มารีอา ลุยซา กาบรีเอลลาแห่งซาวอย

(เปลี่ยนทางจาก มาเรีย ลุยซา แห่งซาวอย)

มารีอา ลุยซา กาบรีเอลลาแห่งซาวอย สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน (อังกฤษ: Maria Luisa of Savoy) (17 กันยายน ค.ศ. 1688 - 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1714)

มารีอา ลุยซา กาบรีเอลลาแห่งซาวอย
พระสาทิสลักษณ์ โดยมิเกล ฆันซินโต เมเลนเดซ
ประมาณ ค.ศ. 1712
สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน
ดำรงพระยศ2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1701 –
14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1714
พระราชสมภพ17 กันยายน ค.ศ. 1688
พระราชวังตูริน, ตูริน ซาวอย
สวรรคต14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1714 (25 พรรษา)
มาดริด สเปน
คู่อภิเษกพระเจ้าเฟลิเปที่ 5 แห่งสเปน
พระราชบุตรพระเจ้าลุยส์แห่งสเปน
พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 6 แห่งสเปน
ราชวงศ์ซาวอย
พระราชบิดาวิตโตรีโอ อาเมเดโอที่ 2 ดยุกแห่งซาวอย
พระราชมารดาอาน มารีแห่งออร์เลอ็อง

มารีอา ลุยซา กาบรีเอลลาแห่งซาวอยเป็นพระอัครมเหสีองค์ในพระเจ้าเฟลิเปที่ 5 แห่งสเปน หรือฟีลิปแห่งฝรั่งเศส[1] ในปี ค.ศ. 1702 พระนางทรงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อพระราชสวามีออกสงคราม

พระชนม์ชีพช่วงต้น

แก้

ปฐมวัย

แก้

มารีอา ลุยซา กาบรีเอลลาแห่งซาวอยเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1688 ที่พระราชวังตูริน, ตูริน ซาวอย เป็นพระธิดาในวิตโตรีโอ อาเมเดโอที่ 2 ดยุกแห่งซาวอยและอาน มารีแห่งออร์เลอ็อง ดัชเชสแห่งซาวอย ผู้เป็นพระธิดาพระองค์เล็กในฟีลิปที่ 1 ดยุกแห่งออร์เลอ็องและเจ้าหญิงเฮนเรียตตาแห่งอังกฤษ

เมื่อทรงพระเยาว์ มารีอา ลุยซา กาบรีเอลลาแห่งซาวอย ทรงได้ชื่อว่าเป็นผู้ “ฉลาดหลักแหลม และสนุกสนาน” ทรงได้รับการศึกษาอย่างดี รวมทั้งพระองค์ยังทรงสนิทสนมกับพระเชษฐภคินี มารีอา อาเดลาอีเด ผู้ที่ต่อมาเสกสมรสกับเจ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งบูร์กอญ พระราชนัดดาพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

ทรงหมั้น

แก้

เจ้าชายฟีลิป ดยุกแห่งอ็องฌู ได้ขึ้นสืบราชสมบัติสเปนจากการที่ พระเจ้าการ์โลสที่ 2 แห่งสเปน ไม่ทรงมีรัชทายาท เพื่อรักษาอำนาจที่สั่นคลอนเหนือบัลลังก์สเปนของพระองค์จากพระชาติกำเนิดที่เป็นฝรั่งเศส พระเจ้าเฟลิเปที่ 5 จึงตัดสินพระทัยที่จะรักษาสัมพันธไมตรีกับดยุกแห่งซาวอย ด้วยการที่จะทรงเสกสมรสกับพระธิดาของดยุก คือ มารีอา ลุยซา กาบรีเอลลา พระญาติชั้นที่ 2 ผ่านทางพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ช่วงกลางปี 1701 พระเจ้าเฟลิเปที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสู่ขอพระนาง โดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบรมราชอัยกา พระเจ้าหลุยส์ที่ 14[2] ทั้งสองพระองค์ทรงเสกสมรสโดยฉันทะเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1701 5 วันก่อนวันคล้ายวันประสูติปีที่ 13 ของพระนางมารีอา ลุยซา กาบรีเอลลา พระนางเสด็จถึงยังเมืองนิสเมื่อวันที่ 18 กันยายน และทรงรับการต้อนรับจาก สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 11 ซึ่งประทานดอกกุหลาบทองแก่พระนางเมื่อวันที่ 20 กันยายน เป็นของทูลพระขวัญ ภายใน 1 สัปดาห์ ได้เสด็จขึ้นเรือพระที่นั่งประทับจากนีสมายังบาร์เซโลนา[3]

สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน

แก้
 
Queen Maria Luisa's coat of arms.

พระราชพิธีเสกสมรสอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน 1701[4] พระเจ้าเฟลิเปที่ 5 ทรงหลงรักพระมเหสีอย่างมากตั้งแต่แรกเริ่ม เช่นเดียวกับพระมเหสีองค์ถัดไป พระองค์ทรงพึ่งพาพระนางในเรื่องเพศ เนื่องจากหลักศาสนาของพระองค์ห้ามมิให้ทรงมีเพศสัมพันธ์ใดๆ นอกเหนือจากสตรีที่สมรสด้วย พระเจ้าเฟลิเปบรรทมบนพระแท่นเดียวกับพระมเหสีและทรงยืนกรานในสิทธิจากการสมรสของพระองค์ ซึ่งแตกต่างจากพระมหากษัตริย์สเปนองค์ก่อนๆ เพียงไม่นานหลังจากพระราชพิธีสเกสมรส เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ดยุกแห่งกรามงต์ ได้กราบทูลต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ว่าพระเจ้าเฟลิเปจะทรงถูกครอบงำโดยพระนางอย่างสมบูรณ์ ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงเตือนพระราชนัดดาว่าอย่ายอมให้ราชินีครอบงำพระองค์ได้[5]

โดยทั่วไปแล้ว การที่พระนางทรงมีอิทธิพลเหนือองค์กษัตริย์นั้นเป็นประโยชน์ พระนางมารีอา ลุยซา กาบรีเอลลาได้รับการอธิบายว่าทรงมีพระอุปนิสัยเป็นผู้ใหญ่เกินวัยมาก ทรงมีความรู้ทางการเมือง ตรัสฉะฉานชัดเจน และทรงงานหนัก พระองค์ได้รับคำชมเชยจากทั่วสเปนสำหรับการ่ำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการ และพระองค์ทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นขุมพลังของพระราชสวามี[6]

สงครามสืบราชบัลลังก์สเปน

แก้

ในปี ค.ศ. 1702 พระเจ้าเฟลิเปที่ 5 ทรงถูกบีบบังคับให้กรีธาทัพจากสเปนไปรบในนาโปลีในสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน ในช่วงเวลาที่พระราชสวามีทรงออกทำศึก สมเด็จพระราชินีมารีอา ลุยซา กาบรีเอลลา พระชนมายุ 14 พรรษา ทรงทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จากกรุงมาดริดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทรงยืนกรานให้มีการสอบสวนข้อร้องเรียนทั้งหมด และมีพระราชเสาวนีย์ให้ทูลเกล้าถวายรายงานโดยตรงถึงพระนาง[7] ทั้งยังทรงงานหลายชั่วโมงร่วมกับเหล่าคณะรัฐมนตรี พระนางพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะทูตานุทูตและคณะบุคคลเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท และทรงพยายามป้องกันไม่ให้ซาวอยเข้าร่วมกับศัตรู[8]แม้จะไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ทรงพบได้ส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างมรดกของคณะรัฐประหารสำเร็จ และยังได้รับเงินบริจาคจำนวนมากจากขุนนางและเมืองต่างๆ มากมายเพื่อใช้ในการทำสงคราม[7] ในที่สุดปี 1715 พระเจ้าเฟลิเปที่ 5 ก็ทรงได้รับการยอมรับเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสเปน และยังคงรักษาอาณานิคมส่วนใหญ่เอาไว้ แต่ต้องทรงยอมยกดินแดนในอิตาลีและสละสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศสของพระองค์และทายาท

