มาตางิ (ญี่ปุ่น: マタギโรมาจิMatagi) หมายถึง กลุ่มนักล่าสัตว์แถบภูมิภาคโทโฮกุ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น พบได้ที่เมืองอานิ จังหวัดอากิตะ กระจายไปตามเขตป่าเทือกเขาชิรากามิซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดอากิตะกับจังหวัดอาโอโมริ และพบได้บริเวณเมืองใกล้เคียง พบเขาล่ากวางและหมีมาตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมา มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับชาวไอนุ ชนพื้นเมืองซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ โดยเฉพาะวัฒนธรรมการบูชาหมี หลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา มีการผลิตปืนไรเฟิลในประเทศเพิ่มขึ้น ความจำเป็นในการล่าหมีก็ลดลง วัฒนธรรมมาตางิก็หดหายลงไปตามลำดับ

มาตางิกับหมีที่ถูกล่าในอำเภอคามิโกอานิ จังหวัดอากิตะ เมื่อ พ.ศ. 2509

โดยชื่อ มาตางิ เป็นคำไอนุ มาจากคำว่า มาตันกี (matangi) หรือ มาตันกีโตโน (matangitono) แปลว่า บุรุษแห่งเหมันตฤดู หรือ นายพราน จากการศึกษาของอี (Lee) และฮาเซงาวะ (Hasegawa) ระบุว่า มาตางิ เป็นผู้สืบสันดานจากนายพรานและชาวประมงไอนุซึ่งอพยพลงมาจากเกาะฮกไกโดลงสู่เกาะฮนชู เพื่อล่าสัตว์ให้กับกลุ่มชนที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นในท้องถิ่น[1] พึงสังเกตจากการที่มาตางิใช้คำยืมจากภาษาไอนุสำหรับใช้เรียกชื่อสัตว์และภูมินามจำนวนมาก[2][3]

การล่าสัตว์ของมาตางิถือเป็นวิถีชีวิตมิใช่ล่าสัตว์เป็นเกมกีฬา พวกเขาเชื่อว่าสัตว์ป่าคือของขวัญที่เทพเจ้าแห่งขุนเขาประทานลงมา มาตางิมีกรรมวิธีจัดการเนื้อสัตว์และการแล่ โดยหลังการฆ่า มาตางิจะมีบทสวดเฉพาะ สัตว์ป่าเหล่านี้จะได้รับการบูชา ไม่มีชิ้นส่วนใดถูกทิ้ง และดวงวิญญาณจะได้รับการปลอบประโลมเพื่อกลับไปสู่ขุนเขาอีกครั้ง

มาตางิอาศัยอยู่ในหมู่บ้านขนาดเล็กแถบชายป่าชายเขาในภูมิภาคโทโฮกุ ที่อำเภอนิชิตสึงารุและนากัตสึงารุ จังหวัดอาโอโมริ อำเภอคิตาอากิตะและเซ็มโบกุ จังหวัดอากิตะ อำเภอวางะ จังหวัดอิวาเตะ อำเภอนิชิโอคิตามะและสึรูโอกะ จังหวัดยามางาตะ อำเภอมูรากามิและนากาอูโอนูมะ จังหวัดนีงาตะ พวกเขาประกอบอาชีพเกษตรกรรมในช่วงฤดูเพาะปลูกและฤดูเก็บเกี่ยว หากเป็นฤดูหนาวและต้นฤดูใบไม้ผลิ พวกเขาจะรวมตัวกันไปล่าสัตว์สัปดาห์ละครั้ง ปัจจุบันมาตางิบางคนขัดแย้งกับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะข้อกังวลด้านการตัดไม้ทำลายป่าและการลดจำนวนลงของสัตว์บางชนิด[4] มาตางิไม่สามารถล่าเลียงผาญี่ปุ่น เพราะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ส่วนการล่าหมียังคงดำเนินต่อไป หากแต่ต้องได้รับใบอนุญาตแบบพิเศษ

อ้างอิง แก้

  1. Tjeerd de Graaf "Documentation and Revitalisation of two Endangered Languages in Eastern Asia: Nivkh and Ainu" 18 March 2015
  2. Kudō Masaki (1989). Jōsaku to emishi. Kōkogaku Library #51. New Science Press. p. 134
  3. Tanigawa, Ken'ichi (1980). Collected works, vol. 1. pp. 324–325
  4. "Matagi: Hunters as Intermediaries Between 'Wild' and 'Domestic.'" Scott Schnell, Japan Anthropology Workshop, March 14, 2010

แหล่งข้อมูลอื่น แก้