มาตราเมร์กัลลี (อังกฤษ: Mercalli scale) เป็นมาตราสำหรับใช้กำหนดขั้นความรุนแรงของแผ่นดินไหว คิดค้นโดยจูเซปเป เมร์กัลลี (Giuseppe Mercalli) ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวชาวอิตาลี เมื่อ พ.ศ. 2445 โดยแบ่งไว้ 10 อันดับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 แฮร์รี โอ. วูด และแฟรงก์ นิวแมนน์ นักวิทยาแผ่นดินไหวชาวอเมริกันได้นำมาตราเมร์กัลลีมาปรับปรุงทำให้มาตรานี้เพิ่มเป็น 12 อันดับ เรียกว่า Modified Mercalli Intensity Scale อักษรย่อ MM ปัจจุบันมาตราเมร์กัลลีไม่ค่อยเป็นที่นิยม

ระดับความรุนแรงตามมาตราเมร์กัลลีเปรียบเทียบกับแมกนิจูดของแผ่นดินไหว

แก้
แมกนิจูด มาตราเมร์กัลลี
1.0 - 3.0 I
3.0 - 3.9 II - III
4.0 - 4.9 IV - V
5.0 - 5.9 VI - VII
6.0 – 6.9 VIIX
7.0 – 9.9 VIII หรือสูงกว่า
10.0 หรือสูงกว่า X หรือสูงกว่า

ระดับความรุนแรงตามมาตราเมร์กัลลี

แก้

มาตราเมร์กัลลีบ่งบอกว่าบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด โดยจัดระดับความรุนแรงเป็น 12 ระดับ ด้วยเลขโรมันตั้งแต่ I ถึง XII ดังนี้