อุบายในพระราชสำนัก

แก้

ข้าราชสำนักชาวฝรั่งเศสนามว่า มารี อาน เด ลา เทรมวล เจ้าหญิงแห่งอูร์ซัง เป็นสมาชิกในราชสำนักของพระราชินีสเปน นางต้องการรักษาอิทธิพลอันยิ่งใหญ่เหนือพระนางมารีอา ลุยซา กาบรีเอลลา ในฐานะคุณท้าวห้องบรรทม ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้านางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระราชินี เทรมวลรักษาอำนาจเหนือสเปนอย่างแข็งแกร่งโดยใช้สิทธิในการใกล้ชิดกับสมเด็จพระราชินีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จากตำแหน่งของเธอได้รับ นางจะเข้าเฝ้าอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระนางมารีอา ลุยซา กาบรีเอลลาเกือบตลอดเวลา คอยติดตามพระนางไปทุกที่ทันทีที่เสด็จพระราชดำเนินออกจากห้องส่วนพระองค์ ติดตามพระนางไปที่การประชุมสภาซึ่งเธอนั่งเย็บผ้าและฟังอยู่ข้าง ๆ ติดตามพระนางกลับไปที่ห้องส่วนพระองค์ แต่งและถอดฉลองพระองค์ถวาย และควบคุมใครก็ตามที่ต้องการเข้าเฝ้าพระนาง ในขณะที่พระเจ้าเฟลิเปที่ 5 บรรทมร่มกับพระนางมารีอา ลุยซา กาบรีเอลลา เจ้าหญิงแห่งอูร์ซังจึงเข้ามามีอิทธิพลเหนือกษัตริย์อย่างมาก[9] ในปี ค.ศ. 1704 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีพระบรมราชโองการให้เนรเทศเทรมวลออกจากพระราชสำนัก ทำให้ทั้งสองพระองค์เสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1705 เทรมวล เจ้าหญิงแห่งอูร์ชังได้กลับมายังมาดริด ซึ่งทำให้พระราชินีทรงมีความสุขอย่างยิ่ง

สวรรคต

แก้

ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ มารีอา ลุยซา กาบรีเอลลาเริ่มประชวรด้วยพระโรควัณโรค ในที่สุดพระองค์ก็เสด็จสวรรคตที่พระราชวังอัลคาซาร์แห่งมาดริด เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1714 ขณะมีพระชนมายุได้ 25 พรรษา พระบรมศพถูกฝังที่ซาน โลเรนโซ เด เอล เอสโกเรียล เมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1714 เพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่พระนางสวรรคต พระราชสวามีม่ายของพระนางก็ได้เสกสมรสโดยฉันทะใหม่กับเอลีซาเบตตา ฟาร์เนเซ ทายาทของดยุกแห่งปาร์มา[10]

อ้างอิง

แก้
  1. Achaintre, Nicolas Louis, Histoire généalogique et chronologique de la maison royale de Bourbon, Vol. 2, (Publisher Mansut Fils, 4 Rue de l'École de Médecine, Paris, 1825), 128.
  2. The Gentleman's magazine, Volumes 302-303, F. Jefferies, 1789, p 286
  3. The Gentleman's magazine, Volumes 302-303, F. Jefferies, 1789, p 284
  4. The Gentleman's magazine, Volumes 302-303, F. Jefferies, 1789, p 284
  5. Orr, Clarissa Campbell (2004-08-12). Queenship in Europe 1660-1815: The Role of the Consort. Cambridge University Press. ISBN 9780521814225. สืบค้นเมื่อ 15 September 2018.
  6. Orr, Clarissa Campbell (2004-08-12). Queenship in Europe 1660-1815: The Role of the Consort. Cambridge University Press. ISBN 9780521814225. สืบค้นเมื่อ 15 September 2018.
  7. 7.0 7.1 Hume, Martin Andrew Sharp (1906). "Epilogue". Queens of Old Spain. E. Grant Richards. pp. 531–537. สืบค้นเมื่อ 15 September 2018.
  8. Orr, Clarissa Campbell (2004-08-12). Queenship in Europe 1660-1815: The Role of the Consort. Cambridge University Press. ISBN 9780521814225. สืบค้นเมื่อ 15 September 2018.
  9. Orr, Clarissa Campbell (2004-08-12). Queenship in Europe 1660-1815: The Role of the Consort. Cambridge University Press. ISBN 9780521814225. สืบค้นเมื่อ 15 September 2018.
  10. Hume, Martin Andrew Sharp (1906). "Epilogue". Queens of Old Spain. E. Grant Richards. pp. 531–537. สืบค้นเมื่อ 15 September 2018.

ดูเพิ่ม

แก้