ภาษากริซตัง

(เปลี่ยนทางจาก ภาษาคริสตัง)

ภาษากริซตัง (Kristang language) หรือ ภาษาโปรตุเกสลูกผสมมะละกา (Malaccan Creole Portuguese) หรือภาษามะละกา หรือภาษาเกอราเกา พูดโดยชาวกริซตังซึ่งเป็นลูกหลานระหว่างชาวโปรตุเกสกับชาวเอเชียที่อยู่ในมะละกาและสิงคโปร์ มีผู้พูดภาษานี้ราว 1,000 คน ในมะละกา มีความเกี่ยวข้องกับสำเนียงที่พบในกัวลาลัมเปอร์และสิงคโปร์ เป็นภาษาทางการค้า ผู้พูดภาษานี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ ผู้พูดภาษานี้จะพูดภาษามลายูซาบา ผู้หญิงบางคนพูดภาษาอังกฤษได้ บางครั้งเรียกว่าภาษาคริสเตาหรืออย่างง่ายๆว่าภาษาปาปีอา ประมาณ 80% ของผู้พูดภาษานี้ที่เป็นผู้สูงอายุจะพูดภาษานี้ในชีวิตประจำวัน มีผู้พูดจำนวนน้อยในกัวลาลัมเปอร์ซึ่งเกิดจากการอพยพ มีผู้พูดภาษาคริสตังที่ย้ายถิ่นไปยังอังกฤษ ออสเตรเลีย

ภาษากริซตัง
ภาษาโปรตุเกสลูกผสมมะละกา
Kristang
ประเทศที่มีการพูดมาเลเซีย สิงคโปร์
จำนวนผู้พูด1,000 คน  (2014)
ตระกูลภาษา
โปรตุเกสครีโอล
  • ภาษาลูกผสมโปรตุเกส-มลายู
    • ภาษากริซตัง
รหัสภาษา
ISO 639-3mcm
Linguasphere51-AAC-aha
บทความนี้มีสัญลักษณ์สัทอักษรสากล หากระบบของคุณไม่รองรับการแสดงผลที่ถูกต้อง คุณอาจเห็นปรัศนี กล่อง หรือสัญลักษณ์อย่างอื่นแทนที่อักขระยูนิโคด

ประวัติศาสตร์ แก้

การเกิดขึ้นของภาษาคริสเตาเกิดขึ้นเมื่อชาวโปรตุเกสปกครองมะละกาเมื่อ พ.ศ. 2054 ชุมชนของผู้พูดภาษานี้คือลูกหลานที่เกิดจากการแต่งงานระหว่างชาวโปรตุเกสกับหญิงมลายู บางส่วนอพยพมาจากกัว ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างชาวโปรตุเกสกับชาวอินเดีย ภาษากริซตังได้รับอิทธิพลจากภาษามาเก๊าซึ่งเป็นภาษาลูกผสมที่ใช้พูดในมาเก๊า ซึ่งอาจจะเกิดจากการอพยพออกจากมะละกาเมื่อดินแดนนี้ถูกดัตช์ยึดครอง หลังจากที่โปรตุเกสหมดอำนาจจากมะละกาและไม่ได้มีการติดต่อใดๆอีกตั้งแต่ พ.ศ. 2184 ชาวกริซตังยังคงรักษาภาษาของพวกเขาไว้ ภาษานี้ไม่มีการสอนในโรงเรียน ภาษาที่ใช้ในโบสถ์เป็นภาษาโปรตุเกส

ลักษณะ แก้

ไวยากรณ์ของภาษาเป็นแบบเดียวกับภาษามลายู คำศัพท์ส่วนใหญ่มาจากภาษาโปรตุเกส และอาจจะเป็นเพราะผลจาการย้ายถิ่นและการติดต่อทางการค้า ภาษากริซตังจึงมีลักษณะคล้ายกับภาษาลูกผสมอื่น ๆ ที่ตายไปแล้วในอินโดนีเซียและติมอร์-เลสเต

ไวยากรณ์ แก้

ในการแสดงกาลของกริยา จะมีการเติมคำ เช่น ja แสดงอดีต (มาจาก já ในภาษาโปรตุเกส “แล้ว”) ta สำหรับปัจจุบันกำลังกระทำ (มาจากภาษาโปรตุเกส está “เป็น/คือ”) logu สำหรับอนาคต โดยการใช้งานเป็นแบบเดียวกับคำที่มีความหมายเช่นเดียวกันนี้ในภาษามลายูคือ sudah, sedang, และ akan

คำศัพท์ แก้

คำสรรพนาม yo (ฉัน) เป็นคำที่ใช้อยู่ในภาษาโปรตุเกสทางตอนเหนือ เช่นเดียวกับในภาษาสเปน ภาษาอิตาลีและภาษาซิซิลี รากศัพท์ในภาษากริซตังส่วนใหญ่มาจากภาษาโปรตุเกส แต่มีการเปลี่ยนรูปไปบ้าง เช่น padrinho (เจ้าพ่อ) madrinha (เจ้าแม่) ในภาษาโปรตุเกส กลายเป็น inyu และ inya gordo (อ้วน) ในภาษาโปรตุเกสเป็น godro เสียงสระประสม oi หรือ ou (ในสำเนียงโบราณ) ลดรูปเป็น o เช่น dois/dous "สอง" → dos à noite/à noute "คืนนี้" → anoti

คำภาษาโปรตุเกสจำนวนมากที่เริ่มต้นด้วย ch จะออกเสียงเป็น sh ในภาษาโปรตุเกสสมัยใหม่ ยังคงออกเสียงเป็น ch ในภาษากริซตัง chegar "มาถึง" และ chuva "ฝน" จากภาษาโปรตุเกสเป็น chegak และ chu ซึ่งอาจเป็นเพราะอิทธิพลของภาษามลายูหรือเพราะภาษากริซตังได้รักษาการออกเสียงของภาษาโปรตุเกสโบราณไว้ เพราะการออกเสียงเช่นนี้ พบในภาษาโปรตุเกสทางตอนเหนือด้วย

ระบบการเขียน แก้

ภาษากริซตังไม่เคยมีการเรียนการสอนในโรงเรียน ส่วนใหญ่ใช้เป็นภาษาพูด ข้อเสนอในการสร้างมาตรฐานการออกเสียงเริ่มขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2523 เมื่อ Alan B. Baxter ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษากริซตัง โดยใช้ระบบการออกเสียงแบบเดียวกับภาษามลายู โดย e ออกเสียงเป็นสระอีเมื่อพยางค์ต่อไปมีเสียงสระอี เช่น penitensia ออกเสียงว่า “ปีนีเตนเซีย”

อ้างอิง แก้

  • Gordon, Raymond G., Jr. (ed.), 2005. Ethnologue: Languages of the World, Fifteenth edition. Dallas, Tex.: SIL International. Online version:Cristão

แหล่งข้อมูลอื่น แก้