I. ไม่รู้สึกได้ ตรวจวัดได้โดยเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนเท่านั้น ไม่สามารถรู้สึกได้นอกจากจะอยู่ในกรณีแวดล้อมที่เหมาะสมโดยเฉพาะบริเวณที่อ่อนไหวต่อความสั่นสะเทือน บางครั้งอาจสังเกตได้จากอาการผิดปกติของนกและสัตว์ต่าง ๆ บางครั้งรู้สึกมึนงงหรือคลื่นเหียนอาเจียน บางครั้งต้นไม้ สิ่งก่อสร้าง ของเหลวและน้ำอาจแกว่งไกว ประตูอาจแกว่งช้ามาก
II. อ่อน รู้สึกได้เป็นบางคน โดยเฉพาะที่อยู่บนอาคารสูง ๆ หรือเป็นผู้ที่มีประสาทไว เหตุการณ์ต่าง ๆ จะคล้ายกับอันดับ I แต่สังเกตได้ง่ายกว่า บางครั้งวัตถุห้อยแขวนอาจแกว่งไกว
III. อ่อน รู้สึกได้หลาย ๆ คนสำหรับผู้ที่อยู่ในตัวอาคาร การสั่นไหวโดยปกติจะสิ้นสุดโดยเร็ว จนบางครั้งอาจไม่รู้สึกว่าเป็นแผ่นดินไหว การสั่นไหวคล้ายกับมีรถบรรทุกหนักแล่นผ่านในระยะไกล ๆ วัตถุห้อยแขวนแกว่งไกวเล็กน้อยและมากขึ้นในชั้นบนของอาคารสูง ๆ รถยนต์ที่จอดอยู่อาจสั่นไหวบ้างเล็กน้อย
IV. เบา ผู้ที่อยู่ในบ้านจะรู้สึกกันทั่ว ส่วนผู้ที่อยู่นอกบ้านจะไม่ค่อยรู้สึก ถ้าเป็นเวลากลางคืนอาจทำให้บางคนตื่นจากหลับ ข้าวของในบ้าน เช่น ถ้วยชาม หน้าต่าง บานประตู สั่นไหวหรือลั่นปึงปัง รถยนต์ที่จอดอยู่สั่นไหวโคลงเคลงเห็นได้ชัด
V. ปานกลาง ผู้ที่อยู่ในอาคารจะรู้สึกกันได้เกือบทุกคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกอาคารก็รู้สึกได้เป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่หลับจะตกใจตื่น มีบางคนตกใจ บางคนตื่นเต้นเล็กน้อย บางคนวิ่งออกไปนอกบ้าน อาคารสั่นไหว ถ้วยชามเครื่องแก้วหล่นแตก หน้าต่างร้าวในบางกรณีแต่ไม่เสมอไป แจกัน วัตถุขนาดเล็กที่ไม่มั่นคงล้มคว่ำหรือหล่น วัตถุห้อยแขวนและบานประตูแกว่งไกว รูปภาพแกว่งกระทบผนังหรือเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม ประตูเปิดปิดเอง ลูกตุ้มนาฬิกาหยุดแกว่ง หรือแกว่งเร็วขึ้น ช้าลง วัตถุชิ้นเล็ก ๆ เครื่องประดับบ้านเคลื่อนจากที่เดิม ของเหลวที่เต็มในภาชนะที่ไม่มีฝากระฉอก ต้นไม้ พุ่มไม้ สั่นไหวเล็กน้อย
VI. แรง รู้สึกได้ทุกคนทั้งในและนอกอาคาร ตกใจกันมาก ตื่นเต้นโดยทั่วไป บางคนตื่นตกใจและหลายคนวิ่งออกนอกอาคาร ผู้ที่หลับจะตกใจตื่น ผู้คนรู้สึกโคลงเคลง ต้นไม้ พุ่มไม้ สั่นไหวเล็กน้อยถึงปานกลาง ของเหลวมีอาการสั่นไหวรุนแรง ระฆังขนาดเล็กดัง มีความเสียหายเล็กน้อยในอาคารที่ก่อสร้างไว้ไม่ดี ปูนปลาสเตอร์หล่นเล็กน้อย หรือเกิดรอยร้าว โดยเฉพาะ ปล่องไฟ ถ้วยชาม เครื่องแก้วแตก และหน้าต่างอาจแตกด้วย ของใช้กระจุกกระจิก หนังสือ รูปภาพหล่น เครื่องประดับบ้านหลายอย่างล้มคว่ำ ของหนัก ๆ เคลื่อนจากที่เดิม
VII. แรงมาก ตกใจกันทุกคนและทั้งหมดวิ่งออกนอกอาคาร หลายคนมีความรู้สึกว่ายืนไม่อยู่ ผู้ที่กำลังขับรถสังเกตได้ว่ามีแผ่นดินไหว ต้นไม้ พุ่มไม้ สั่นไหวปานกลางถึงแรง น้ำในบ่อ ทะเลสาบเป็นคลื่น และน้ำขุ่น เนื่องจากโคลนถูกเขย่า แม่น้ำที่เป็นทราย กรวดพัง ระฆังในโบสถ์ใบใหญ่ดัง วัตถุห้อยแขวนแกว่งไกว อาคารที่ออกแบบและก่อสร้างไว้อย่างดีไม่มีความเสียหาย จะเสียหายเล็กน้อยถึงปานกลางในอาคารทั่วไปที่ก่อสร้างไว้ดี และเสียหายค่อนข้างมากสำหรับอาคารที่ออกแบบและก่อสร้างไว้ไม่ดี บ้านที่สร้างด้วยอิฐ กำแพงเก่า ๆ และสิ่งก่อสร้างที่มียอดแหลม ปล่องไฟและกำแพงร้าวจนถึงแตก ปูนปลาสเตอร์หล่นมาก ซีเมนต์ผสมปูนขาวที่ใช้พอกผนังหล่น หน้าต่างเครื่องประดับบ้านแตกหรือเสียหายมาก สิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยอิฐ หรือกระเบื้องเสียหาย บางครั้งหลังคาก็เสียหายด้วย ลวดลายที่ทำเป็นกระบังออกมาของหอหรือตึกสูง ๆ หล่น อิฐและหินเคลื่อนที่จากที่เดิม เครื่องประดับบ้านหนักล้มคว่ำและเสียหาย คู คลอง คอนกรีตสำหรับการชลประทานเสียหายอย่างสิ้นเชิง
