ฟอลีอาเดอ

กลุ่มอาการจิตเวชที่บุคคลหนึ่งส่งผ่านอาการหลงผิดไปยังอีกบุคคลหนึ่ง

ฟอลีอาเดอ (ฝรั่งเศส: folie à deux; "ความบ้าของสองคน") โรคจิตร่วม (อังกฤษ: shared psychosis)[2] หรือ โรคหลงผิดร่วม (อังกฤษ: shared delusional disorder, SDD) เป็นกลุ่มอาการจิตเวชพบได้ยากที่ผู้ป่วยมีอาการหลงผิดและประสาทหลอนในบางครั้ง[3] ซึ่งผู้ป่วยสามารถ "ส่งผ่าน" อาการไปยังอีกคนได้[4]

ฟอลีอาเดอ
ชื่ออื่นโรคจิตร่วม, โรคหลงผิดเหตุชักนำ, กลุ่มอาการลาแซก–ฟาลแร
การออกเสียง
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์

ฌูล บายาเฌ จิตแพทย์และนักประสาทวิทยาชาวฝรั่งเศสเป็นคนแรกที่บรรยายถึงโรคนี้ใน ค.ศ. 1860 ต่อมาใน ค.ศ. 1877 ชาร์ล ลาแซก และฌูล ฟาลแร แพทย์ชาวฝรั่งเศสเรียกความผิดปกตินี้ว่า folie à deux ซึ่งแปลว่า "ความบ้าของสองคน"[5] บางครั้งความผิดปกตินี้รู้จักในชื่อ "กลุ่มอาการลาแซก–ฟาลแร" (Lasègue–Falret syndrome)[3][6] เกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชปัจจุบันจัดกลุ่มอาการนี้อยู่ในกลุ่มโรคจิตร่วม (DSM-4 – 297.3) และโรคหลงผิดเหตุชักนำ (ICD-10 – F24) แม้ว่าการศึกษาส่วนใหญ่จะยังคงใช้ชื่อเดิม กลุ่มอาการเดียวกันนี้หากเกิดมากกว่าสองคนอาจเรียก ฟอลีอาทรัว (folie à trois; สามคน) ฟอลีอากัทร์ (folie à quatre; สี่คน) ฟอลีอ็องฟามีย์ (folie en famille; ครอบครัว) และ ฟอลีอาปลูว์ซีเยอร์ (folie à plusieurs; หลายคน)

อย่างไรก็ตาม ความผิดปกตินี้ไม่อยู่ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (DSM-5) ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน เนื่องจากเกณฑ์การวินิจฉัยไม่เพียงพอ นอกจากนี้ DSM-5 ยังไม่จำแนกโรคจิตร่วม (ฟอลีอาเดอ) ออกเป็นกลุ่มต่างหาก โดยมีการแนะนำว่าควรจัดกลุ่มอาการนี้ในกลุ่มโรคหลงผิด (delusional disorder) หรือกลุ่มโรคจิตเภทเฉพาะอื่น ๆ และโรคจิตอื่น ๆ (other specified schizophrenia spectrum and other psychotic disorder)

อาการและอาการแสดง แก้

กลุ่มอาการฟอลีอาเดอมักมีลักษณะคือบุคคลสองคนหรือมากกว่านั้นอยู่ใกล้ชิดกัน แต่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนอกเหนือจากนั้นเพียงเล็กน้อยหรืออาจไม่มีเลย การศึกษาใน ค.ศ. 2022 รายงานว่ามีลักษณะย่อยของโรคจิตร่วม 4 ลักษณะ ได้แก่[7][8]

  • ฟอลีแอ็งโปเซ (folie imposée) หรือบุคคลแรกซึ่งเป็นโรคจิตส่งผ่านอาการไปยังบุคคลที่สองซึ่งไม่เป็นโรคจิต โดยอาการหลงผิดนี้จะหายไปเมื่อทั้งสองแยกจากกัน
  • ฟอลีซีมูลตาเน (folie simultanée) หรือทั้งสองฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนอาการทางจิตแก่กันจนทั้งคู่มีอาการคล้ายกัน โดยความสัมพันธ์นี้ต่างกระตุ้นปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคจิตของทั้งคู่
  • ฟอลีกอมูว์นีเก (folie communiquée) หรือบุคคลที่สองซึ่งไม่เป็นโรคจิตมีอาการหลงผิดหลังอยู่ในภาวะต่อต้านมาชั่วเวลาหนึ่ง บุคคลที่สองนี้อาจยังคงมีอาการแม้จะแยกกับบุคคลแรกที่เป็นโรคจิต
  • ฟอลีแอ็งดุอิต (folie induite) หรือบุคคลสองคนที่เป็นโรคจิตได้รับอาการหลงผิดใหม่จากบุคคลที่สามที่เป็นโรคจิตเช่นกัน

