ฟูฟู (สุนัข)

สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ 10

พลอากาศเอก ฟูฟู (15 มิถุนายน พ.ศ. 2540 – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558) เป็นสุนัขทรงเลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นสุนัขทรงเลี้ยงตัวโปรดที่จะปรากฏตัวพร้อมพระองค์ในพระราชพิธีสำคัญ รวมทั้งการเดินแบบและแสดงความสามารถพิเศษบ่อยครั้ง[3]

พลอากาศเอก
ฟูฟู
สปีชีส์สุนัข
สายพันธุ์พุดเดิ้ล[1]
เพศผู้
เกิด15 มิถุนายน พ.ศ. 2540
กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
ตายกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 (17 ปี)
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2540–2558
เป็นที่รู้จักสำหรับสุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ 10
เจ้าของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
ศรีรัศมิ์ สุวะดี​​ (จนถึง พ.ศ. 2557)
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทายาทฟุ้งฟุ้ง[2]
เฟื่อง
ฟ้า
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ไทย ประเทศไทย
แผนก/สังกัด กองทัพอากาศไทย
ประจำการพ.ศ. 2552–2558
ชั้นยศ พลอากาศเอก

ประวัติ

ฟูฟู เป็นสุนัขพันธุ์พูเดิลเพศผู้ เกิดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2540 เดิมเป็นสุนัขของผู้เพาะพันธุ์สุนัขในตลาดนัดสวนจตุจักรที่ได้ถวายสุนัขนี้ขณะมีอายุหนึ่งเดือนแด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมปีเดียวกัน ด้วยสุนัขนี้มีลักษณะเด่นคือมีขนสีขาวแน่นและฟูฟ่อง จึงประทานชื่อว่า "ฟูฟู” แล้วนำไปบำรุงเลี้ยงที่พระตำหนักนนทบุรีระยะหนึ่ง โดยมิได้ใกล้ชิดฟูฟูเท่าใดด้วยมีสุนัขทรงเลี้ยงอยู่แล้วหลายตัว[4] แม้ฟูฟูจะน่ารักน่าชังแต่ก็มีสุขภาพที่อ่อนแอมาก เบื้องต้นจึงตกอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ในพระตำหนัก[5] ต่อมาท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ที่ขณะนั้นยังเป็นหม่อม ได้เอ็นดูสุนัขนี้จึงนำไปเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด จนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรมีพระเมตตาโปรดเกล้าฯ รับฟูฟูเป็นสุนัขทรงเลี้ยงโดยมีท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ร่วมดูแล จนฟูฟูอายุได้สองเดือนจึงได้รับการฝึกสอนต่าง ๆ และสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็วกว่าสุนัขตัวอื่น[4] ฟูฟู ปรากฏตัวต่อสาธารณชนในการประกวดสุนัขหลายรายการ เคยได้ตำแหน่งรางวัลชนะเลิศประเภทมิตรแท้ และรองชนะเลิศอันดับสองประเภทสวยงามตามสายพันธุ์ ในการเข้าประกวดงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2543 และในปี 2544 ก็ได้รางวัลชนะเลิศประเภทสวยงามและความสามารถพิเศษ พร้อมกับรางวัลชนะเลิศประเภทขนสวยที่สุด โดยมิได้เปิดเผยว่าเป็นสุนัขทรงเลี้ยงแต่อย่างใด[4] และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 ฟูฟู ปรากฏตัวในงานมหกรรมสัตว์เลี้ยงแห่งประเทศไทยที่จัดขึ้นในจังหวัดนครปฐม ซึ่งได้รับคำชื่นชมว่าเป็นสุนัขที่ "สวยสง่าและฉลาดหลักแหลมยิ่ง"[6] หลังการรั่วไหลของโทรเลขภายในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2549 วิกิลีกส์ได้เผยแพร่ข้อมูลว่าฟูฟูได้รับการแต่งตั้งให้มียศเป็น "พลอากาศเอก" ประจำกองทัพอากาศไทย[7]

ในปี พ.ศ. 2550 ฟูฟู ตกเป็นที่สนใจของประชาชน จากการปรากฏตัวในวีดิทัศน์ที่รั่วไหลอันเผยให้เห็นท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ซึ่งขณะนั้นเป็นหม่อม ป้อนเค้กวันเกิดแก่ฟูฟู ทั้งที่เปลือยกายและสวมเพียงจี-สตริง[8] มีการสันนิษฐานว่าวีดิทัศน์ดังกล่าวถูกเผยแพร่โดยฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรขณะเป็นมกุฎราชกุมาร เพราะถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในไทย และเป็นการต่อสู้ภายในเพื่อความชอบธรรมในสืบราชสมบัติช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระประชวร[7]

