มนาสลุ (เนปาล: मनास्लु; Manaslu) บ้างทับศัพท์เป็น มนัสลู[4] เป็นภูเขาที่สูงที่สุดเป็นอันดับแปดของโลก ที่ความสูง 8,163 เมตร (26,781 ฟุต) จากระดับน้ำทะเล เป็นส่วนหนึ่งของมานสิริหิมัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหิมาลัยในเนปาล ชื่อมนาสลุแปลว่า "เขาแห่งวิญญาณ" มาจากคำสันสกฤต มนส แปลว่าผู้มีปัญญาหรือดวงวิญญาณ การพิชิตเขามนาสลุครั้งแรกสำเร็จในวันที่ 9 พฤษภาคม 1956 โดย Toshio Imanishi และ Gyalzen Norbu จากญี่ปุ่น ว่ากันว่า "มนาสลุเป็นภูเขาของชาวญี่ปุ่น เหมือนที่ชาวบริเตนมองเอเวอเรสต์เป็นเขาของตน" อันเนื่องมาจากความพยายามที่ล้มเหลวหลายครั้งของชาวบริเตนในการพิชิตเขาเอเวอเรสต์ก่อนที่เอ็ดมันด์ ฮิลลารี จะพิชิตเขาสำเร็จ[5][6]

มนาสลุ
मनास्लु  (เนปาล)
พระอาทิตย์ชึ้นที่มนาสลุ
จุดสูงสุด
ความสูง
เหนือระดับน้ำทะเล
8,163 เมตร (26,781 ฟุต) [1]
Ranked 8th
ความสูง
ส่วนยื่นจากฐาน
3,092 เมตร (10,144 ฟุต) [2]
Ranked 80th
รายชื่อเอธธาวซันเดอร์
อัลตรา
พิกัด28°32′58″N 84°33′43″E / 28.54944°N 84.56194°E / 28.54944; 84.56194[1]
ชื่อ
ความหมายเขาแห่งวิญญาณ (สันสกฤต)
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์
เทือกเขามัญสิริหิมัล หิมาลัย
การพิชิต
พิชิตครั้งแรกMay 9, 1956, by a Japanese team[3]
(First winter ascent 12 January 1984 Maciej Berbeka and Ryszard Gajewski)
เส้นทางง่ายสุดหิมะ/น้ำแข็ง ผาตะวันออกเฉียงเหนือ

ยอดเขาของมนาสลุถือว่าสูงที่สุดในอำเภอโกรข่า และตั้งอยู่ห่างไป 64 km (40 mi) ทางตะวันออกของอันนาปุรนะ เนื่องด้วยลักษณะสันเขาที่ยาวและยังเต็มไปด้วยหุบเขาธารน้ำแข็ง ทำให้สามารถปีนมนาสลุได้จากทุกทิศทาง ก่อนจะมาถึงยอดเขาที่ชันขึ้นในตอนปลายเหนือภูมิทัศน์โดยรอบ ลักษณะนี้ยังสามารถเห็นได้แม้จากไกล ๆ[7][6][8][9]

ภูมิภาคมนาสลุมีตัวเลือกในการไต่เขามากมาย เส้นทางไต่เขาที่นิยมที่สุดของมนาสลุมีความยาว 177 กิโลเมตร (110 ไมล์) และได้รับการอนุมัติให้ไต่ในเส้นทางนี้ได้ในปี 1991 โดยรัฐบาลเนปาล[10] เส้นทางนี้เป็นการเดินตรมเส้นทางค้าเกลือในสมัยโบราณ ไปตามแม่น้ำพุทธิคันทกี ขาไปจะสามารถมองเห็นยอดเขารวม 10 ยอดที่สูงกว่า 6,500 เมตร (21,325 ฟุต) ในจำนวนนี้มีอยู่สองสามเขาที่สูงเกิน 7,000 เมตร (22,966 ฟุต) จุดสูงสุดในเส้นทางไต่เขาคือพื้นที่ลารกยา-ลา ซึ่งอยู่สูง 5,106 เมตร (16,752 ฟุต) จากระดับน้ำทะเล ข้อมูลจากพฤษภาคม 2008 มีการไต่เขามนาสลุแล้ว 297 ครั้ง และมีการเสียชีวิตขณะไต่เขาอยู่ที่ 53 ราย[11][7][12]