ฟอลีอาเดอมีลักษณะคล้ายความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ ที่ผู้ชักนำ (inducer) มีระดับและประเภทของอาการหลงผิดแตกต่างออกไป แต่ผู้รับ (acceptor) มักมีอาการทางจิตคล้ายผู้ชักนำ[8] นอกจากนี้ผู้ชักนำมักเข้าใจว่าตนกำลังช่วยผู้รับมากกว่าจะตระหนักว่ากำลังส่งผ่านความผิดปกติให้อีกฝ่าย

สาเหตุ แก้

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคหลงผิดร่วม แต่มีปัจจัยหลัก 2 ปัจจัยคือความเครียดและการแยกตัวจากสังคม[9]

บุคคลที่แยกตัวจากสังคมอยู่ร่วมกันมีแนวโน้มจะพึ่งพิงอีกฝ่าย ส่งผลให้ผู้ชักนำมีอิทธิพลเหนือผู้รับ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคหลงผิดร่วมมักไม่ทราบความผิดปกติเนื่องจากไม่มีบุคคลนอกคอยเตือน ด้วยเหตุนี้การรักษาโรคหลงผิดร่วมจึงใช้การแยกผู้รับจากผู้ชักนำ[10]

ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่พบในความผิดปกติทางจิต บุคคลส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหลงผิดร่วมมีพันธุกรรมที่ถูกกระตุ้นด้วยความเครียด โดยเมื่อบุคคลเกิดความเครียด ต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลที่จะเพิ่มระดับโดพามีนในสมอง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางจิต[11]

นอกเหนือจากสองปัจจัยดังกล่าว ยังมีปัจจัยด้านความสัมพันธ์ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ส่งผลให้เกิดโรคหลงผิดร่วม

การวินิจฉัย แก้

โรคหลงผิดร่วมเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก เพราะผู้ป่วยมักไม่ต้องการการรักษา เนื่องจากเมื่อรับอิทธิพลจากบุคคลเด่นในความสัมพันธ์ที่ตนเชื่อใจ ผู้รับมักไม่ตระหนักว่าเป็นความผิดปกติ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อผ่านเวลาไปนาน ความสงสัยว่าเป็นอาการหลงผิดจะยิ่งลดน้อยลง ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (DSM-5) ระบุเกณฑ์การวินิจฉัยโรคหลงผิดร่วมดังนี้[8]

  • ผู้ป่วยต้องมีอาการหลงผิดที่พัฒนาจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลที่มีอาการหลงผิดอยู่ก่อนแล้ว
  • อาการหลงผิดต้องคล้ายหรือเหมือนกับผู้ชักนำ
  • เป็นอาการหลงผิดที่ไม่สามารถอธิบายได้ดีขึ้นด้วยความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ และความผิดปกติทางอารมณ์ที่เป็นผลโดยตรงจากผลกระทบทางสรีรวิทยาของการใช้สารหรือภาวะทางการแพทย์ทั่วไป

การรักษา แก้

เนื่องจากโรคหลงผิดร่วมพบได้ยากจึงยังไม่มีระเบียบวิธีรักษาแบบมาตรฐาน การรักษามักใช้การแยกผู้ชักนำและผู้รับเพื่อสังเกตว่าอาการหลงผิดลดลงหรือหายไปหรือไม่[10] และมีการใช้ยาระงับอาการทางจิตและจิตบำบัดรายบุคคลและครอบครัวบำบัดในกรณีอาการหลงผิดยังไม่ทุเลา ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษา แต่ผู้ป่วยอาจมีอาการหลงผิดเรื้อรัง วิตกกังวล ซึมเศร้าและก้าวร้าวหากไม่ได้รับการรักษา[12]

