มัลติ-แทป ยังหมายถึงระบบป้อนข้อความสำหรับโทรศัพท์มือถือ

มัลติแทป (อังกฤษ: multitap) เป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงเครื่องเล่นวิดีโอเกมที่เพิ่มจำนวนพอร์ตคอนโทรลเลอร์ที่มีให้แก่ผู้เล่น โดยอำนวยให้ใช้คอนโทรลเลอร์เพิ่มเติมในการเล่น คล้ายกับยูเอสบี ฮับ หรือรางปลั๊กไฟ มัลติแทปมักใช้รูปแบบของกล่องที่มีพอร์ตคอนโทรลเลอร์ตั้งแต่สามพอร์ตขึ้นไปซึ่งเชื่อมต่อกับพอร์ตคอนโทรลเลอร์ของเครื่องเล่นวิดีโอเกม

เกมกีฬาส่วนใหญ่รองรับมัลติแทปเนื่องจากลักษณะหลายผู้เล่นของเกมกีฬาบางเกม อย่างไรก็ดี วิดีโอเกมเล่นตามบทบาทและวิดีโอเกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่งบางเกมก็ได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนของมัลติแทป

ประวัติ แก้

ยุคที่สาม แก้

 
โฟร์สกอร์สำหรับเครื่องเกมนินเทนโดดั้งเดิม

อะแดปเตอร์มัลติคอนโทรลเลอร์ที่เก่าที่สุดคือจอยแพร์ของฮาล แลบอราทอรี โดยเปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นสำหรับแฟมิลีคอมพิวเตอร์ของนินเท็นโดใน ค.ศ. 1985 ซึ่งอำนวยให้มีตัวควบคุมเพิ่มเติมสองตัวเชื่อมต่อเข้ากับพอร์ตส่วนขยายดีเอ-15 ของเครื่องเล่นวิดีโอเกม ในขั้นต้น จอยแพร์ตั้งใจให้ผู้เล่นสองคนใช้คอนโทรลเลอร์พิเศษเท่านั้น (โดยเฉพาะคอนโทรลเลอร์จอยบอลของฮาล) แทนที่จอยแพดแฟมิคอมมาตรฐาน (ซึ่งเดินสายเข้าไปในตัวเครื่องเครื่องเล่นวิดีโอเกม) แต่เกมเน็คเค็ทสึ โคโค ดอดจ์บอล บู (คุนิโอะดอดจ์บอล เวอร์ชันภาษาญี่ปุ่น) ได้ใช้มันเพื่ออำนวยให้ผู้เล่นสูงสุดสี่คนเข้าร่วมในโหมดบีนบอลของเกม[a] ต่อมา บริษัทโฮริ ได้เปิดตัวทวินอะแดปเตอร์ใน ค.ศ. 1989 ในฐานะทางเลือกแทนจอยแพร์ ในขณะที่คอนโทรลเลอร์บางตัว (เช่น ชุดแอสกีสติก และก้านควบคุมแฟมิลีแชมป์บางรุ่น) มาพร้อมกับพอร์ตขยายเพิ่มเติมที่อำนวยให้ผู้ใช้เชื่อมต่อคอนโทรลเลอร์เพิ่มเติม[1] ส่วน 4 เพลเยอส์อะแดปเตอร์ ที่เป็นมากกว่าแบบธรรมดาสำหรับแฟมิคอมได้รับการเปิดตัวโดยบริษัทโฮริเมื่อ ค.ศ. 1990 ซึ่งทำให้มีคอนโทรลเลอร์สี่ตัวต่อเข้ากับพอร์ตส่วนขยาย (ให้ผู้เล่นแต่ละคนได้ใช้จอยแพดแบบพิเศษหากต้องการ)[2] ในปีเดียวกันนั้น บริษัทนินเท็นโดได้เปิดตัวอะแดปเตอร์แรกของตนเองสำหรับเครื่องเกมนินเทนโดในอเมริกาเหนือ ได้แก่ เอ็นอีเอส โฟร์สกอร์ และเอ็นอีเอส แซตเทลไลต์ แม้ว่าข้อเท็จจริงที่ว่ารุ่นเอชวีซี-101 ของแฟมิคอมจะใช้พอร์ตคอนโทรลเลอร์เดียวกันกับเครื่องเกมนินเทนโด แต่เกมแฟมิคอมสำหรับผู้เล่น 4 คนไม่รองรับมัลติแทปของเครื่องเกมนินเทนโด