ด้านสามด้านของเขามนาสลุมีลักษณะเป็นขั้นบันไดไล่ระดับลงมา มีการอยู่อาศัยและทำการเกษตรอยู่บ้างประราย นอกจากการพิชิตเขามนาสลุแล้ว การเดินเท้าทางไกล (trekking) ยังเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมยอดนิยมในมนาสลุ โดยเฉพาะในฐานะส่วนหนึ่งของวงมนาสลุ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเท้าทางไกลที่นิยมของเนปาล[7] นอกจากนี้ "มนาสลุหิมัล" ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันในบรรดานักเดินเท้าทางไกล ยังเป็นจุดที่สามารถมองเห็นทิวของเขาหิมาลัย รวมถึงยังมีโอกาสให้ได้ติดต่อมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองต่าง ๆ ในหมู่บ้านที่กระจัดกระจายไปทั่วมนาสลุ[13] อย่างไรก็ดี เส้นทางเดินเท้าทางไกลนี้เป็นการเดินเท้าไปตามภูมิประเทศแบบภูเขา ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสภาพอากาศแปรปรวน ฝน ดินถล่ม นอกจากนี้ยังมีอาการป่วยอย่างอุณหภูมิร่างกายต่ำ และ อาการเมาที่สูง ไปจนถึงการปะกับจามรี ทำให้เส้นทางเดินนี้เป็นเหมือนการทดสอบความทนทานของร่างกาย[14]

ในเดือนธันวาคม 1998 ได้มีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์มนาสลุภายใต้กฎหมายการอนุรักษ์พื้นที่ทางธรรมชาติของเนปาล มีพื้นที่อนุรักษ์รวม 1,663 ตารางกิโลเมตร (642 ตารางไมล์) ภายใต้ National Trust for Nature Conservation (NTNC) เพื่ออนุรักษ์และจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน, สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเพื่อช่วยเหลือสภาพความเป็นอยู่และสร้างรายได้แก่คนในพื้นที่มนาสลุ[15]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Mountaineering in Nepal Facts and Figures, p. 170
  2. "High Asia II: Himalaya of Nepal, Bhutan, Sikkim and adjoining region of Tibet". Peaklist.org. สืบค้นเมื่อ 2014-05-29.
  3. Mountaineering in Nepal Facts and Figures, p. 221
  4. "หิมะถล่มบนยอดเขามนัสลู ในเนปาล ตาย 11 สูญหาย 38". ThaiPBS. 2013-09-24.
  5. Mayhew, p. 326
  6. 6.0 6.1 "Manaslu". Summitpost. สืบค้นเมื่อ 2010-04-10.
  7. 7.0 7.1 7.2 Reynolds, pp. 11–15
  8. "Circuit". Mountain Club. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-17. สืบค้นเมื่อ 2010-04-14.
  9. "Manaslu Region Trekking". Lumbini Media.
  10. Aryal, Rakesh. "Trekking Permission". Around Manaslu Trek. Around Manaslu Trek P. Ltd.
  11. "Manaslu Facts and History". K2 News. สืบค้นเมื่อ 2010-04-10.
  12. "Statistics for Manaslu". 8000ers.com. สืบค้นเมื่อ 2010-04-17.
  13. Reynolds, p. 9
  14. Reynolds, p. 8
  15. "Manaslu Conservation Area Project (MCAP)". National Trust for Nature Conservation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-03. สืบค้นเมื่อ 2019-12-23.

บรรณานุกรม แก้