ภยเภรวสูตร เป็นพระสูตรในพระสุตตันตปิฎก หมวดมัชฌิมนิกาย หมวดมูลปัณณาสก์ อยู่ในวรรคชื่อมูลปริยายวรรค สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ แก่พระภิกษุทั้งหลาย ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ที่สร้างโดยท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีในนครสาวัตถี โดยสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงพระสูตรแก่ ชาณุสโสณิพราหมณ์ซึ่งเข้าไปเฝ้า ทั้งนี้ ชาณุสโสณีนั้น ในคัมภีร์ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ระบุว่า ไม่ใช่ชื่อที่บิดามารดาของพราหมณ์นั้นตั้งให้ แต่ว่าเป็นชื่อที่ได้มาจากการได้ตำแหน่ง ว่ากันว่าตำแหน่งชาณุสโสณีนั้นเป็นตำแหน่งปุโรหิต พระราชาได้พระราชทานตำแหน่งปุโรหิตนั้นให้แก่เขาฉะนั้นคนทั้งหลายจึงเรียกเขาว่า ชาณุสโสณี [1]

เนื้อหา แก้

ชาณุสโสณิพราหมณ์ กราบทูลสรรเสริญว่าทรงเป็นหัวหน้า เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้แแนะนำกุลบุตรที่ออกบวชอุทิศพระองค์ แล้วกราบทูลต่อไปว่า เสนาสนะอันสงัดอันตั้งอยู่ในป่าและราวป่า อดทนได้ยาก ความสงัดความเป็นผู้อยู่ผู้เดียวทำได้ยาก ยินดีได้ยาก ประหนึ่งว่าป่าจะนำใจของภิกษุผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย พระผู้มีพระภาคตรัสรับว่า เมื่อก่อนตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ก็ทรงเคยคิดถึงเสนาสนะป่าในทำนองเช่นนั้น แล้วได้ทรงแสดงความคิดของพระองค์ก่อนตรัสรู้[2]

จากนั้น ทรงแสดงความที่พระองค์มี กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อาชีวะ บริสุทธิ์ ไม่มีความอยากได้มาก มีจิตตั้งมั่น มีปัญญา ย่อมเป็นผู้มีขนเรียบ (ไม่หวาดกลัว ไม่ขนพอง) เมื่ออยู่ในป่า ทั้งนี้ เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ พระพุทธองค์กำจัดความกลัวโดยเข้าไป ยังสถานที่ที่น่ากลัวยิ่งขึ้น ถ้าความกลัวเกิดขึ้นอิริยาบถใด จะไม่เปลี่ยนอิริยาบถนั้น จนกว่าความกลัวนั้น จะหายไป[3] ครั้นแล้วทรงแสดงข้อปฏิบัติของพระองค์ คือการตั้งสติจนมีอารมณ์เป็นอันเดียว ได้ฌานที่ 1 ถึงฌานที่ 4 แล้วทรงได้วิชชาและแสงสว่าง ประเภทระลึกชาติได้ในยามที่ 1 ประเภททิพย์จักษุ เห็นการเกิดการตายของสุตว์ทั้งหลายในยามกลาง , ประเภททำอาสวะให้สิ้นในยามสุดท้าย แล้วตรัสสรูปในที่สุดว่า อาจมีผู้คิดว่าพระองค์ยังไม่หมดราคะ โทสะ โมหะ จึงต้องเสพเสนะสนะอันสงัดอันตั้งอยู่ในป่า ซึ่งไม่ควรคิดเช่นนั้น[4]

ทั้งนี้ พระพุทธองค์ ทรงเห็นอำนาจประโยชน์ 2 อย่าง คือ 1. เห็นความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของตน 2. อนุเคราะห์ประชุมชนผู้เกิด ณ ภายหลังจึงเสพเสนาสนะ อันสงัดที่เป็นป่า และเป็นป่าเปลี่ยว[5]

หลังจากสดับพระธรรมเทศนาแล้ว ชาณุสโสณิพราหมณ์ก็รับรองว่าทรงอนุเคราะห์คนรุ่นหลังอย่างแท้จริง แล้วประกาศความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต[6]

อ้างอิง แก้

  1. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย, ภยเภรวสูตร หน้า 274
  2. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 207 - 208
  3. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, ภยเภรวสูตร หน้า 261 - 268
  4. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 207 - 208
  5. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, ภยเภรวสูตร หน้า 272
  6. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 208

บรรณานุกรม แก้

  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, ภยเภรวสูตร
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1,
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพมหานคร. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.

ตัวบท แก้

ภยเภรวสูตร

Bhaya-bherava Sutta: Fear & Terror