ยุคที่สี่ แก้

มัลติแทป (อุปกรณ์แรกที่ออกวางตลาดด้วยชื่อดังกล่าว) โดยเอ็นอีซี โฮมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับพีซี เอนจิน ซึ่งเปิดตัวพร้อมกับแพลตฟอร์มในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1987 เป็นอะแดปเตอร์มัลติคอนโทรลเลอร์ตัวแรกที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้เล่นหลายคนโดยเฉพาะ ซึ่งอำนวยให้เชื่อมต่อคอนโทรลเลอร์สูงสุดห้าตัวเข้ากับคอนโซล เนื่องจากคอนโซลนั้นมีพอร์ตคอนโทรลเลอร์เพียงพอร์ตเดียวเป็นมาตรฐาน มัลติแทปจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเกมที่รองรับผู้เล่นมากกว่าหนึ่งคน เป็นผลให้มีตัวเลือกหลากหลายสำหรับมัลติแทปที่ราคาไม่แพงสำหรับพีซี เอนจิน โดยบริษัทภายนอก เช่น แบตเทิลแทปโดยบิ๊กคลับ และจอยแทป 3 โดยฮัดสันซอฟต์ ซึ่งมีพอร์ตคอนโทรลเลอร์ที่น้อยกว่ามัลติแทปภายใน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ค่อย ๆ หมดไปเมื่อเกมเริ่มให้มีผู้เล่นมากถึงห้าคน ส่วนเกมพีซี เอนจิน เกมแรกที่เอื้อให้มีผู้เล่นมากกว่าสองคนพร้อมกันคือโปรเทนนิส: เวิลด์คอร์ต ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1988 (สิบเดือนหลังจากการเปิดตัวของระบบ) โดยให้มีผู้เล่นสูงสุดสี่คนในการแข่งขันคู่ ในขณะที่ดันเจียนเอกซ์พลอเรอร์ ใน ค.ศ. 1989 เป็นเกมแรกที่มีผู้เล่นสูงสุดห้าคน มัลติแทปได้รับการออกแบบใหม่ในเทอร์โบแทปสำหรับตลาดอเมริกาเหนือด้วยการเปิดตัวเทอร์โบกราฟซ์-16 ใน ค.ศ. 1989 และต่อมาเป็นดูโอแทปสำหรับเทอร์โบดูโอใน ค.ศ. 1992 (รุ่นที่แตกต่างกัน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในพอร์ตคอนโทรลเลอร์ ระหว่างเทอร์โบกราฟซ์-16 และเทอร์โบดูโอ)

 
มัลติแทปที่ไม่มีใบอนุญาตสำหรับซูเปอร์แฟมิคอม

ฮัดสันซอฟต์ได้ผลิตซูเปอร์มัลติแทป ซึ่งเป็นอะแดปเตอร์มัลติเพลเยอร์สำหรับซูเปอร์แฟมิคอมใน ค.ศ. 1993 อะแดปเตอร์เชื่อมต่อกับพอร์ตคอนโทรลเลอร์ที่สองของสำรับควบคุมซูเปอร์แฟมิคอม (ปล่อยอันแรกว่าง) ทำให้มีพอร์ตคอนโทรลเลอร์ทั้งหมดห้าพอร์ต (เหมือนกับมัลติแทปดั้งเดิมสำหรับพีซี เอนจิน) มันได้รับการผลิตขึ้นสำหรับซูเปอร์บอมเบอร์แมนเป็นหลัก[3] ซึ่งมีในภาคก่อนบนระบบพีซี เอนจิน (เพียงแค่ใช้ชื่อบอมเบอร์แมน) ที่มีโหมดการประจัญบานห้าผู้เล่น แม้ว่าเกมซูเปอร์แฟมิคอมรองรับผู้เล่นได้สูงสุดเพียงแค่สี่คน (ซีรีส์นี้ไม่สนับสนุนผู้เล่นห้าคนในซูเปอร์แฟมิคอมจนกระทั่งซูเปอร์บอมเบอร์แมน 3 ซึ่งวางจำหน่ายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น กับภูมิภาคที่ใช้ระบบแพลเท่านั้น) สำหรับซูเปอร์มัลติแทปมีสวิตช์สำหรับโหมด 2 ผู้เล่น และโหมด 5 ผู้เล่น ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องคอนโซลได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเกมที่เข้ากันไม่ได้ ในขณะที่ไม่มีอุปกรณ์ต่อพ่วงรุ่นที่ผลิตโดยนินเท็นโดมาก่อน (และไม่มีเกมจากบริษัทของตนที่รองรับ) ส่วนมัลติแทปซูเปอร์แฟมิคอมอื่น ๆ หลายแบบได้รับการผลิตในภายหลังโดยบริษัทอื่น (ทั้งได้รับใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต) เช่น โฮริมัลติแทป (วางจำหน่ายโดยบุลเลตพรูฟซอฟต์แวร์ที่ทวีปอเมริกาเหนือในฐานะซูเปอร์ลิงก์) และมัลติ-อะแดปเตอร์ออโต นอกจากนี้ มีแบบหนึ่งที่ไม่มีใบอนุญาต คือไทรเบิลแทปซิกซ์เพลเยอร์อะแดปเตอร์โดยนากิ โดยหลอกลวงว่าเพิ่มพอร์ตคอนโทรลเลอร์ตัวที่หก ซึ่งได้รับการโปรโมตในฐานะจุดขายเทียบกับโมเดลมัลติแทปคู่แข่ง แม้ว่าจะไม่มีเกมซูเปอร์แฟมิคอมลิขสิทธิ์ใด ๆ ที่เคยรองรับผู้เล่นมากกว่าห้าคน

