปีพ.ศ. 2504 เขาก็เข้าเป็นอาจารย์บรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยจิตตะกง[3]. ยูนูสสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปีพ.ศ. 2512 หลังจากได้รับทุนการศึกษาฟุลไบรท์ ยูนูสเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยรัฐเทนเนสซีตอนกลางตั้งแต่ปีพ.ศ. 2512 ถึง 2515 แล้วจึงย้ายกลับมายังบังคลาเทศ และเข้าร่วมมหาวิทยาลัยจิตตะกองในฐานะศาสตราจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์
รางวัลโนเบลแก้ไข
มูฮัมหมัด ยูนูสได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับธนาคารกรามีนในปีพ.ศ. 2549 สำหรับ “ความพยายามในการสร้างพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจากเบื้องล่าง” ดังคำประกาศดังนี้[4]
"คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ได้ตัดสินใจมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพโดยแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่าๆกัน แก่มูฮัมหมัด ยูนูส และธนาคารกรามีน สำหรับความพยายามในการสร้างพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจากเบื้องล่าง สันติภาพอันยั่งยืนจะมิอาจบรรลุได้ เว้นแต่เพียงว่า ประชากรกลุ่มใหญ่จะสามารถหาหนทางที่จะเอาชนะความยากไร้ได้ ไมโครเครดิตเป็นหนึ่งในวิธีการนั้น นอกจากนั้น การพัฒนาจากเบื้องล่างยังทำให้ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนก้าวหน้าขึ้นอีกด้วย"
ยูนูสกล่าวว่า เขาจะนำส่วนแบ่งรางวัลมูลค่า 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปสร้างบริษัทเพื่อผลิตอาหารซึ่งมีต้นทุนต่ำแต่คุณค่าทางโภชนาการสูงสำหรับคนยากจน ส่วนที่เหลือจะถูกใช้เพื่อการก่อตั้งโรงพยาบาลตาสำหรับคนยากจนในบังคลาเทศ
รางวัลที่ได้รับแก้ไข
รางวัลสำคัญๆบางส่วนซึ่งมูฮัมหมัด ยูนูสได้รับมีดังนี้
- 2527 รางวัลรามอน แมกไซไซ (รางวัลแมกไซไซ) ประเทศฟิลิปปินส์
- 2537 รางวัลมูลนิธิเวิลด์ฟู้ดไพรซ์
- 2539 รางวัลไซมอน โบลิวาร์จากองค์การยูเนสโก
- 2541 รางวัลสันติภาพซิดนีย์
- 2547 รางวัลนวัตกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจจากหนังสือพิมพ์ ดิ อีโคโนมิสต์
- 2549 รางวัลแม่พระเทเรซ่า ก่อตั้งโดย คณะกรรมการรางวัลสหัสวรรษและนานาชาติแม่พระเทเรซ่า
- 2549 รางวันสันติภาพโซล
- 2549 รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รับร่วมกับธนาคารกรามีน
- และรางวัลอื่นๆรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 62 รางวัล
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ยูนูส ยังได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์อื่นๆอีก 27 ครั้ง และรางวัลพิเศษอีก 15 รางวัล สามารถดูรายชื่อรางวัลทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารกรามีน
อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายบิล คลินตัน เป็นผู้หนึ่งซึ่งเป็นปากเสียงสนับสนุนให้มอบรางวัลโนเบลแก่ มูฮัมหมัด ยูนูส เขาได้กล่าวเรื่องนี้ไว้ทั้งในนิตยสารโรลลิ่ง สโตนส์ และหนังสืออัตชีวประวัติ ชีวิตของข้าพเจ้า (My Life) ซึ่งเมื่อครั้งได้กล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย, เบิร์คเลย์ ในปีพ.ศ. 2545 เขากล่าวถึงนายยูนูสว่าเป็น “บุรุษผู้สมควรจะชนะรางวัลโนเบลมานานแล้ว(และ)ข้าพเจ้าจะกล่าวเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีการมอบรางวัลแก่เขาเสียที”
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ "The Nobel Peace Prize for 2006". The Nobel Peace Prize for 2006. 2006-10-13. สืบค้นเมื่อ 2006-10-13.
- ↑ "An interview of Dr. Muhammad Yunus conducted by Matiur Rahman, Editor, the daily Prothom Alo-a Bangladeshi daily news paper, written in Bangla". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-04. สืบค้นเมื่อ 2006-10-20.
- ↑ "An interview of Dr. Muhammad Yunus conducted by Matiur Rahman, Editor, the daily Prothom Alo-a Bangladeshi daily news paper, written in Bangla". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-04. สืบค้นเมื่อ 2006-10-20.
- ↑ The Norwegian Nobel Committee เก็บถาวร 2006-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.