ตัวอย่าง แก้

  • เออร์ซูลาและซาบีนา เอริกซอน ฝาแฝดชาวสวีเดนที่ใน ค.ศ. 2008 เออร์ซูลาวิ่งให้ตนเองถูกรถชนบนมอเตอร์เวย์เอ็ม 6 ในสหราชอาณาจักร ก่อนที่ซาบีนาจะทำตามโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งสองได้รับบาดเจ็บแต่รอดชีวิต หลังจากนั้นซาบีนาก่อเหตุฆาตกรรมและถูกจับกุม เธอถูกตัดสินจำคุก 5 ปีฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนา[13]
  • จูนและเจนนิเฟอร์ กิบบอนส์ หรือ "ฝาแฝดเงียบ" ทั้งสองไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและมักสื่อสารกันด้วยจินตภาษาที่รู้เฉพาะสองคน จนกระทั่งเจนนิเฟอร์เสียชีวิตใน ค.ศ. 1993 จูนจึงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ มาร์โจรี วอลเลซ นักข่าวที่ศึกษาเรื่องนี้รายงานว่าฝาแฝดตกลงกันว่า "หากใครเสียชีวิต อีกฝ่ายจะต้องเริ่มพูดและใช้ชีวิตปกติ"[14]
  • การเสียชีวิตหมู่ในบุรารี การฆ่าตัวตายหมู่ของสมาชิกครอบครัวหนึ่งในเดลี ประเทศอินเดียเมื่อ ค.ศ. 2018 ซึ่งเกิดจากบุตรชายคนเล็กของครอบครัวอ้างว่าตนถูกวิญญาณของบิดาเข้าสิงและสั่งให้ประกอบ "พิธีกรรมสู่ชีวิตที่ดีกว่า"[15]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Wells, John C. (2008), Longman Pronunciation Dictionary (3rd ed.), Longman, p. 665, ISBN 9781405881180
  2. Berrios, G. E., and I. S. Marková. 2015. "Shared Pathologies. Pp. 3–15 in Troublesome disguises: Managing challenging Disorders in Psychiatry (2nd ed.), edited by D. Bhugra and G. Malhi. London: Wiley.
  3. 3.0 3.1 Arnone D, Patel A, Tan GM (2006). "The nosological significance of Folie à Deux: a review of the literature". Annals of General Psychiatry. 5: 11. doi:10.1186/1744-859X-5-11. PMC 1559622. PMID 16895601.
  4. "Dr. Nigel Eastman in the BBC documentary 'Madness In The Fast Lane'". Documentarystorm.com. 2010-09-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-01. สืบค้นเมื่อ 2011-05-31.
  5. Al Saif, Feras; Al Khalili, Yasir. "Shared Psychotic Disorder". National Library of Medicine - National Center for Biotechnology Information. สืบค้นเมื่อ April 12, 2024.
  6. Berrios G E (1998) Folie à deux (by W W Ireland). Classic Text Nº 35. History of Psychiatry 9: 383–395
  7. Dewhurst, Kenneth; Todd, John (1956). "The psychosis of association: Folie à deux". Journal of Nervous and Mental Disease. 124 (5): 451–459. doi:10.1097/00005053-195611000-00003. PMID 13463598. S2CID 36272757.
  8. 8.0 8.1 8.2 "Shared Psychotic Disorder Symptoms - Psych Central". Psych Central (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2016-05-17. สืบค้นเมื่อ 2018-03-22.
  9. Cuncic, Arlin (February 18, 2021). "What Is Shared Psychotic Disorder?". Verywell Mind. สืบค้นเมื่อ April 12, 2024.
  10. 10.0 10.1 "Symptoms of Shared Psychotic Disorder". www.mentalhelp.net. สืบค้นเมื่อ 2018-03-22.
  11. "Stress May Trigger Mental Illness and Depression In Teens". EverydayHealth.com. สืบค้นเมื่อ 2018-03-22.
  12. "What Is a Shared Psychotic Disorder?". WebMD. May 15, 2023. สืบค้นเมื่อ April 12, 2024.
  13. McMahon, James (September 14, 2018). "The Twins Who Ran Into Traffic Before Stabbing a Man to Death". Vice. สืบค้นเมื่อ April 12, 2024.
  14. Wallace, Marjorie (2003-07-13). "Marjorie Wallace: The tragedy of the Bijani sisters". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). London. ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2020-04-09.
  15. Ojha, Arvind (June 3, 2018). "Burari deaths: Police suspects rare psychiatric disorder drove family to occult rituals". India Today. สืบค้นเมื่อ April 12, 2024.