 
เจ-คาร์ต ที่มีสองพอร์ตคอนโทรลเลอร์ในตัว

มัลติแทปที่พัฒนาต่างหากสองแบบได้รับการเปิดตัวสำหรับเซกา เจเนซิส ใน ค.ศ. 1993 ได้แก่ 4-เวย์เพลย์ (ซึ่งใช้ทั้งสองพอร์ตคอนโทรลเลอร์) ได้รับการพัฒนาโดยอิเล็กทรอนิก อาตส์ ซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตจากเซกา และถูกสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับผู้เล่นเกมกีฬา (เช่น แมดเดน เอ็นเอฟแอล '94) ในขณะที่ทีมเพลเยอร์ (รู้จักกันในชื่อเซกาแทปในประเทศญี่ปุ่น) ได้รับการพัฒนาโดยเท็นเจนสำหรับกอนต์เล็ต IV และจำหน่ายโดยเซกาในฐานะผลิตภัณฑ์ภายในองค์กร ตรงกันข้ามกับ 4-เวย์เพลย์ ซึ่งต้องการเพียงหนึ่งพอร์ตคอนโทรลเลอร์เท่านั้น (โดยเหลือพอร์ตเพิ่มไว้สำหรับผู้เล่นคนที่ห้า เหมือนกับซูเปอร์มัลติแทป) และยังทำหน้าที่เป็นตัวแยกที่อนุญาตให้ผู้ใช้สลับระหว่างอุปกรณ์อินพุตหลายตัว (เช่น เมาส์ หรือไลต์กัน) ที่เชื่อมต่อกับคอนโซลในเวลาเดียวกัน โมเดลดั้งเดิมของทีมเพลเยอร์ (เอ็มเค-1654) ไม่สามารถใช้ร่วมกับเกมที่จำเป็นต้องใช้ 4-เวย์เพลย์ ดังนั้นจึงมีการแก้ไขในภายหลัง (เอ็มเค-1647) ซึ่งแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการเพิ่มสายคอนโทรลเลอร์ที่สอง และการตั้งค่า "เอกซ์ตรา" สำหรับความเข้ากันได้ของ 4-เวย์เพลย์ ในขณะที่ชื่อเกมที่เข้ากันได้กับทีมเพลเยอร์ส่วนใหญ่รองรับผู้เล่นได้สูงสุดสี่คนเท่านั้น (สำหรับบางเกม เช่น คอลัมส์ III รองรับได้ถึงห้าคน) ส่วนดับเบิลดริบเบิล: เดอะเพลย์ออฟซีซัน ของโคนามิ และเองาวะ ซูงูรุส์ ซูเปอร์ลีก ซีดี ของเซกา (เกมเบสบอลซึ่งผูกขาดของญี่ปุ่นสำหรับเมกา ซีดี) ทั้งสองเกมอนุญาตผู้เล่นสูงสุดแปดคนด้วยการใช้อะแดปเตอร์ทีมเพลเยอร์สองตัว (หนึ่งตัวในแต่ละพอร์ตคอนโทรลเลอร์) นอกเหนือไปจากมัลติแทปเหล่านี้ บริษัทโคดมาสเตอส์ได้เปิดตัวตลับเขเนซิสที่รู้จักกันในชื่อเจ-คาร์ต พร้อมด้วยพอร์ตควบคุมเพิ่มเติมอีกสองพอร์ต ทำให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อคอนโทรลเลอร์เพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องใช้อะแดปเตอร์ โดยมีเกมทั้งหมดหกเกมเปิดตัวในฟอร์แมตเจ-คาร์ต[4]