จากการรั่วไหลของโทรเลขภายในถึงกรุงวอชิงตันที่วิกิลีกส์ได้นำมาเผยแพร่ต่อ ให้ข้อมูลว่าไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ราล์ฟ แอล. บอยซ์ (Ralph L. Boyce) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมงานเลี้ยงอาหารเพื่อเป็นเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ขณะนั้นยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ฟูฟูปรากฏตัวในงาน "แต่งกายอย่างพิธีการสำหรับงานราตรี และสวมถุงเท้าอย่างเรียบร้อย..."[7] และ "...ในตอนหนึ่งขณะที่วงดนตรีกำลังเล่นเพลงที่สอง เขากระโดดขึ้นไปบนหัวโต๊ะแล้วเริ่มเลียน้ำจากแก้วของแขกเหรื่อรวมทั้งของตัวกระผมด้วย การแสดงตลกของพลอากาศเอกท่านนี้สร้างความสนใจแก่ผู้ร่วมงานกว่า 600 คนไปเต็ม ๆ และเป็นยังคงเป็นเรื่องที่พูดถึงมาจนทุกวันนี้"[7]

ฟูฟู ตายเมื่อต้นปี พ.ศ. 2558 โดยมีพิธีสวดพระอภิธรรมในคืนวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ ก่อนประชุมเพลิงในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เวลา 14:30 น. ซึ่งภาพพิธีดังกล่าวนั้นได้รับการส่งต่ออย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ของไทย และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างอ้อม ๆ ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลต่อผู้สืบราชสมบัติที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเปิดเผยในประเทศไทยเพราะอาจเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอันมีบทลงโทษที่เข้มงวด[7]

ลูก

ฟูฟู มีลูกกับแนปปี้[9] หรือแนตตี้ สุนัขพูเดิลเพศเมียของอัมภาพร พิสุทธิกุล ที่สัตวแพทย์พบว่าสุนัขเพศเมียตัวนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับฟูฟู จึงนำความกราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรทอดพระเนตร หลังจากนั้นจึงรับสั่งสอบถามเพื่อให้มาผสมกับฟูฟู จนมีลูกสามตัว เป็นเพศผู้ คือ ฟุ้งฟุ้งกับเฟื่อง และเป็นเพศเมียชื่อ ฟ้า[4]

อ้างอิง

  1. O'Grady, Siobhan (October 13, 2016). "The Thai King's Heir Owned a Controversial Poodle Named Air Chief Marshal Foo Foo". Foreign Policy.
  2. "เปิดประวัติ 'คุณฟุ้งฟุ้ง' ลูกชายพลอากาศเอก 'ฟูฟู' สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ 10". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-23. สืบค้นเมื่อ 2020-01-04.
  3. "2 สุนัขทรงเลี้ยงโชว์ความสามารถสุดประทับใจ". ผู้จัดการออนไลน์. 31 มกราคม 2553. สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "คุณ "ฟูฟู" สุนัขทรงเลี้ยงในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ". พัน. ปจว. กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "The Week That Was : Playful Palace poodle piques pet-loving Prince". The Nation. Bangkok. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-06. สืบค้นเมื่อ 5 February 2015.
  6. "Tongdaeng progeny put through paces". The Nation. Bangkok. 16 December 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 5 February 2015.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Marshall, Andrew MacGregor (5 February 2015). "Thai crown prince's poodle, Air Chief Marshal Foo Foo, has been cremated". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 5 February 2015.
  8. Graham, Caroline (24 May 2014). "How future queen of Thailand (wearing only a tiny G-string) let her poodle Foo Foo eat cake: As coup rocks Bangkok, video reveals royal couple's decadent lifestyle". Daily Mail. สืบค้นเมื่อ 5 February 2015.
  9. "เปิดตัว 3 สุนัขทรงเลี้ยงแสนรู้ "คุณฟุ้งฟุ้ง คุณเบบี้และคุณแอสโก้"". ผู้จัดการออนไลน์. 31 กรกฎาคม 2548. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)