VIII. อย่างรุนแรง ผู้คนทั่วไปตกใจ ผู้ที่กำลังขับขี่รถยนต์จะรู้สึกว่าขับขี่ไม่สะดวก ต้นไม้สั่นไหวอย่างแรง กิ่งก้านและลำต้นหักโค่น โดยเฉพาะต้นปาล์ม ทรายและโคลนพุ่งขึ้นมาปริมาณเล็กน้อย มีการเปลื่ยนแปลงอย่างชั่วคราวหรือถาวรของน้ำพุ บ่อน้ำที่แห้งอาจมีน้ำไหล มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำพุและน้ำในบ่อ โครงสร้างที่เป็นอิฐเสียหายเล็กน้อย โดยเฉพาะที่ต้านแรงจากแผ่นดินไหวได้ อาคารธรรมดาบางส่วนจะพังลง บางครั้งบ้านไม้เสียหาย แผ่นกรุฝาผนังหลุดออกจากกรอบ เสาที่ผุผังแตกออก กำแพงพัง กำแพงหินแตกร้าวมาก น้ำจากใต้ดินซึมขึ้นมา ปล่องไฟ เสา อนุสาวรีย์ หอสูงเกิดการบิดงอ ล้มลง เครื่องประดับบ้านหนัก ๆ เคลื่อนที่หรือล้มคว่ำ
IX. ร้ายแรง พื้นดินแยก เกิดความเสียหายกับโครงสร้างที่เป็นอิฐ โครงบ้านไม้ถูกเหวี่ยงไม่ตั้งฉาก โดยเฉพาะแบที่สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหว อาคารต่าง ๆ ที่เป็นอิฐเสียหายมาก บางอาคารพังทลายเป็นส่วนใหญ่ หรือโครงตึกเลื่อนออกไปจากฐานราก ทำความเสียหายอย่างหนักต่ออ่างเก็บน้ำ ท่อใต้พื้นดินบางครั้งแตก หัก
X. อานุภาพรุนแรง พื้นดินแยกโดยเฉพาะบริเวณที่ร่วนซุยและเปียก อาจมีรอยแยกกว้างหลายนิ้ว รอยแยกนี้อาจกว้างถึงหนึ่งหลาในแนวขนานกับชายฝั่งแม่น้ำและลำคลอง ดินพังบริเวณแม่น้ำและฝั่งทะเลที่ลาดชัน ทรายและโคลนเคลื่อนเป็นแนวขวางบนหาดและที่ราบลุ่ม ระดับน้ำในบ่อต่าง ๆ เปลี่ยนแปลง เกิดคลื่นซัดชายฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ ฯลฯ ทำความเสียหายอย่างหนักแก่เขื่อน กำแพงกั้นน้ำ โครงไม้ที่ก่อสร้างอย่างดีและสะพาน กำแพงอิฐอย่างดีเกิดรอยร้าว ทำลายอาคารโครงสร้างและฐานราก รางรถไฟโค้งงอเล็กน้อย ท่อใต้ดินฉีกขาด บาทวิถีซีเมนต์และผิวถนนลาดยางแตกแยกและเป็นคลื่น
XI. สุดขีด พื้นดินสั่นสะเทือนมากเป็นบริเวณกว้าง รอยแตกกว้างใหญ่ แผ่นดินทรุดและเลื่อน พื้นดินเปียกชื้น มีน้ำพุ่งออกมาเป็นจำนวนมากพร้อมทรายและโคลน เกิดคลื่นในทะเลขนาดใหญ่ โครงสร้างที่เป็นไม้เสียหายมาก โดยเฉพาะบริเวณใกล้จุดศูนย์กลาง เขื่อน กำแพงกั้นน้ำ เสียหายค่อนข้างมาก สิ่งก่อสร้างจำนวนเล็กน้อยเหลืออยู่ได้ ทำลายสะพานที่ก่อสร้างอย่างดี โดยตอม่อ เสาสะพานแตก แต่สะพานไม้จะเสียหายน้อยกว่า รางรถไฟโค้ง บิดงอมาก
XII. ภัยพิบัติ เสียหายทั้งหมด งานก่อสร้างเสียหายมากหรือพังทลาย พื้นดินพังทลาย พื้นดินสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง และแตกแยก หินหล่นพังทลาย ตลิ่งหรือชายแม่น้ำทรุดและพัง มีการบิดฉีกขาดของหินขนาดใหญ่ มีรอยเลื่อนในหินที่มั่นคง โดยมีการแทนที่ในแนวราบและแนวดิ่ง ท่อน้ำบนดิน ใต้ดินเสียหาย ทะเลสาบถูกปิดกั้น เกิดน้ำตก แม่น้ำเปลี่ยนทิศทาง พื้นดินเป็นคลื่น วัตถุถูกเหวี่ยงขึ้นไปในอากาศ

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  • "Mercalli scale (modified)", พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2549, หน้า 378
  • นพนันท์ อนุรัตน์, แผ่นดินไหว มหันตภัยใต้พิภพ, รู้รอบตัว, มกราคม 2534, หน้า 47
  • The Modified Mercalli Intensity Scale เก็บถาวร 2007-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - U.S. Geological Survey (อังกฤษ)