เกมสองสามเกมที่วางจำหน่ายในระบบคอมพิวเตอร์ที่บ้านของอามิกาหลังจาก ค.ศ. 1995 ได้รวมการสนับสนุนสำหรับมัลติแทปที่สร้างขึ้นเอง คำแนะนำในการสร้างมัลติแท็ปรวมอยู่ในคู่มือสำหรับซูเปอร์สคิดมากส์ ภาคต่อเกมแข่งรถของอามิกาแบบคลาสสิก[5] มัลติแทปอามิกาจะเสียบเข้ากับพอร์ตขนานของคอมพิวเตอร์และมีพอร์ตเพิ่มเติมสองพอร์ตสำหรับการใช้งาน ก่อนหน้านี้ บอมเบอร์แมน, ไดนาบลาสเตอร์ เวอร์ชันอามิกา ได้รวมการรองรับอุปกรณ์ที่คล้ายกันไว้แล้ว ดังที่แสดงให้เห็นในซีซัน 2 ตอนที่ 5 ของรายการเกมมาสเตอร์ทางทีวี

ยุคที่ห้า แก้

 
มัลติแทปอย่างเป็นทางการสำหรับเพลย์สเตชัน

เพลย์สเตชัน มัลติแทป ดั้งเดิมเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ต่อพ่วงแรกสุดที่เปิดตัวสำหรับแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่มีพอร์ตคอนโทรลเลอร์เพิ่มเติมสี่พอร์ตเท่านั้น แต่ยังมีช่องเสียบการ์ดหน่วยความจำสี่ช่องสำหรับแต่ละพอร์ต เช่นเดียวกับอะแดปเตอร์เซกาแทปสำหรับเมกาไดรฟ์ ที่สามารถใช้เพลย์สเตชัน มัลติแทป สองตัวในเวลาเดียวกันสำหรับคอนโทรลเลอร์และการ์ดหน่วยความจำถึงแปดตัว แม้ว่าจะมีเกมน้อยมากที่ยกให้มีผู้เล่นมากกว่าห้าคน[6]

 
มัลติแทปอย่างเป็นทางการสำหรับเซกา แซตเทิร์น

อะแดปเตอร์คอนโทรลเลอร์หกตัวสำหรับเซกา แซตเทิร์น (จำหน่ายในฐานะมัลติ-เพลเยอร์ อะแดปเตอร์ ในสหรัฐ และมัลติเทอร์มินัล 6 ในประเทศญี่ปุ่น) ซึ่งมีพอร์ตคอนโทรลเลอร์ส่วนใหญ่จากมัลติแทปทั้งหมดที่ผลิตโดยผู้ผลิตเอง เกมแซตเทิร์นที่มีชื่อเสียงที่สุดในการใช้ประโยชน์จากมัลติแทป คือ แซตเทิร์นบอมเบอร์แมน ซึ่งรองรับผู้เล่นได้มากถึง 10 คนพร้อมกัน (ต้องใช้มัลติแทปสองตัว) ส่วนเกมกีฬาจำนวนหนึ่ง เช่น เอ็นเอฟแอล ควอร์เตอร์แบ็กคลับ 96 รองรับผู้เล่นสูงสุด 12 คน นอกจากนี้ "เซกา แซตเทิร์น มัลติเพลเยอร์ทาสก์ฟอร์ซ (SSMTF)"[7] เป็นกลุ่มนักพัฒนาขนาดเล็กแต่มีศรัทธาแรงกล้าได้เปิดตัวเกมที่กลั่นกรองเองซึ่งอุทิศแก่การใช้มัลติแทปของแซตเทิร์น

หนึ่งในมัลติแทปแรกสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล คือกราวิสอินเตอร์เฟซโพรโทคอล (ตัวย่ออย่างเป็นทางการคือ GrIP) จากบริษัทแอดวานเซดกราวิสคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีนั้นมีหกพอร์ต และสี่พอร์ตสำหรับเกมแพดแบรนด์กราวิสดิจิทัล (เช่น กราวิส พีซี เกมแพด) ตลอดจนพอร์ตเดินทางผ่านสองพอร์ตสำหรับจอยสติกแบบแอนะล็อก[8]

