ภิกษุณีในประเทศจีน
ประวัติภิกษุณีสงฆ์ในประเทศจีน ปลายปีรัชกาลย่งเจีย(หย่งเกีย)แห่งราชวงศ์จิ้น(พ.ศ.850-855) หญิงจีนมีนามว่า จิ้งเจี่ยน ตัดสินใจปลงผม และขอรับศีล10 จากพระอุปัชฌาย์ พระชญาณเมรุ มีผู้หญิงจีนศรัทธาและเข้ารับการบรรพชาพร้อมเธอ24คน แล้วก่อตั้ง อารามจู๋หลินซื่อ(เต๊กลิ้มยี่)แปลว่า วัดป่าไผ่ ขึ้นที่ประตูทางทิศตะวันตกของเมืองหลวง เนื่องจากบรรดาสามเณรีเหล่านี้ไม่มีปวัตตินี เธอจึงศึกษาธรรมอยู่กับพระอาจารย์จิ้งเจี่ยน ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถในการสั่งสอนอบรม
พระอุปัชฌาย์นั้นคือ พระชญาณเมรุ สมณะจากแคว้นกาศมีระ(แคชเมียร์)ในดินแดนทางทิศตะวันตก ท่านเป็นอาจารย์ที่ปราดเปรื่องและมีเมตตาธรรม นอกจากนั้น ยังเป็นอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาและมีความรู้ดีในพระสูตรต่างๆในปลายปีรัชกาลย่งเจีย แห่งราชวงศ์จิ้น ท่านได้เดินทางมาประเทศจีน และยังชีพโดยการภิกขาจาร ท่านสั่งสอนธรรมและเผยแผ่คำสอนในพระพุทธศาสนา แต่ประชาชนในยุคนั้นยังไม่ค่อยศรัทธาในพระพุทธศาสนามากนัก จึงไม่ค่อยมีใครสนใจจะศึกษากับท่านอย่างจริงจัง ในปีแรกของปีรัชกาลเจี้ยนอู่(พ.ศ.860) ท่านจึงได้เดินทางกลับไปยังแคว้นกาศมีระ ต่อมาพระอาจารย์อีกรูปหนึ่งชื่อ พุทธจิงค์ เดินทางจากประเทศอินเดียมายังประเทศจีนอีกและได้สรรเสริญถึงคุณธรรมและความสามารถของพระชญาณเมรุ ทำให้ประชาชนชาวจีนพากันเสียใจ และเสียดายโอกาสในความโง่เขลาของตนที่ไม่ได้เล่าเรียนพระพุทธศาสนาจากพระอาจารย์ผู้มีความสามารถในขณะที่ท่านอยู่ในประเทศจีน ขณะเดียวกัน จิ้งเจี่ยน ก็อบรมสั่งสอนศิษย์อยู่ที่อารามแห่งเดิมนั้น เธอเป็นผู้มีท่วงทีงามสง่า คือการปฏิบัติในแนวทางสายกลางและเป็นผู้มีจริยาวัตรที่มั่นคงในธรรม เธอมีความสามารถในการเทศน์สอนจนสามารถเอาชนะใจผู้ฟังได้ดี
ระหว่างปลายปีรัชกาลเสียนคัง ในราชวงศ์จิ้น(พ.ศ.878-885)พระสมณะเซิงเจี้ยน ได้รับคัมภีร์ต้นฉบับมหาสังฆิกภิกษุณีกรรม และ ภิกษุณีปราติโมกข์ มาจากอาณาจักรง้วยสี และได้แปล(จากภาษาสันสกฤต)เป็นภาษาจีน ในวันที่8 เดือน2 ปีที่1 ในปีรัชกาลเซิงผิง(พ.ศ.900-904)ในเมืองลั่วหยาง พระอาจารย์ชาวต่างประเทศคือ พระสมณะธรรมคุปต์ได้กำหนดเขตสีมา ศีลมณฑล เพื่อการบรรพชาอุปสมบทภิกษุณีขึ้น แต่พระอาจารย์จีนชื่อ สมณะซือเต้าฉาง โต้แย้ง โดยอ้างว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติดังปรากฏในวินัยสูตร ดังนั้น จึงได้ตระเตรียมเรือลอยกลางแม่น้ำซื่อ จิ้งเจี่ยน พร้อมผู้หญิงอีก3คนจึงขึ้นไปบนเรือนั้น และได้รับศีลภิกษุณีจากพระภิกษุ นับเป็นหญิงจีนคนแรกที่ได้รับการบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุณีในประเทศจีน
อ้างอิง
แก้- สิกขาบทของภิกษุณีตามคติพุทธศาสนามหายาน,ฉบับแปลไทย,ภิกษุณีปุญสิมา