ความเสื่อมถอย แก้

นินเท็นโด 64ไม่มีมัลติแทปอย่างเป็นทางการที่วางจำหน่ายเนื่องจากเครื่องเล่นดังกล่าวมีพอร์ตคอนโทรลเลอร์สี่พอร์ตโดยค่าเริ่มต้น (นับเป็นเครื่องเล่นแรกที่ทำได้ตั้งแต่แบลลีแอสโตรเคด และอาตาริ 5200) เป็นผลให้เกมที่มีผู้เล่นสี่คนจำนวนมากได้รับการเปิดตัวสำหรับระบบดังกล่าว ส่วนดรีมแคสต์ และเอกซ์บอกซ์ดั้งเดิมจะทำตามตัวอย่างของนินเท็นโด 64 โดยรวมพอร์ตคอนโทรลเลอร์สี่พอร์ตเป็นค่าเริ่มต้นเช่นเดียวกับเกมคิวบ์ ซึ่งเป็นเครื่องเล่นที่ประสบความสำเร็จของบริษัทนินเท็นโด

อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ เพลย์สเตชัน 2 ได้รับการเปิดตัวพร้อมกับพอร์ตคอนโทรลเลอร์เพียงสองพอร์ตเหมือนกับรุ่นก่อน ดังนั้น มัลติแทปจึงยังคงผลิตสำหรับเครื่องเล่นดังกล่าว เนื่องจากปัญหาความเข้ากันได้ เพลย์สเตชัน 2 มัลติแทป ดั้งเดิม (SCPH-10090) สำหรับเครื่องเล่นรุ่นแรก ๆ จึงใช้งานได้เฉพาะกับเกมเพลย์สเตชัน 2 ซึ่งหมายความว่าเพลย์สเตชัน หรือเพลย์สเตชันวันมัลติแทปดั้งเดิมยังคงจำเป็นสำหรับเกมในเครื่องเล่นก่อนหน้า ส่วนรุ่น "บอบบาง" ของเพลย์สเตชัน 2 มีการสร้างมัลติแทป (SCPH-70120) ใหม่ที่รองรับทั้งเกมเพลย์สเตชัน และเพลย์สเตชัน 2[9]

ดูเพิ่ม แก้

หมายเหตุ แก้

  1. ก่อนที่จะมีดอดจ์บอล เกมแฟมิคอมเกมแรกที่ให้มีผู้เล่นมากกว่าสองคนพร้อมกันคือโมเอโระทวินบี ของโคนามิที่วางจำหน่ายใน ค.ศ. 1986 ซึ่งช่วยให้ผู้เล่นคนที่สามสามารถเข้าร่วมได้โดยเพียงแค่เสียบจอยแพดเข้ากับพอร์ตเสริมโดยไม่ต้องใช้อะแดปเตอร์ ส่วนรุ่นส่งออกสำหรับเครื่องเกมนินเทนโด ใช้ชื่อสติงเงอร์ ให้มีผู้เล่นสูงสุดสองคนเท่านั้น

อ้างอิง แก้

  1. "ファミコン 周辺機器" (ภาษาญี่ปุ่น).
  2. "ファミコンの周辺機器が大集合! ザ☆周辺機器ズ 04". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-27. สืบค้นเมื่อ 2019-08-28.
  3. "VIDEO GAME MAKER HUDSON SOFT USA INTRODUCES FIRST-IN-THE-INDUSTRY, MULTI-PLAYER ACCESSORY; ANNOUNCES THIRD-PARTY SOFTWARE SUPPORT". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-15. สืบค้นเมื่อ 2020-01-19.
  4. "Quadro-Power". Megablast (ภาษาเยอรมัน). Joker Verlag. 1994-03-30. p. 29.
  5. "Super Skidmarks Manual" (PDF). p. 3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-10-08. สืบค้นเมื่อ 7 June 2016.
  6. "マルチタップ". プレイステーション® オフィシャルサイト (ภาษาญี่ปุ่น). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-28. สืบค้นเมื่อ 2021-05-13.
  7. "Sega Saturn Multiplayer Task Force". Sega Saturn Multiplayer Task Force.
  8. "Get a Grip!!!: Joysticks Past, Present & Future". Next Generation. No. 17. Imagine Media. May 1996. p. 40.
  9. "周辺機器互換表". プレイステーション® オフィシャルサイ (ภาษาญี่ปุ่น).